คลองไผ่สิงโต / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

คลองไผ่สิงโต

 

ทุกวันนี้ คนในพื้นที่คงพอจะรู้จัก ซอยไผ่สิงโต ใกล้แยกรัชดา-พระราม 4 ตรงคลองเตย ซอยไผ่สิงโตจะเริ่มจากถนนพระรามที่ 4 แล้วคดเคี้ยวไปมา แยกย่อยหลายสาย ไปเชื่อมต่อกับสุขุมวิทซอย 16, 20 และ 22

ทุกวันนี้ คนที่อาศัยแผนที่ในแอพพ์ต่างๆ จะเข้าใจผิด เพราะระบุว่า ทางน้ำเล็กๆ คู่ขนาน ช่วงต้นซอยไผ่สิงโต คือ คลองไผ่สิงโต ที่มาของนามซอย

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองคลองไผ่สิงโต คลองตัวจริงที่อยู่อีกแห่งหนึ่ง ไม่ไกลกันเท่าไหร่

โชคดีว่ายังเหลือคลองอยู่บ้าง ให้คนที่ไปออกกำลังกายบนสะพานเขียว ที่เชื่อมสวนลุมพินีกับสวนเบญจสิริ ได้รับรู้และเห็นอยู่บ้าง

 

ทั้งๆ ที่คลองไผ่สิงโต เป็นคลองขุดขนาดใหญ่และยาว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราโชบายพัฒนาพื้นที่ลุ่มทางด้านตะวันออกของพระนคร ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตามแนวคิดแบบตะวันตกของกระทรวงเกษตราธิการ

ต่อเนื่องกับพื้นที่สวนหลวง บริเวณวังใหม่ ที่เดิมตั้งใจจะให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์แรกของสยาม คือ สมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯ แต่ด้วยเสด็จทิวงคต ก่อนย้ายไปประทับ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ที่ปรึกษาชาวต่างชาติ ใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านแผนที่และการเกษตร โดยเฉพาะชลประทาน

พื้นที่ทดลองดังกล่าว จึงต่อเนื่องจากวังใหม่ (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ไปทางทิศตะวันออก ตามแนวคลองตรง (คลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันคือ ถนนพระรามที่ 4) ไปจนถึงคลองเตย

เพื่อการระบายน้ำเข้าและออก และกำหนดขอบเขตพื้นที่ จึงมีการขุดคลองหลายสาย เชื่อมคลองตรงกับคลองแสนแสบที่อยู่ทางด้านเหนือ ได้แก่ คลองสวนหลวง (ใกล้ถนนบรรทัดทอง) คลองตรงถนพญาไท คลองอรชร (ปัจจุบันอยู่ใต้ถนนอังรีดูนังต์) และคลองราชดำริ (ถนนราชดำริ)

รวมทั้งคลองที่คู่ขนานกับคลองตรง ที่เริ่มจากคลองอรชร ตัดผ่านคลองราชดำริไปทางทิศตะวันออก จนถึงคลองเตย ในพื้นที่ตำบลไม้สิงโต เมื่อปี พ.ศ.2446

 

เสียดายว่า แนวคลองดังกล่าว ไม่ปรากฏแล้ว ด้วยแนวคลองที่เริ่มจากถนนอังรีดูนังต์ (คลองอรชร) ถึงถนน (คลอง) ราชดำริ ที่อยู่ในพื้นที่สภากาชาดไทยนั้น ถูกถมไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับแนวคลองจากถนนราชดำริ ถึงถนนวิทยุ ปัจจุบันกลายถนนสารสิน ที่ตรงกลางถนนมีเสาไฟฟ้าแรงสูงเรียงรายตลอดแนว จากถนนวิทยุไปจนถึงทางด่วนเฉลิมมหานคร จะเหลือเป็นเพียงทางน้ำเล็กๆ กลางชุมชนร่วมฤดีและซอยสนามคลี

จะมีเพียงแนวคลองจากทางด่วนเฉลิมมหานคร จนถึงถนนรัชดาภิเษกเท่านั้นที่ยังเหลือให้เห็นชัดเจน แม้จะมีบ้านเรือนสร้างริมน้ำอยู่บ้าง แต่โชคดีที่กรุงเทพมหานครใช้คลองเป็นพื้นที่แก้มลิง พร้อมตั้งสถานีสูบน้ำ

ส่วนสุดท้าย ที่จะไปเชื่อมกับคลองเตยนั้น คงหายไป เมื่อมีการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก เช่นเดียวกับคลองเตย ส่วนที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะถูกถมเมื่อตอนก่อสร้างท่าเรือ จนเหลือเพียงส่วนปลายคลองทางทิศเหนือ ที่ไปเชื่อมกับคลองไผ่สิงโต

เลยเป็นที่มาของความเข้าใจผิดว่า แนวคลองเตยในอดีต คือ คลองไผ่สิงโต ในปัจจุบัน

 

ทุกวันนี้ ถ้าใครไปเที่ยวเล่นสะพานเขียวลอยฟ้า ที่เชื่อมสวนลุมพินีกับสวนเบญจสิริ จะเห็นบึงเล็กที่สวยงาม มีพืชพันธุ์ไม้หลากหลาย โดยเฉพาะไม้ใหญ่ริมคลอง เป็นดั่งสวนลับแล Hidden Park และเป็นพื้นที่สีเขียวที่สวยงาม ต่อเนื่องกับสวน (เก่า) เบญจสิริ และสวน (ใหม่) โรงงานยาสูบ ส่วนจะได้กลิ่นหรือไม่ได้กลิ่นน้ำในบึง ขึ้นอยู่กับการทำงานของเจ้าหน้าที่สถานีสูบน้ำ

มองบ้านมองเมือง ขอฝากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ช่วยศึกษาแก้ไขเรื่องนามซอย และคลองให้ถูกต้อง และที่สำคัญ เก็บรักษาคลองไผ่สิงโต (ที่ยังเหลืออยู่) ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมือง

ขออย่าพัฒนาปรับปรุงให้เป็นสวนคลองช่องนนทรี ที่ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ คนก่อน ใช้งบประมาณมหาศาล ทำอะไรใหญ่โต เกะกะ วุ่นวาย เลอะเทอะ จนคลองไม่เป็นคลอง

อยากให้คลองไผ่สิงโต (ที่เหลืออยู่) เป็นคลองที่สวยงามแบบพอเพียง เช่นในปัจจุบัน •