อภิญญ ตะวันออก : แด่หนุ่มสาว (14) : IRF-เดอะ แคมโบเดีย เดลี

ฉันอดสำรวจความคิดบางอย่างที่ค้างคาใจในบทบาทของ “เดลี” หนังสือพิมพ์หรือกาแซต/gazette ที่ชาวเขมรเรียกกันว่า ตลอดเวลาเกือบ 25 ปีที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ดำรงอยู่มีที่มาเยี่ยงใด ทำไมจึงประสบชะตากรรมเยี่ยงนั้นได้

คือการที่ถูกกล่าวหาว่าติดค้างชำระภาษีที่รัฐบาลเขมรทวงเป็นเงินถึงกว่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จนตื่นตระหนกกันทั้งวงการ สำหรับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของกัมพูชา ที่ต้องมีอันปิดตัวชั่วคราว/หรือถาวร (?) เช่นนี้

พลัน ฉันก็ค้นพบปริศนาเหตุที่มาของการถือกำเนิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

 

เดอะ แคมโบเดีย เดลี ไม่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยเหตุผลทางธุรกิจ แต่จากข้อตกลงพิเศษ Paris Agreement (1992) ที่นอกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แล้ว ยังมีเดอะ พนมเปญโพสต์ (1994-2008) สถานีวิทยุรังผึ้ง/สมบกขฺมม ฯ ที่หมายความว่า สื่อกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากยูเอ็นและองค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้กัมพูชาซึ่งอดีตเป็นรัฐสังคมนิยม ได้มีสื่ออิสระ

ทว่า เมื่อกัมพูชาจะเปลี่ยนโฉมหน้าจากการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่แคมโบเดีย เดลีก็ยังคงสภาพ น.ส.พ. ขนาดกระดาษ A4 แบบเดิมๆ ที่เพิ่มเติมคือสี่สี ตีพิมพ์ 6 ฉบับต่อสัปดาห์ โดยฉบับวันหยุดนั้นเน้นสาระกึ่งนิตยสาร พร้อมฉบับแปลภาษาเขมรทั้งเล่ม ซึ่งแต่เดิมแปลแทรกเพียงส่วน

ซึ่งใครที่เติบโตมากับ น.ส.พ.ฉบับนี้ ย่อมทราบดีถึงยุคที่บ้านเมืองกัมพูชายังไม่มีโรงพิมพ์ และแคมโบเดีย เดลียุคแรกก็ตีพิมพ์ไม่ต่างจากกระดาษโรเนียวหรือถ่ายสำเนา แต่แม้ว่าคุณภาพของกระดาษจะไม่ได้มาตรฐาน แต่ราคานั้นไม่ถูกนัก เริ่มจาก 1,500 หรือราว 15 บาทเมื่อเริ่มก่อตั้ง ตลอดจนราคาโฆษณาต่อคอลัมน์นิ้ว โดยเฉพาะแอด/โฆษณาทั่วไป ที่ไม่ใช่โฆษณาประกาศหางานขององค์กรเอ็นจีโอ

แคมโบเดีย เดลีก็มีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นจากการซื้อโฆษณาที่ไม่ขัดกับแนวทางของสื่อ ขณะเดียวกันก็ยังได้รับอานิสงส์จากการที่ไม่ต้องซื้อข่าวจากสำนักต่างๆ เช่น รอยเตอร์ เอเอฟพี และสื่อพันธมิตรที่สนับสนุน

แต่แม้ว่า น.ส.พ.ฉบับนี้ จะก่อตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลของการเพื่อฝึกฝนนักสื่อสารมวลชนเขมร พร้อมๆ ไปกับตีพิมพ์ข่าวสาร แต่กลับพบว่า ช่วงกลางครึ่งทศวรรษแรก (1997-2007) สื่อฉบับนี้ กลับเติบโตทางธุรกิจอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะ 15 ปีแรกที่ปราศจากคู่แข่ง ขณะที่อัตราว่าจ้างเจ้าหน้าที่และนักข่าวท้องถิ่นกลับค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับสื่อภาษาอังกฤษประเภทเดียวกัน

