อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (24)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (24)

 

กอไผ่

เมื่อยังเด็ก ราวสี่ห้าขวบ จำได้ว่าฉันไปวัดกับแม่ทุกวันพระ แม่กับน้าๆ น้องของแม่และป้าๆ เพื่อนบ้าน จะไปทำบุญถือศีลกันที่วัดในวันพระ วันอื่นๆ ก็ใส่บาตรหน้าบ้าน

ระยะนั้นและต่อๆ มาอีกหลายปี ฉันรู้ว่าอำเภอเรามีวัดที่เราคุ้นเคยอยู่สามวัด วัดหลวงอยู่ใกล้ ข้างอำเภอที่อยู่หลังบ้านเรานี่เอง วัดเขาน้อยไกลหน่อย เป็นภูเขาลูกเล็กๆ ไม่ค่อยได้ไป อีกวัดคือวัดเกาะ ไกลพอๆ กับวัดเขาน้อยหรืออาจไกลกว่า

พวกแม่ชอบไปทำบุญกันที่วัดนี้ เพราะว่าอยู่ไกล คนทำบุญน้อย วัดก็ยังขาดแคลนอยู่มาก ท่านพระครู เจ้าอาวาสก็เลยคุ้นเคยกับพวกแม่ จนเดี๋ยวนี้ฉันยังจำหน้าท่านได้

หลังจากฉันมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เมื่ออายุ 12-13 แล้วก็ไม่ได้ไปวัดกับแม่อีก ท่านพระครูเหมถามแม่ว่า-เด็กคนขายาวๆ นั่นหายไปไหน ทำไมไม่มาวัดอีกเลย…

นี่มันนอกเรื่องไปอีกแล้ว ฉันไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องวัด

คนตัดไผ่จากภูเขา ลากลำไผ่ลงมาด้วยวิธีที่น่าทึ่ง บรรยายยาก

แต่จะเล่าว่าทางไปวัดนั้นมันไกลพอสมควร ต้องเดินจากตลาดนอกบ้านเราไปตลาดในแล้วจากตลาดในก็มีถนนซอยแยกไปอีกไกลพอสมควรจึงจะถึงวัด

ถนนนี้เป็นดินลูกรัง หน้าฝนก็เฉอะแฉะ บางทีแม่ต้องขอให้พ่อนำรถมารับ รถของพ่อคือรถบรรทุกสี่ล้อเล็ก สมัยนั้นยังไม่มีรถหกล้อเลย รถสี่ล้อหัวสีแดงของพ่อดูเหมือนจะเป็นรถฟาโก้ สะกดยังไงฉันจำไม่ได้หรอก กับรถดอดจ์อีกคันสีเขียวทหาร

ฉันชอบนั่งรถฟาโก้ เพราะที่นั่งแถวเดียวที่มีนั้นมันกว้างออกมามากกว่าตัวรถที่มีหลังคา ที่นั่งซ้ายขวาอยู่นอกหลังคา ตรงนี้แหละนั่งแล้วสนุกดี ลมก็แรง เห็นอะไรก็มาก

แต่ถ้ารถบรรทุกของพ่อไม่ว่าง พวกเราก็เดินย่ำโคลนไป บางทีลื่นบนขอนไม้หกล้มกระโปรงเปื้อนโคลนก็ต้องเอาเสื้อผ้าเตรียมไปเปลี่ยนด้วย

แต่ถ้าไม่ใช่หน้าฝนก็ไม่เป็นไร เดินไปเรื่อยๆ คอยมองดูนก วิ่งไล่จับนกไปตลอดทาง

แต่ระหว่างนั้น มีกอไผ่มากมายตลอดสองข้างทางที่เมื่อต้องลมพัด ผ่านแล้วก็จะได้ยินเสียงออดแอดๆ ของลำไผ่ที่เสียดสีกันอยู่ไม่หยุดหย่อน

ตอนนั้นจะรู้สึกอย่างไรกับกอไผ่ก็ไม่รู้สึกหรอก

แต่จนเดี๋ยวนี้ เจ็ดสิบปีแล้ว จึงได้รู้ว่า เรายังนึกถึงจดจำเสียงออดแอดๆ นั้นได้อย่างชัดเจน รวมทั้งภาพกอไผ่สองข้างทาง ถนนแฉะๆ และบรรยากาศแวดล้อมทั้งหมดนั้นด้วย

ดอกไผ่มุมต่างๆ

และก็อาจเพราะภาพจำกับเสียงออดแอดๆ ที่ยังคงได้ยินอยู่ทุกครั้งที่นึกถึงนี้เองก็ได้ เวลานี้ ฉันจึงมีกอไผ่เรียงรายตลอดแนวเขตที่ดินทั้งสามด้าน เหนือ ใต้ ตะวันตก เว้นตะวันออกซึ่งเป็นแนวไหล่เขาหลังบ้านและมีไผ่รวกบนเขามากมายเต็มภูเขา

ทุกปี จะมีชาวบ้านไปตัดไผ่บนภูเขาหลังบ้านนี้ปีละหนสองหน ครั้งแรกๆ ที่มาอยู่ที่นี่แล้วได้ยินเสียงตัดไม้ก็คอยดู เขาตัดเสร็จแล้วก็จะมัดแล้วลากลงมาทีละมัดใหญ่ๆ เขามีวิธีมัดเป็นมัดใหญ่แล้วดึงโคนมันออกมาจำนวนหนึ่ง ใช้โคนที่ยื่นยาวพวกนี้ใส่บ่าแบกลากทั้งมัดใหญ่ลงมา

