สวนสนุกของพลเมือง ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สวนสนุกของพลเมือง

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483

 

สําหรับความทรงจำของเด็กชายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์

เขาเคยเล่าไว้ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญ คืองานประจำปีที่สร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆ สมัยนั้นมาก

(สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2527, 235)

ความสนุกสนานในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ความสนุกของร้านต่างๆ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483 ถูกบันทึกไว้ในพลนิกรกิมหงวนว่า

“ร้านข้าราชการในพระองค์ สร้างเป็นพระบรมมหาราชวังจำลองงดงามที่สุดในงานนี้ เป็นที่สะดุดตามาก ประตูวังและกำแพงทำย่อส่วนคล้ายกับของจริง มีกระดาษป้ายเชิญชวนให้ผู้มาเที่ยว ได้เข้าไปหาความเพลิดเพลินจากการเล่นยิงเป้า ขับรถยนต์วิบาก และปาฟันหน้าอ้าย มร.ปาวี”

สำหรับเกมฟันหัว มร.ปาวีนั้น ป.อินทรปาลิตบันทึกวิธีเล่นว่า ทางสำนักพระราชวังสร้างหุ่นขึ้นตัวหนึ่งขนาดเกือบเท่าคนจริงๆ แต่งกายแบบสากลนั่งอยู่บนเก้าอี้ในสนามหญ้า มีปี๊บคลุมศีรษะ ที่ฝาปี๊บเขาเขียนเป็นหน้า มร.ปาวี ผู้สวมแว่นตานักบินสีดำ เล่นยืนห่างหุ่นราว 10 ก้าวแล้วใช้ขวานไม้เป็นอาวุธ เจ้าหน้าที่ได้จับตัวผู้ฟันให้หมุนรอบตัวเอง แล้วให้ผู้เล่นเดินไปฟันหุ่น

ความสนุกอยู่ที่ผู้ฟันเดินอย่างสับสน หรือฟันดินฟันขาตัวเอง

ส่วนที่ร้านกองทัพอากาศมีการเล่นทิ้งระเบิดในอินโดจีนด้วยเครื่องบินมาร์ติน และการยิงเครื่องบินข้าศึก

ป.อินทรปาลิตบันทึกว่า

“วิธีเล่นยิงเครื่องบิน เขาทำเป็นรูปที่นั่งไว้ 4 ที่ ที่หนึ่งนั่งได้ 1 คน มีเครื่องบังคับคล้ายกับเครื่องบินจริงๆ มีเครื่องบินลำเล็กๆ ลำหนึ่งอยู่ข้างหน้าผู้ยิง บังคับให้สูงต่ำหรือตะแคงเลี้ยวได้ เวลายิงเขาใส่ลูกปืนไว้ที่หัวเครื่องบินลำนั้น มีเครื่องเล็งจำลองประกอบ เป้าที่ยิงนั้นคือหมู่เครื่องบินลำเล็กๆ แล่นเคลื่อนขบวนไปช้าๆ อยู่ห่างผู้ยิงประมาณ 8 เมตร ถ้ายิงถูกก็จะได้รับรางวัล หรือของชำร่วยตอบแทน”

ร้านค้าของสำนักพระราชวังมีป้ายมีเกมส์ฟันหัว มร.ปาวี เครดิตภาพ : สำนักพิมพ์ต้นฉบับ

รถไฟเล็ก ดาราในงานรื่นเริง

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เล่าว่า สมัยเขายังเด็ก เตี่ยพาเขาไปเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ กิจกรรมในงานสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆ สมัยนั้นมาก ที่ได้เล่นของเล่นที่ทันสมัย เช่น การนั่งรถแข่งในสนาม นั่งรถไฟเล็กที่วิ่งลอดถ้ำจำลองถ้ำขุนตาล เมื่อรถไฟวิ่งลอดถ้ำมืดมิดสร้างความสนุกสนาน มีกิจกรรมสอยต้นกัลปพฤกษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2527, 235)

ราว 21.00 น. คนมาเที่ยวงานยังคงแน่น ดังที่ ป.อินทรปาลิตบันทึกว่า “ยิ่งดึกคนยิ่งแน่น สุภาพบุรุษหลายคนหน้าตาแดงก่ำเดินโซเซ บางคนก็แก่ดีกรีมากหน่อย ถึงกับไม่รู้ภาษาไทยน่ะเขาพูดกันอย่างไร และยิ่งไปกว่านั้น ตัวของตัวเองเป็นใครก็ไม่รู้เหมือนกัน”