อีกการที่ไม่ต้องลงทุนระบบโรงพิมพ์ที่อาศัยเทคโลยีขั้นสูงก็ดี การสั่งซื้อกระดาษสำรองด้วยต้นทุนราคาแพงก็ดี เหล่านี้ ทำให้การดำรงอยู่ทางรายได้ของเดอะ แคมโบเดีย เดลี จึงไม่ใช่เรื่องลำบากเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนจากสื่อโฆษณารายวัน

และจากสถานะพิเศษในความเป็นสื่อนอกรัฐบาล (เอ็นจีโอ) ทำให้เดอะ แคมโบเดีย เดลี ไม่ต้องพะวงเรื่องภาษี ค่าลิขสิทธิ์ฟรีตีพิมพ์จากบางสำนักเอเยนซี่ และการตีพิมพ์ซ้ำ และรายได้เสริมจากการโฆษณาซึ่งเติบโตอย่างมากในกัมพูชา

และ น.ส.พ.ฉบับนี้ ก็เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เริ่มมีกำลังซื้อในช่วงเวลานั้น

 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อเดอะ พนมเปญโพสต์ถูกซื้อกิจการ และเปลี่ยนตัวเองเป็นฉบับรายวันในปี ค.ศ.2008

นั่นเอง ที่โฉมหน้าการแข่งขันวงการสื่อรายวันฉบับ 2 ภาษาอุบัติขึ้น และเกิดการไหลออกของคนวงการสื่อ ซึ่งร้อยละ 80 มาจากเดอะ แคมโบเดีย เดลี นี่เองที่ทำให้เราตระหนักว่า หน้าที่ของเดอะ แคมโบเดีย เดลีได้บรรลุประสิทธิผล ทั้งคุณภาพและปริมาณของพลเมืองนักสื่อสารมวลชนของกัมพูชาก่อนที่ยุคโซเชียลมีเดียจะมาเยือน

ดังนี้ ด้วยลักษณะที่เอื้อต่อระบบตลาดเสรี เดอะ พนมเปญโพสต์ จึงทะยานเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อันดับ 1 แทนเดอะ แคมโบเดีย เดลีทันทีในปีถัดมา

แต่ผู้ก่อตั้งเดอะ แคมโบเดีย เดลี – เบอร์นาร์ด คริชเชอร์ ก็เลือกที่จะไม่ถ่ายโอนตนเองออกไป เช่นที่ ไมเคิล เฮยส์ ผู้ก่อตั้งเดอะ พนมเปญโพสต์ (1994-2008) ได้ทำไว้

ตรงข้าม ในความอิหลักอิเหลื่อของ 2 ระบบแข่งขันนี้ ทำให้ น.ส.พ. ที่เก่าแก่ 2 สำนัก ต้องมาปักหลักแข่ง และนำไปสู่จุดจบที่ต่างกัน

เมื่อสำนักหนึ่งเข้าสู่ระบบธุรกิจสมัยใหม่ จ่ายภาษีให้รัฐบาล

ขณะที่อีกสำนักหนึ่ง กลับถูกวัฏจักรการเมืองพัดพาไปสู่จุดจบที่คาดการณ์ไม่ถึง

 

ขณะที่ไร่ส้มของเดอะ แคมโบเดีย เดลีที่นับวันจะเรียวเล็กลง เมื่อองค์กรนอกรัฐบาลต่างๆ ลดงบประมาณสนับสนุนอยู่นั้น

การเผชิญหน้ากับคู่แข่งในระบบตลาดเสรี ที่เปิดทางให้เกิดขึ้นของ น.ส.พ. ฉบับอื่นๆ เช่น เดอะ แขฺมร์ ไทมส์โดย จุมเตียวฮุน มานา และเงื่อนไขอื่นๆ เช่นสื่อออนไลน์ ที่ค่อยๆ บีบทางให้ น.ส.พ. ฉบับนี้มีรายได้ลดลงจากส่วนแบ่งโฆษณา

แม้จะมีภาษีคุ้มครองจากข้อตกลงปารีสก็ตาม แต่ดูเหมือนในเวลาเดียวกัน ความเกรี้ยวกราด โจมตีที่มีต่อคู่แข่งทั้งพนมเปญโพสต์และแขฺมร์ ไทมส์ดูจะเป็นพิเศษทั้งบุคคลและองค์กร นับเป็นสงครามสื่อที่แทบไม่น่าเชื่อว่า ครั้งหนึ่ง คนเหล่านี้เคยมีที่มาจากชายคาเดียวกัน

