หนัง (บางเรื่อง) ที่น่าสนใจ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 21 : คนมองหนัง

คนมองหนัง

เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 21 โดยมูลนิธิหนังไทย เพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน

ปีนี้ผมมีโอกาสดูภาพยนตร์ที่เข้ารอบสุดท้ายไม่มากเรื่องนัก แต่เท่าที่ได้ไปนั่งชมหนังในเทศกาลครั้งนี้ประมาณสิบกว่าเรื่อง ก็พบผลงานน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง

ณ ที่นี้ จะขอเขียนถึงหนังสั้นสองเรื่องที่เข้าประกวดในสายนักศึกษา และเล่าเรื่องราวที่อิงแอบอยู่กับประเด็น “การเมือง” ทั้งคู่

เรื่องแรกคือ “Bangkok Dystopia” โดย ปฏิพล ทีฆายุวัฒน์ (สาขาภาพยนตร์และดิจิตอลมีเดีย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

หนังเล่าเรื่องราวในค่ำคืน/เช้ามืดที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557

จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อมีผู้โดยสารสองรายถูกเชิญ (ไล่) ลงจากรถเมล์ เนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึก ส่งผลให้รถเมล์สายนี้ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางที่เขาและเธอต้องการได้ทัน

ผู้โดยสารคนแรกเป็นหญิงสาวผิวเข้มตาคม อายุน่าจะราวๆ 20 ต้นๆ หรือใกล้ 20 เธอมีบุคลิก การแต่งกาย และสีหน้าแววตาที่ช่ำชองและกร้านโลกพอสมควร

พอลงจากรถเมล์ หญิงสาวพยายามโทรศัพท์เรียกให้แฟนขี่มอเตอร์ไซค์มารับ แต่เสียงจากปลายสายคล้ายจะปฏิเสธ

ผู้โดยสารคนที่สองเป็นเด็กหนุ่มที่น่าจะเพิ่งเริ่มเรียน ม.ปลาย เขามีแววตาใสซื่อบริสุทธิ์ จนคล้ายจะมีคำถามและความสงสัยใคร่รู้ต่างๆ ผุดพรายออกมาจากดวงตาคู่นั้น

เด็กหนุ่มบอกว่าเพิ่งเข้าไปติววาดรูปช่วงเย็น และพอเลิกเรียนก็ยังไม่อยากกลับบ้าน จึงเตร็ดเตร่อยู่ข้างนอกอีกสักพัก จนถูกไล่ลงจากรถเมล์ในท้ายที่สุด

หนึ่งสาวหนึ่งหนุ่ม (ที่อายุน้อยกว่า) เดินเท้าไปเรื่อยๆ จากคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงบริเวณวัดสระเกศ แต่ก็ยังหารถกลับบ้านไม่ได้ ระหว่างทางทั้งคู่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่ผกผันสุดคาดเดา

ไล่ตั้งแต่การเจอทหารชั้นผู้น้อยที่แสดงท่าทีข่มขู่เด็กหนุ่มและพูดจาไม่ดีกับหญิงสาว ขณะที่เด็กหนุ่มพยายามหาทางประนีประนอมเพื่อให้ความขัดแย้งและความเข้าใจผิดยุติลง แต่หญิงสาวกลับไม่ยอม เธอกล้าทะเลาะเบาะแว้งกับทหาร และลงท้ายด้วยการใช้มือไล่ตะปบ “ของสงวน” อันทรงอำนาจของเขา

เด็กหนุ่มเล่าให้หญิงสาวรุ่นพี่ฟังถึงปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างตนเองกับพ่อ

เด็กหนุ่มอยากเรียนศิลปะ แต่พ่ออยากให้เขาเลิกติววาดรูป และมุ่งมั่นไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร นอกจากนี้ ครอบครัวยังหันมาเคี่ยวเข็ญเขามากเป็นพิเศษ หลังจากพี่สาวคนโตพลาดพลั้งตั้งท้องตั้งแต่วัยรุ่น

ขณะที่เรื่องเล่าของฝั่งเด็กหนุ่มพรั่งพรูออกมา คนดูกลับยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหญิงสาวเพื่อนร่วมทางมากนัก

