วิช่วลคัลเจอร์/Silence : ความเงียบ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

Silence : ความเงียบ (จบ)

ในหนัง คล้ายกับผู้พันเคิร์ตซ์ ใน Apocalypse Now ตัวละครสำคัญคือฟาเรียร่าโผล่มาในตอนท้าย ก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นครูที่สอนให้ยอมเสียสละ แต่ตอนนี้กลับมาบอกว่า ทั้งหมดที่โรดิเกสได้ยินมา เช่นการประกาศเลิกเป็นคริสต์และหันมานับถือศาสนาอื่นนั้นถูกหมด และที่สอนมานั้นผิดหมด

การยอมเจ็บปวดและตายเพื่อศรัทธานั้นง่ายเกินไปสำหรับโลกที่ซับซ้อน

ที่สำคัญ หลังจากอยู่ประเทศนี้มาสิบกว่าปี เขาสรุปด้วยว่าการเผยแผ่ศาสนาในญี่ปุ่นนั้นเป็นไปไม่ได้

ฟาเรียร่าบอกพระเอกว่า การที่ศาสนิกชนในญี่ปุ่นยอมตายไม่ได้แสดงว่าเชื่อหลักธรรม พวกนี้อาจจะนับถือพระและวัตถุบูชา แต่เขาไม่ได้ตายเพื่อศาสนา แค่ทำตามที่พระบอกเท่านั้น

ในตอนแรก โรดิเกสไม่เห็นด้วย แต่คืนนั้นเขาได้เห็นชาวบ้านถูกทรมานให้ทิ้งศาสนาและขู่ว่าจะทรมานต่อไปจนตายทั้งห้าคน ถ้าเขาไม่ยอมเหยียบฟูมิ-เอะและประกาศเลิกเป็นพระ

ขณะที่ยังลังเล ก็ได้ยินเสียงพระเยซูกระซิบว่า ถ้าทรมานขนาดนั้นก็โอเค ยอมเถอะ

หนังมีภาพเยซูที่วาดโดย El Greco จ้องมองมองที่คนดู ในแววตาฉายแววโศกเศร้าและความหวัง แต่พระเอกคิดว่า แม้พระองค์จะเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แต่ทหารของโชกุนนั้นโหดจริง ถ้าร่างกายถูกทรมานมากๆ จิตใจจะแข็งแกร่งอย่างไรก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ผู้ที่เคยคิดว่าระบบโชกุนเป็นผู้ใส่ยาพิษในแผ่นดินนี้ กลายเป็นผู้ที่ยอมรับว่าญี่ปุ่นทั้งเกาะเป็นบึงที่ไม่มีทางที่จะปลูกอะไรได้ ผู้ที่เคยคิดว่า “Christ is here. I just can”t hear him.” และตั้งใจจะแผ่ศาสนาอย่างเด็ดเดี่ยว กลายเป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่า พระเจ้าจะได้ยินเสียงครวญครางของมนุษย์ในยามทุกข์ยาก

ถ้าพูดถึงการดัดแปลง อาจจะต้องกลับไปที่ต้นกำเนิดของ Silence หรือนิยายชื่อเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะเขียนโดยคนญี่ปุ่นแต่ใช้มุมมองของเยซูอิต เมื่อกลายเป็นหนัง ยังมีการดัดแปลงถึงสามขั้น นั่นคือ เป็นหนังฮอลลีวู้ดของคาทอลิกชาวอิตาเลียน-อเมริกัน ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของคาทอลิกชาวญี่ปุ่น และเกี่ยวกับมิชชันนารีชาวโปรตุเกส ในศตวรรษที่ 17

คำถามสำคัญ คือ “Are you a Christian?” ซึ่งการุปเปตั้งไว้เมื่อแรกมาถึงญี่ปุ่น และจะตอบโดยใครหรือสถาบันใดก็ไม่ได้ ต้องตอบด้วยตนเอง

ญี่ปุ่นรู้ว่าคาทอลิกเชื่อในการตายเพื่อหลักการ และหากตายหลังจากผ่านอุปสรรคหรือความเจ็บปวดอย่างมาก ก็จะได้รับการยกย่องเป็นนักบุญมรณะสักขี (matyrdom) เมื่อโชกุนฉลาดและโหดพอที่จะเอาการทิ้งศาสนามาใช้กับคนแบบนี้ การทรมานจึงได้ผล