เขาเล่าว่า “สนามเสือป่าดินแดนที่ว่างเปล่าได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นเมืองสวรรค์ องค์การและห้างร้านต่างๆ ตบแต่งร้านอย่างวิจิตร ร้านกรมสาธารณสุขอยู่ตรงกับประตูพระบรมรูปฯ วนโดยรอบสนามจากซ้ายไปขวา จะเห็นร้านใหญ่ๆ หลายร้าน ร.พัน 3 ตบแต่งร้านเป็นวิมานเทวดาจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม มียิงเป้าแข่งขันชิงรางวัล ต่อไปก็ถึงร้านกรมรถไฟตบแต่งร้านเป็นสถานีน้อยๆ มีห้องขายตั๋ว มีชานชาลา มีนายสถานีและพนักงาน รถไฟ 3 ขบวนแน่นขนัดด้วยประชาชน นั่งเล่นสนุกๆ บ้างนั่งเล่นโก้ๆ บ้าง ตามอัธยาศัย”

บรรยากาศร้านค้าในยามค่ำคืนในงานปี 2483

สำหรับรถไฟเล็กเที่ยวชมงานปีนี้ กรมรถไฟเพิ่มรถไฟเป็น 4 ขบวน มีลักษณะดังที่ได้โฆษณาไว้ว่า รถจักรขึ้นใหม่ในลักษณะ “เพรียวลมสมสมัยนิยม” ขยายความยาวรางออกไปอีก 1 เท่า เพิ่มความยาวและความมืดของถ้ำ ซึ่งเป็นที่สบอารมณ์ของ “ผู้โดยสารทุกวัย” มีเส้นทางวกเวียนเข้าไปในเขาดินวนาทะลุข้ามลานพระบรมรูปทรงม้าไปสู่สวนอัมพรแล้วย้อนกลับอ้อมมาบรรจบครบรอบที่สถานีราชธานีในเขาดินวนา ปีนี้ในสวนอัมพรเพิ่มสถานีย่อยอีกแห่ง คือ สถานีลีลาศสถาน มีการสร้างถ้ำ สถานี สะพานมากขึ้นกว่าเดิม (กรมรถไฟ, 2483)

สามเกลอเดินเที่ยวงานตั้งแต่หัวค่ำจนถึงดึก พวกเขาพบรถไฟเล็กของร้านกรมรถไฟมีผู้คนเข้าแถวต่อกันแน่นขนัด

“23.00 น. บนสถานีรถไฟเล็ก ประชาชนแน่นขนัด เบียดเสียดเยียดยัดกันซื้อตั๋วรถไฟ ทุบกันบ้าง ถองกันบ้าง ลงศอกกันบ้าง เหยียบเท้ากันบ้าง ยิ่งกว่าซื้อตั๋วเฉลิมกรุงโปรแกรมพิเศษ เช่น ทาร์ซานหรือคิงคอง”

ความแน่นขนัดของผู้คนที่อยากโดยสารรถไฟเล็กเที่ยวชมงานนั้น ป.อินทรปาลิตแนะนำว่า ปีหน้ากรมรถไฟควรจัดขบวนรถให้มี 5-6 ขบวน ทั้งๆ ที่ปีนี้ กรมรถไฟจัดถึง 4 ขบวน ปี 2482 มี 1 หรือ 2 ขบวน

“เสียงหวูดรถไฟดังลั่น ขบวนรถไฟสีเหลืองแล่นตรงเข้ามาที่ชานชาลา รถพ่วงทุกๆ คันมีผู้โดยสารแน่นเอี๊ยด นั่งกันแถวละ 4 คนบ้าง 5 คนบ้าง บางคนถึงกับยืน” ผู้โดยสารที่ยืนรอบนชานชาลาเริ่มส่งเสียงจ้อกแจ้กจอแจเหมือนโรงหนังเฉลิมกรุง ตอนที่หนังรอบ 1 ทุ่มเลิก และผู้ดูรอบ 3 ทุ่มครึ่ง เริ่มรวมตัวกันจะเข้าโรง เมื่อรถไฟหยุดเทียบชานชาลา

รถไฟเล็กวิ่งบริการประชาชนรอบงานแถบสวนอัมพรและเขาดินวนา 2483 เครดิตภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