พอเดินไปถึงชุมชนใกล้ภูเขาทอง หญิงสาวก็เจอหน้าชายวัยกลางคน ที่เหมือนจะรู้จักมักคุ้นกับเธอเป็นอย่างดี (แน่นอน เขาไม่ใช่แฟนที่เธอโทร.หาตอนต้นเรื่อง)

แล้วหญิงสาวพร้อมชายคนนั้นก็เดินเข้าไปในอาคารตึกแถวเก่าๆ ของเขา ส่วนเด็กหนุ่มเลือกจะนั่งสูบบุหรี่และดูดเป๊ปซี่ถุงอยู่ภายนอก เพื่อรอให้ถึงเวลาเช้า

เมื่อได้เวลาออกเดินทางต่อ เด็กหนุ่มโผล่หน้าเข้าไปอำลาหญิงสาว ท่ามกลางภาวะกระอักกระอ่วนบางประการ

เด็กหนุ่มเดินเท้าจากมา ลัดเลาะจากตรอกซอยสู่ท้องถนน รถราเริ่มกลับมาวิ่งสัญจรเป็นปกติอีกครั้ง ขณะเดียวกันเขาก็พบเห็นร่องรอยของความสูญเสียบางอย่างปรากฏเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด

“Bangkok Dystopia” ไม่ใช่หนังการเมืองแบบชัดเจน แต่ผู้กำกับฯ คือปฏิพลเลือกนำสถานการณ์ทางการเมืองมาประกอบสร้างเป็นบริบทรายล้อมสองตัวละครนำได้อย่างพอเหมาะพอเจาะและเปี่ยมชั้นเชิง

เด็กหนุ่มและหญิงสาวในเรื่อง ต่างมีสถานะเป็นปัจเจกบุคคลที่ประสบปัญหาชีวิตจิปาถะแตกต่างกันไป ด้วยวิถีและเป้าหมายชีวิต ตลอดจนวิธีการมองโลก ที่ผิดแผกจากกัน

อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ต่างเป็นสมาชิกของครอบครัว/สังคม ที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาจากรากฐานความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมคล้ายๆ กัน และได้รับผลกระทบจาก (จุดตั้งต้นของ) ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 พร้อมๆ กัน

หนังสั้นเรื่องนี้ถือเป็นบทบันทึกว่าด้วยสังคมร่วมสมัยชิ้นเยี่ยม ที่ฉายภาพของความโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง อารมณ์เหงาๆ เศร้าๆ แบบดิบๆ เท่ๆ ของคนหนุ่มสาว

ไปพร้อมๆ กับการเผยเค้าลางของโครงสร้างทางอำนาจขนาดมหึมาที่ครอบคลุมกักขังตัวละครนำทั้งสองเอาไว้ จนมองแทบไม่เห็นอนาคตภายภาคหน้า

หนังเรื่องต่อมาคือ “พิราบ” โดย ภาษิต พร้อมนำพล (สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

นี่เป็นหนังการเมืองแบบชัดๆ ที่เล่าเรื่องราวภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยโปรดักชั่นและการออกแบบงานสร้างที่ไม่ขี้เหร่เลย

ถ้า “คอการเมือง” บางกลุ่มอาจรู้สึกว่าหนังยาวที่คว้ากล่องไปมากมายอย่าง “ดาวคะนอง” มีปัญหาในเรื่องการเลือกไม่พูดถึง “6 ตุลา” อย่างตรงๆ แรงๆ แต่เลือกจะเล่าถึงอดีตบาดแผลผ่านมโนทัศน์เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์” และ “เรื่องเล่า” ที่ทับซ้อนและยุ่งเหยิง

“พิราบ” ก็ถือเป็น “หนัง 6 ตุลา” อีกเฉดสีหนึ่ง ที่แม้จะไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตรงๆ เช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้นำพาตัวเองให้หลุดลอยข้ามพ้นไปจากบริบท “6 ตุลา” จนไกลลิบ

