ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์กับ ‘วัคซีน’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

คํ่าวานนี้มีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกันสองสามคนแวะมาหาผมที่บ้านเพื่อมารดน้ำขอพรในเทศกาลสงกรานต์ตามประเพณีไทย เมื่ออวยชัยให้พรกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่างคนต่างไม่มีธุระต้องรีบร้อนไปไหน การสนทนาจึงหยุดยาวเรื่อยไปจนถึงห้าทุ่มครึ่งจึงแยกย้ายจากกัน

เนื่องจากผู้ที่ตั้งวงสนทนากันเมื่อวานนี้เป็นคุณหมอถึงสองคน เรื่องที่คุยกันจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งหมายความรวมถึงเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยอย่างแน่นอน

เราขึ้นต้นเรื่องด้วยตัวเลขสถิติแบบนักวิชาการเต็มที่ มีการค้นข้อมูลมาคุยกันแบบเป็นหลักเป็นฐานว่าตั้งแต่ต้นปีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ป็นต้นมาจนถึงวันที่ 31 มีนาคมปีนี้ เป็นเวลาสามเดือนบริบูรณ์ มีคนไทยเราที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์เสียชีวิตด้วยโรคโควิดเป็นจำนวน 2,701 คน ตัวเลขนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

นั่นหมายความว่าคนแก่อย่างผมมีโอกาสตายเพราะโรคโควิดมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปีโขอยู่เชียวครับ

มาดูต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียวมากถึง 1,589 คน หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 59 และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่หนึ่งเข็มเป็นจำนวน 205 คน หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 8

รวมตัวเลขสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกันแปลว่าผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปและถึงแก่กรรมด้วยโรคโควิดมีจำนวนมากถึงร้อยละ 67 เป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดเพียงแค่เข็มเดียว

เราหยุดเรื่องตัวเลขไว้แค่นี้ก่อนครับ การสนทนาวงเล็กของเราเมื่อคืนอภิปรายต่อเนื่องไปและได้ข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคนี้ได้ แต่มีผลอย่างเป็นนัยยะสำคัญที่ทำให้อาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงถึงขนาดจะตายได้แบบง่ายดาย

ก็ต้องสู้กันหน่อยล่ะครับ

ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนสองเข็มสามเข็มหรือสี่เข็มขึ้นไปอัตราการตายก็ลดน้อยถอยลงโดยลำดับ รวมทั้งต้องคำนึงว่าผู้ตายจำนวนไม่น้อยมีความเปราะบางในประเด็นอื่น เช่น มีโรคประจำตัวร้ายแรงและไม่ร้ายแรงต่างๆ รวมถึงอายุอานามที่ล่วงเข้าวัยชราหนักหนาแล้วประกอบกันด้วย

หัวใจของการพูดคุยกันอยู่ตรงที่ว่า จนถึงทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและเสี่ยงอันตรายมาก

จะผิดถูกอย่างไรเราไม่แน่ใจนัก แต่เท่าที่แลกเปลี่ยนความเห็นกันเมื่อคืนนี้ การที่พี่น้องประชาชนไม่ยอมฉีดวัคซีนดูเหมือนจะมีสาเหตุสำคัญอยู่สองสามอย่าง

อย่างแรกคือ เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายจากการฉีดวัคซีน จะกลายเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์บ้าง หรือเกิดผลข้างเคียงถึงล้มตายไปเลยทีเดียว

คงจำกันได้ดีนะครับว่าเมื่อแรกเริ่มระดมฉีดวัคซีน ข่าวอย่างนี้หนาหูมาก แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งปีมาถึงเวลานี้ ข่าวนี้ก็ซาลงไป แต่ความทรงจำฝังใจยังอยู่ที่เดิม

น่าเสียดายที่ไม่เคยมีการวิเคราะห์และพูดจาเป็นหลักเป็นฐานว่า ผลข้างเคียงด้านลบที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนมีอัตราร้อยละเท่าไหร่ เมื่อนับจากผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด และเมื่อเทียบกับอัตราการตายหรือความเสี่ยงของผู้ที่มารับวัคซีนที่เราสะสมตัวเลขมาได้ถึงปัจจุบัน อะไรมากน้อยกว่ากันแค่ไหน

สาเหตุข้อที่สองของคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง เนื่องจากความเชื่อมั่นศรัทธาในวิธีการต่างๆ ที่แพร่สะพัดในแวดวงความเชื่อของคนไทยว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ เช่น ให้กินยาอย่างโน้น ทำตัวอย่างนี้ ความเชื่ออย่างนี้ฝังลึกในใจของหลายคนเหมือนกัน