ดังนั้น กรณีเดลีกับเส้นตายจ่ายภาษีหรือปิดกิจการ จึงเป็นกรณีที่สื่อกัมพูชาพากันผวา

แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่า ในวันที่ชาวเดลีร้องหา “Save The Cambodia Daily” อยู่นั้น กลับพบแต่ความว่างเปล่าเงียบงันจากเพื่อนนักข่าวสำนักอื่น

และในที่สุด กำหนดเส้นตาย วันสุดท้าย 4 กันยายน ก็มาถึง

หลายฝ่ายลงความว่า นี่คือการไล่ล่า กวาดล้าง ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล และคนตระกูลฮุน ที่แก้แค้นจากการขุดคุ้ยเปิดโปงความมั่งคั่งร่ำรวย และการคอร์รัปชั่น

และนั่นเท่ากับว่า รัฐบาลกัมพูชา ได้ริบสัมปทาน น.ส.พ. ฉบับตามข้อตกลงปารีส (ที่เหลืออยู่ฉบับเดียว) โดยเห็นว่า เป็นเวลาเนิ่นนานร่วม 2 ทศวรรษแล้ว ที่สื่อผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองฉบับนี้ มีรายได้ทางธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง

ดังนี้ กิจการของเดอะ แคมโบเดีย เดลี จึงไม่ต่างจากการลงทุนเฉกหนังสือพิมพ์ทั่วไป ซึ่งพบว่า แม้ตัวเลขภาษีย้อนหลังจะไม่ผ่านการประเมินมาก่อน แต่จำนวนราว 220 ล้านบาทนี้ น่าจะเป็นตัวเลขประมาณการที่มาจากการชำระภาษีพนมเปญโพสต์ ณ วันที่เริ่มจดทะเบียนบริษัทเมื่อ 9 ปีก่อน

คือ นอกจากจะกำจัดเสี้ยนตำใจให้ สมเด็จฮุน เซน แล้ว

ยังเป็นการฉีกทิ้งข้อตกลงปารีส ที่เป็นการตบหน้ามหาอำนาจตะวันตกที่เคยสนับสนุนอย่างไร้ธรรมเนียมวิธี

 

หลายปีก่อนโน้น ตอนเดอะ แคมโบเดีย เดลีเปิดการฟังปาฐกถาของผู้ก่อตั้งที่สำนักงานเก่า บริเวณท้ายซอยเขตพระราชฐาน

ตอนนั้นเองที่ฉันพบกับ เบอร์นาร์ด คริชเชอร์ ผู้มีอายุ 86 ปีในปัจจุบัน

และนำไปสู่การรู้จักบุคลิกภาพนักข่าวแขฺมร์แบบสายพันธุ์เอ็นจีโออย่างคร่าวๆ รวมทั้งบรรยากาศการบริหารองค์กรสื่อ ขณะเดียวกันก็ไม่เคยลืมความรู้สึกแบบ “คนนอก” ต่อการได้พบผู้ก่อตั้ง น.ส.พ. ฉบับนี้

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนั้น มีนักข่าวต่างชาติจำนวนมาก ที่อยากมีโอกาสตีพิมพ์ผลงานกับน.ส.พ.ฉบับนี้ และฉันก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น (แม้จะเพียงครั้งเดียว)

กระนั้น ความรู้สึกอันผูกพันของความเป็นแฟนนักอ่านก็ยังติดผูกพันมาถึงทุกวันนี้

ในยามที่ น.ส.พ.ฉบับนี้ เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เมื่อคริชเชอร์ซึ่งพำนักอยู่ญี่ปุ่นได้โอนกิจการให้ลูกสาวและลูกเขยเป็นผู้ดูแล

มีสิ่งที่ทำให้ฉันไม่ลืมเดอะ แคมโบเดีย เดลีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกัน

นั่นคือ ความผูกพันในฐานะคู่รักของ เบอร์นาร์ด คริชเชอร์ ที่มีต่อเด็กสาวเขมรคนหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าในปีที่เธอลืมตาดูโลก จะเป็นปีเดียวกันกับที่เขาก่อตั้งเดอะ แคมโบเดีย เดลี

เธอคือลูกสาวชาวรัตนคีรี – มิตรคนหนึ่งของฉัน