หากเปรียบเทียบกับหนังยาวที่มาก่อน เช่น “คนล่าจันทร์” หรือ “ดาวคะนอง” “พิราบ” ก็คล้ายจะจัดวางตัวเองให้อยู่บนสถานการณ์ก่อนหน้าการต่อสู้ในป่าและการออกจากป่าของหนังเรื่องแรก และกระบวนการผลิตความทรงจำในอีกหลายทศวรรษต่อมาโดยหนังเรื่องที่สอง

หนังสั้นเรื่องนี้เลือกจะเล่าถึงสถานการณ์หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านกระบวนการที่ค่อยๆ ผลักไสให้นักศึกษาคนหนึ่งตัดสินใจออกเดินทางเข้าไปต่อสู้ในป่า

หรืออาจสรุปความได้ว่า หนังตั้งต้นตัวเองไว้ตรงร่องรอยความสูญเสียหลังวันที่ 6 ตุลา แล้วจบตัวเองลงตรงการเดินทางไปถึงชายป่าแถบอีสานใต้ของตัวละครนำ

แม้จะเล่าเรื่องผ่านเทคนิคการตัดต่อแบบ “ไม่เรียงลำดับเวลา” แต่คนดูจะค่อยๆ ทำความเข้าใจได้เองว่า “พิราบ” นั้นกล่าวถึงตัวละครนักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถูกจับกุมในเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนที่เขาจะได้รับการประกันตัวออกมา และถูกติดตามสอดส่องพฤติกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์อึดอัดกดดัน ขณะเดียวกัน เจ้าตัวก็รู้สึกว่าตนเองเริ่มเป็นภาระให้ครอบครัว (แม่และน้องสาว) มากขึ้นเรื่อยๆ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับเขาจึงได้แก่ “การเข้าป่า”

ถ้าพิจารณาในแง่ของความเป็นหนังการเมือง “พิราบ” ก็มีเนื้อหาที่เข้มข้นจริงจัง แต่ไม่ล่อแหลมเกินไป เมื่อหนังเลือกจำกัดเนื้อหาของตนเองไว้ที่ “กระบวนการเข้าป่า” ของปัจเจกชนรายหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องเล่าในสเกลเล็กย่อยระดับนั้นจะไม่ส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อผู้ชม เพราะตอนจบอันเปิดกว้าง ไปสู่การต่อสู้ที่คนดูไม่มีโอกาสได้เห็นในจอ (ราวกับการต่อสู้หรือความขัดแย้งครั้งนั้นยังไม่ปิดฉากจบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ) กลับทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ “พิราบ” ยังมีฉากดราม่าระหว่างแม่กับลูกที่ดีมากๆ (หากเทียบกับหนังสั้น, หนังนักศึกษา แม้กระทั่งหนังใหญ่ในระบบสตูดิโอของไทยอีกหลายเรื่อง)

มีหลายองค์ประกอบที่สามารถชักจูงหนังเรื่องนี้ไปสู่ “ความเชย” หรือ “ความล้าสมัย” ได้ง่ายๆ เช่น บทสนทนาหรือเนื้อหาในเสียงบรรยายของตัวละครนำ

แต่ด้วยความจริงจังจริงใจในการนำเสนอ และการเก็บรายละเอียดบางด้านได้อย่างน่าทึ่ง (นี่น่าจะเป็นหนังไทยที่พยายามพูดถึงขั้นตอนและวิธีการ “การเดินทางจากเมืองเข้าสู่ป่า” อย่างจริงจังและละเอียดลออที่สุด)

“พิราบ” จึงมีศักยภาพสูงพอ ที่จะทำให้คนดูเชื่อและเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดตัวละครนำต้องเลือกทางเดินชีวิตเช่นนั้น ณ ช่วงเวลานั้น

หมายเหตุ

“Bangkok Dystopia” ได้รับรางวัล “ช้างเผือก” (รางวัลชนะเลิศสายหนังสั้นนักศึกษา) จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 21

ส่วน “พิราบ” ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรชมเชย สายหนังสั้นนักศึกษา และรางวัล “พิราบขาว” โดย มูลนิธิ 14 ตุลา