แต่หนังไม่ได้เน้นการต่อสู้ของพระเอกหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับความล้าหลังของญี่ปุ่น หันไปเน้นปัญหาของฝ่ายมิชชันนารีเสียมากกว่า เมื่อเจ้าเมืองบอกว่า อย่ามาตายอย่างไร้ค่าในบึงสกปรกแห่งนี้ โรดิเกสจึงปฏิเสธเสียงหลง และบอกว่านี่เป็นการต่อสู้ “ในใจ” ของตนเอง

คำถามดังกล่าวจึงต้องตอบให้ได้ ก่อนจะยอมเหยียบฟูมิ-เอะ รวมทั้งหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี

จุดเด่นของ มาร์ติน สคอร์เซซี คือ แม้จะปรนเปรอผู้ดูด้วยเลือดและเต็มไปด้วยความรุนแรง แกนของหนังก็ยังเกี่ยวกับศรัทธาและความสงสัย และแม้ในหนังแก๊งสเตอร์ เขาก็ยังทำหน้าที่เหมือนมิชชันนารี เป็นที่ยอมรับกันว่ามีแก่นแกนหรือเนื้อหาสาระ เพราะให้ตัวละครเอก ไม่ว่าจะเป็นนักเลง นักบุญ นักธุรกิจ หรือนักมวย ล้วนมีขณะที่ล้มเหลวและตั้งคำถามกับหลักการของตนเองอย่างจริงจัง และคนเหล่านั้น ต่างก็พยายามดัดแปลงศาสนาให้สอดคล้องกับโลกของตน

ใน Silence เมื่อตัวเอกเป็นคาทอลิก ในโลกที่กำลังต่อต้านคริสต์อย่างหนัก ดูจะเป็นโอกาสที่จะทำแบบนั้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับฯ ดูจะ “โตขึ้น” กว่าเก่า เช่น ไม่ได้ใช้เลือดมากเกินไป และตั้งคำถามทางจิตวิญญาณอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

ในฉากสุดท้าย เมื่อโรดิเกสตายและถูกเผาตามประเพณีของญี่ปุ่น กล้องจะฝ่าทะลุไฟและโลงเข้าไป เพื่อเผยให้เห็นว่าศพของเขายังถือไม้กางเขนที่ชาวบ้านมอบให้ขณะที่เพิ่งมาถึงญี่ปุ่น รู้กันว่านี่เป็นฉากที่ผู้กำกับหนังใส่เข้าไปเอง ไม่มีในนิยาย และบอกว่าลึกๆ แล้ว เขาก็ยังเป็นคริสต์

แน่นอน ฉากนี้กำจัดความกำกวมหลายประการ หรือทำให้หนังเป็นหนังมากขึ้น ที่สำคัญ ดูจะเอาใจคาทอลิกมากไปหน่อย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าการไม่มีในนิยาย ชี้ให้เห็นบทบาทของการดัดแปลงของภาพยนตร์ พูดอีกอย่าง นอกจากจะเกี่ยวกับความเชื่อที่ตัวละครเคยยึดถือมาตลอดชีวิต ปมที่สำคัญคือ การดัดแปลงหลักการดั้งเดิม และกระทั่งการยอมทิ้งมันไปเพื่อรักษาชีวิตคน

แม้แต่การเลิกนับถือศาสนาก็อาจจะถือว่าเป็นศรัทธาแบบหนึ่ง

ในเชิงจิตวิญญาณ หนังเรื่องนี้น่าจะสะท้อนความจริงบางอย่างที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน เช่น การที่กลุ่มลัทธิและศาสนาต่างๆ ต่างถูกปรับให้มีความเข้มข้นในเชิงหลักการ และมีลักษณะสู้รบในเชิงองค์กรจัดตั้งมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้มักจะถูกขยายไปสู่การก่อสงคราม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่อการร้ายแบบ “พลีชีพ” รวมทั้งทำให้คุณค่าหลายอย่างเสื่อมถอย ไม่ว่าจะเป็นขันติธรรมหรือการเคารพในปัจเจกภาพ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ของบุคคล

ผลที่ตามมาคือ การทำให้มรณสักขีหรือ “การตายเพื่อความเชื่อ” มีความหมายในแง่ลบ และมีการตั้งคำถามกับความหมายของการตายและความเจ็บปวดทรมานแบบนี้มากขึ้น

Silence ถามว่าการยอมเสียสละเพื่อศาสนาและความเชื่อนั้น สูงส่งจริงหรือ? จะดัดแปลงหรือหลีกเลี่ยงได้ไหม?