E-DUANG : บทบาท วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สถานะ การเมือง “ผู้ว่าฯกทม.”

การเคลื่อนไหวอันเกี่ยวกับการชิงชัยในตำแหน่ง”ผู้ว่าฯกทม.”กำลังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในเรื่องของกระบวนการ”หาเสียง”

ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในเรื่องของกระบวนการในการจัดทำ”โพล”และการสำรวจความเห็นของ”ประชาชน”

แม้ว่าลักษณะ”ร่วม”ที่สำคัญก็คือ คะแนนและความนิยมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังอยู่ในลักษณะ”นำ” ไม่ว่า นายวิโรจน์ ลักข ณาอดิศร ไม่ว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ล้วนดำรงอยู่ในสถานการณ์”หายใจรดต้นคอ”อยู่ห่างๆ และยากเป็นอย่างยิ่งที่จะทะยานข้ามคะแนนและความนิยมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปได้

เว้นแต่บางสำนัก”โพล”เท่านั้นที่หาญกล้าถึงกับสะท้อนคะแนน และความนิยมของ นายสกลธี ภัททิยกุล มาเป็นอันดับ 1 ตามด้วย

คะแนน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ขณะที่คะแนนของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อยู่อันดับท้ายและยังเหนือกว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เล็กน้อย

 

ปรากฎการณ์แห่ง”โพล”ซึ่งสะท้อนผ่านในแต่ละสำนักข่าวอันผูกติดกับหลักคิดและแนวโน้มในทางการเมืองแสดงออกอย่างแจ่มชัดถึงการแบ่งขั้วแยกฝ่ายในทางความคิด

ด้านหนึ่ง เป็นสำนักคิดที่มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้นำ ด้าน หนึ่ง เป็นสำนักคิดที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้นำ

ในกลุ่มของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็จะตามมาโดย นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ นายสกลธี ภัททิยกุล และพ่วงด้วย น.ส.รสนา โตสิตระกูล

ขณะที่กล่าวสำหรับกลุ่มของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็จะตามมาห่างๆด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ น.ต.ศิธา ทิวารี

สะท้อนความขัดแย้งตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 อย่างเด่นชัด

 

มีความพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะทำให้ตำแหน่ง”ผู้ว่าฯกทม.”ลอยตัวอยู่เหนือ “การเมือง” ทั้งๆที่ภายในกระบวนการหาเสียงและ เลือกตั้งยืนยันลักษณะ”การเมือง”อย่างเด่นชัด

เป็นไปได้ว่าความพยายามนี้จะไม่มีผลและหมดความหมาย

เพราะในที่สุดแล้ว การเคลื่อนขบวนของแต่ละกลุ่มก็จะพ่วงปัญหาและความขัดแย้งในทางการเมืองตามไปด้วย

จากจุดนี้เองชื่อของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จะถูกจับตา