เหตุประการที่สามน่าจะเนื่องมาจากความสับสนในข้อมูลข่าวสารและการบริหารนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐที่อยู่ในฉายาน่าระแวงสงสัยจากคนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อของวัคซีนที่ซื้อมาจากประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว ทำให้ดูเหมือนเราถูกมัดมือชกหรือเป็นหนูทดลอง การอธิบายข้อดีข้อเสียซึ่งแม้ในหมู่คุณหมอก็ยังพูดไม่เหมือนกัน การเข้าถึงวัคซีนในช่วงแรกก็ดูยากเย็นแสนเข็ญเกินความสามารถของมนุษย์ธรรมดา อะไรประมาณนี้

ก่อนแยกย้ายจากกัน ตอนใกล้ห้าทุ่ม เนื้อหาการพูดคุยของเราคืบคลานไปยังประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือเราตั้งประเด็นว่า พี่น้องชาวไทยของเราจำนวนไม่น้อยยังมีความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ความเชื่อในเรื่องโชคลางก็ดี สาย “มู” อย่างที่พูดกันหนาหูก็ดี การบูชาสักการะหมูหกขา หมาสองหัว หรือเลขเด็ดจากอาจารย์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการแทงหวย ซื้อล็อตเตอรี่ก็ดี จัดอยู่ในกลุ่มความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกันทั้งสิ้นครับ

เมื่อคืนเราเถียงกันน่าดูว่าอะไรคือความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์และไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ได้ข้อสรุปว่า “ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์” นั้นไม่เกี่ยวกับ “ความรู้ทางวิทยาศาสตร์” ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา หรืออื่นใดทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น มนุษย์เช่นผมซึ่งไม่มีความรู้กระดิกหูเลยในทั้งสามสี่วิชาที่ออกชื่อมาเมื่อกี้ แม้อ่อนด้อยในเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็สามารถมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้

เราสี่คนเมื่อคืนสรุปเห็นพ้องกันว่า ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ คือ วิธีคิดที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ และเกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังพิจารณาไว้ให้ได้ครบถ้วนหรือมากที่สุด แล้วนำมาวิเคราะห์ หาคำอธิบาย และแสวงหาคำตอบด้วยเหตุผลอย่างวิญญูชน

รวมไปถึงการยอมรับความจริงด้วยว่า ถ้าในวันข้างหน้าข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น ข้อเท็จจริงเดิมถูกหักล้าง หรือมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้นเพิ่มเติม เราก็จะเปิดใจกว้างยอมรับความจริงที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และอาจนำไปสู่การวิเคราะห์จำแนกแยกแยะหรือได้คำตอบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

โดยไม่รู้สึกเสียหน้า หรือเสียเกียรติยศเกียรติศักดิ์แต่อย่างใด

ตามนิยามอย่างนี้น้องคนหนึ่งที่อยู่ในวงสนทนาจึงบอกว่า มองในมุมนี้แล้ว ผมก็เป็นคนที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ใช้ได้เลยทีเดียว

เพราะผมเป็นคนที่เปลี่ยนความคิดได้ง่ายมาก ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปอย่างมีความหมายสำคัญต่อเรื่องที่กำลังต้องคิดหรือตัดสินใจ

ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้สำคัญสำหรับทำการงานทุกเรื่องทุกอาชีพ ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ยิ่งมีความสำคัญจำเป็น การแก้ปัญหาของประเทศต้องใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เน้นพิธีกรรมครับ

ส่วนนั้นจะทำบ้างพอหอมปากหอมคอก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าถือเป็นแก่นสารสำคัญสูงสุดนะเออ

ย้อนกลับไปที่เรื่องการฉีดวัคซีนของผู้สูงอายุอีกครั้ง

การกลับไปเปลี่ยนวิธีคิดของท่านผู้ใหญ่เรานั้นให้อาศัยเหตุผลหรือวิธีคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่เราว่ากันมานี่ก็เห็นจะไม่ทันแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรละความพยายาม ภาครัฐ บุคลากรทางสาธารณสุข สื่อมวลชน หรือแม้แต่คนธรรมดาอย่างผม อย่างท่านผู้อ่าน ก็ยังต้องช่วยกันอธิบายให้ท่านที่เชื่อแบบดั้งเดิมว่าการฉีดวัคซีนเป็นอันตรายอย่างแน่นอนก็ดี ฉีดไปแล้วก็ยังตายได้แล้วจะฉีดทำไมก็ดี กินยาฟ้าทะลายโจรสักกำมือหนึ่งอย่างไรก็รอดตายแน่ก็ดี

ให้ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นได้เห็นประเด็นที่คนแก่ (คือผม) และคนวัยทำงานอีกสามคนพูดคุยกันเมื่อค่ำวานนี้ เผื่อท่านจะเปลี่ยนใจ หวนคิดแบบวิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้าง

เอาแค่นี้ก็พอครับ ไม่ต้องวิทยาศาสตร์ไปไกลถึงขนาดเป็นทายาทอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อะไรโน่น

ทายาทระดับนั้นมีคนสองคนพอแล้วครับ แหะ แหะ