ดูเขาตัดไม้หลายหน ลงมาแวะกินน้ำท่ากันบ้าง เก็บผักหวานบนเขามาฝากเราในหน้าร้อนบ้าง สักพักก็คุ้นเคย เราก็หาความรู้จากเขา ได้ความว่าไม้ไผ่เหล่านี้ตัดไปขาย คนรับซื้อจะขายส่งต่อให้พ่อค้าส่งออก ส่งไปญี่ปุ่น! ไผ่ที่ตัดเขาต้องเลือกที่พอดีๆ คือแก่อ่อนกำลังดี แก่ไปจะผุง่าย อ่อนเกินไปจะไม่แข็งแรง ต้องเลือกให้พอดีทั้งคุณสมบัติและรูปสมบัติคือขนาดสั้นยาวกำลังดีเท่าๆ กัน

แล้วที่น่าทึ่งที่สุดคือ…ไม้ไผ่รวกเมืองกาญจน์นี้เป็นไม้ไผ่รวกที่คุณภาพดีที่สุดในโลก!

เมื่อปลูกไผ่ไปได้สักพักหนึ่ง ถึงเวลานี้มันจะแตกยอด เห็นยอดมันแล้วตกใจ มันทะลึ่งพรวดๆ ขึ้นไปสูงเป็นสองเท่าของกอ คิดคำนวณในใจว่าปีนี้สูงขึ้นหนึ่งเท่า ปีหน้าอีกเป็นสองเท่าแล้วปีต่อๆ ไปจะเป็นยังไงล่ะ คิดแล้วหวาดเสียว

ไปๆ มาๆ จนถึงบัดนี้ 6-7 ปีแล้วมันก็ยังคงสูงขึ้น ไม่มากมายอะไร โง่มาก่อนฉลาดอย่างที่พวกแม่ๆ เขาพูดกันจริงๆ

ใบไม้สีเขียวถ่ายใกล้ๆ

แล้วก็มาถึงหน้าแล้ง แล้งแรกหลังปลูกไผ่รอบที่ดิน มันแล้งจริงๆ ทั้งร้อนทั้งแล้ง กอไผ่เขียวชอุ่มยาวเป็นพืดตลอดแนวเขตที่ดินทุกด้านมันกลายเป็นสีใบไม้แห้งร่วงทับถมกองเป็นแนวยาวท่วมทั้งถนน ปลิวไปท่วมทั้งพื้นที่ว่างตามลานดิน มันจะตายไหมเนี่ย แล้งขนาดนี้…ไม่หรอก ไม่ตายหรอก… ทั้งนายจักรทั้งคนงานช่วยนายจักรยืนยัน

กอไผ่ยืนแห้งแหง๋แก๋ ทิ้งใบท่วมดินมาพักหนึ่ง ฝนก็มา

โอ้โฮ มันเหลือเชื่อ ฝนมาหนเดียว หนเดียวเท่านั้น ที่แห้งแล้งจนน่ากลัวมันกลับเขียวสว่างสดใสแทบจะทันที ทำไมมันแตกใบเร็วอย่างนี้ …นายจักรปล่อยให้ฉันสงสัยอยู่หลายที คงจะรำคาญเลยอธิบาย

ตามข้อลำไผ่มันมียอดอ่อนๆ เขียวๆ ซุกอยู่ มีใบหรือเปลือกแห้งๆ หุ้มทับไว้ พอฝนมาพวกเปลือกแห้งๆ ตามข้อมันสลัดตัวทิ้ง ยอดข้างในเขียวอ่อนๆ ก็โผล่ออกมา มันเลยดูเหมือนเขียวทันที

เออ…อย่างนี้เอง ธรรมชาติหนอธรรมชาติ ธรรมชาติของใบไผ่ ธรรมชาติของอะไรต่างๆ ช่างฉลาดเฉลียวเกินสติปัญญาของคนยิ่งนัก

ยัง เรื่องกอไผ่ยังไม่จบ กอไผ่เมื่อมันโตมาก ตัดหน่อไปกินไม่ทัน กอมันก็ใหญ่ออกจนรก ไม่กี่ปีลำที่แก่ก็แห้งดำอยู่ในกอ เอาออกไม่ง่ายถ้ามันอยู่กลางๆ กอ ต้องปล่อยให้มันแห้งจนผุหักได้ง่ายหรือหักไปเองแล้ว ตรงที่เป็นรากของลำแก่นั้นก็จะสามารถแตกเป็นหน่อใหม่ขึ้นมาได้อีก วนเวียนไปเรื่อยๆ จนหมดอายุของไผ่กอนั้น

ก่อนจะหมดอายุ ไผ่ทั้งกอจะออกดอก ก้านดอกยาวเรียวมีดอกตามข้อทุกข้อของก้าน รูปร่างเหมือนเม็ดข้าวมีเปลือกหุ้ม ดอกแก่แห้ง ร่วงหมดแล้วก็จบอายุไขของไผ่ทั้งกอ ทุกกอจะไม่มีหน่อใหม่อีก แต่เม็ดจากดอกแก่ที่ร่วงหล่นลงพื้นจะแตกยอดเป็นลำกอใหม่ต่อไป

อยู่แก่งเสี้ยนมา 10 ปี จึงได้เห็นดอกไผ่รวกเป็นครั้งแรก

กอไผ่ในแวดล้อมเขียว