ป.อินทรปาลิตบันทึกเหตุการณ์ที่ชานชาลารถไฟตามแบบของเขาว่า “สุภาพบุรุษ สุภาพสตรีกลายเป็นพวกเคาบอย ลืมวัฒนธรรมไปชั่วขณะ เพราะถ้าใครมีวัฒนธรรมสูงก็หมายความว่า ยืนอยู่จนสว่างก็ไม่ได้ขึ้นรถ ความโกลาหลอลหม่านบังเกิดขึ้นทุกที ผู้ที่อยู่ในรถยังไม่ทันลงรถ คนที่ยืนอยู่บนชานชาลาก็เฮโลขึ้นรถ มีการทุบกันบ้าง ถองกันบ้าง ลงศอก ตีเข่า ผลักกัน เหยียบเท้ากัน ผู้หญิงร้องวี้ดว้าย เด็กร้องไห้ยุ่งกันไปหมด จนไม่รู้ใครเป็นใคร ตอนนี้ให้นักประพันธ์อีก 20 คนช่วยเขียนก็บรรยายไม่ถูก”

จากนั้น “ขบวนรถไฟเล็กวิ่งผ่านหลังร้าน ร.พัน 3 ออกถนนหน้าลานพระบรมรูปฯ ข้ามฝากตัดตรงเข้าสวนอัมพรมองแลเห็นร้านสภากาชาด ร้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเวทีประกวดนางงามซึ่งอยู่ในนั้น ตามต้นไม้ประดับประดาด้วยโคมไฟสีต่างๆ ห้อยระย้าและระยับ เวทีลีลาศเต็มไปด้วยนักลีลาศทั้งหลาย… รถไฟวิ่งผ่านข้างเวทีนางงามด้านตรงข้ามวังปารุสก์ แล่นเลาะเลี้ยวไปตามกำแพงและเลี้ยวขวา มองเห็นเวทีประกวดอย่างชัดเจน เขาสร้างเป็นฉากชายทะเลงดงามมาก”

“รถไฟเล็กข้ามถนนหน้าลานพระบรมรูปฯ เข้าถนนเสือป่าอีกครั้ง เลี้ยวซ้ายไปตามรั้วลวดหนามด้านข้างสภาผู้แทนราษฎร… รถไฟเล็กพาผู้โดยสารลอดเข้าไปในปากถ้ำจำลอง รถพ่วงทุกคันมีโคมไฟติดอยู่ข้างๆ…เสียงหวีดว้าย เสียงตุ้บตั้บดังระคนไปกับล้อรถไฟ ผู้หญิงหลายคนถูกละเมิดอธิปไตยแล้ว ข้าศึกโจมตีแก้มและริมฝีปาก ที่เป็นคู่รักกันก็ไม่เอะอะอะไร ที่ไม่ได้เป็นคู่รักกันก็มีเสียงเจี๊ยวจ๊าวตอบแทนผู้รุกรานด้วยฝ่ามือหรือกำปั้น บางคนขี้อายหน่อยก็นั่งเฉยปล่อยเลยตามเลย…เมื่อขบวนรถไฟพ้นปากถ้ำ ผู้โดยสารมีหน้าที่แตกต่างกัน บางคนยิ้มแหยๆ บางคนยิ้มสดชื่น บางคนหน้างอเหมือนม้าหมากรุก”

จากนั้น รถไฟวิ่งรับส่งตามสถานีย่อย วิ่งผ่านป่าสน ผ่านกองบำรุงทางรถไฟเล็ก ข้ามสะพาน ข้ามสระน้ำ มาตามถนนซอยริมสระ สักครู่ขบวนรถเข้าเขตงานอีกครั้ง เห็นร้านค้าด้านซ้ายมือเรียงรายกันไป ไม่นานถึงร้านกองทัพอากาศและกองทัพเรือ ร้านของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เลี้ยวขวาตัดตรงไปยังสถานีต้นทาง

ขบวนรถไฟแล่นผ่านป่าสน ผ่านกองบำรุงทางรถไฟเล็ก ข้ามสะพานสระน้ำ มาตามถนนซอยริมสระ มุ่งตรงเข้าสู่เขตของงาน มองเห็นร้านรวงอยู่ตามซ้ายมือเรียงกันไป ผ่านร้านกองทัพอากาศ กองทัพเรือ ร้านกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เลี้ยวขวาตัดตรงไปสถานีปลายทาง (ป.อินทรปาลิต, 2483)

งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริง ความสนุกสนานระดับชาติของพลเมือง เป็นงานสำคัญยิ่งของไทยสมัยเริ่มแรกประชาธิปไตยที่ทุกคนร่วมกันเฉลิมฉลองเสรีภาพและความเสมอภาคและยืนยันถึงความสำคัญของประชาชนที่เป็นศูนย์กลางของการปกครองนี้

ไฮไลต์ของงานในสามเกลอตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ 2483 เครดิตภาพ Sakchai Limonado Phanawat
บรรยากาศยามค่ำคืน ที่สระน้ำสวนอัมพร