เปิดโพล ‘มติชนทีวี-พันธมิตร’ ใครมาแรงในสนามเลือกตั้ง กทม.?/ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เปิดโพล ‘มติชนทีวี-พันธมิตร’

ใครมาแรงในสนามเลือกตั้ง กทม.?

 

มติชนทีวี ร่วมกับพันธมิตรสื่อ อันประกอบด้วยข่าวสด, มติชนสุดสัปดาห์, เพจเฟซบุ๊ก The Politics ข่าวบ้านการเมือง และเพจเฟซบุ๊ก FEED เพิ่งทำโพลสำรวจคะแนนนิยมผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

เพื่อพยายามหาคำตอบว่า ผู้อ่าน/ผู้ชมข่าวออนไลน์มีแนวโน้มจะลงคะแนนเลือกใคร? ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบหลายปีของพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยทำการเปิดรับคำตอบตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2565

 

คําถามในโพลดังกล่าวมีอยู่ 2 ข้อ

เริ่มต้นด้วยข้อแรก “คุณจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.?”

โดยมีผู้เข้ามาตอบคำถามรวมทั้งสิ้น 7,930 คน ผลปรากฏว่า

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” (อิสระ) มีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง 54.31 เปอร์เซ็นต์

ที่ตามมาเป็นอันดับสอง คือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” (ก้าวไกล) ซึ่งมีคะแนนนิยม 33.83 เปอร์เซ็นต์

อันดับสามเป็นของ “น.ต.ศิธา ทิวารี” (ไทยสร้างไทย) ที่มีคะแนนนิยม 4.96 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่อันดับสี่ ได้แก่ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” (ประชาธิปัตย์) ซึ่งมีคะแนนนิยม 2.88 เปอร์เซ็นต์

สำหรับอันดับถัดลงมานั้น “รสนา โตสิตระกูล” (อิสระ) มีคะแนนนิยม 1.17 เปอร์เซ็นต์, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (อิสระ) ผู้ว่าฯ คนล่าสุด มีคะแนนนิยม 1.16 เปอร์เซ็นต์ และสกลธี ภัททิยกุล (อิสระ) อดีตรองผู้ว่าฯ ยุคอัศวิน มีคะแนนนิยม 0.23 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ร้อยละ 1.06 ที่บอกว่าตนเองยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร และมีอีกร้อยละ 0.23 ที่ระบุตัวเลือก “ผู้สมัครรายอื่นๆ”

คําถามข้อสองในโพล คือ “คุณจะเลือกผู้สมัคร ส.ก.จากพรรค/กลุ่มการเมืองใด?”

โดยมีผู้เข้ามาตอบคำถามข้อนี้ 7,856 คน ผลปรากฏว่า

พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง 45.07 เปอร์เซ็นต์ พรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยคะแนนนิยม 37.03 เปอร์เซ็นต์ และพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งได้คะแนนนิยม 6.61 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในอันดับที่สาม

น่าสนใจว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 5.78 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าตนเองยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ก. จากพรรค/กลุ่มการเมืองใด

ขณะที่พรรค/กลุ่มการเมืองที่ได้คะแนนนิยมในโซนครึ่งล่างของตาราง จะประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ 2.38 เปอร์เซ็นต์, กลุ่มรักษ์กรุงเทพ (ทีมอัศวิน) 0.85 เปอร์เซ็นต์ และพรรคพลังประชารัฐ 0.75 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ มีผู้ตอบคำถามอีกร้อยละ 1.53 ที่บอกว่าตนเองจะเลือก “พรรค/กลุ่มอื่นๆ”

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า “โพลออนไลน์” ที่จัดทำโดยมติชนทีวีนั้นมี “ข้อจำกัด” (และ “ความเป็นไปได้”) อยู่จำนวนหนึ่ง

ประการแรก นี่คือการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคข่าวสารในโลกออนไลน์ ซึ่งไม่อาจแน่ใจได้ว่าพวกเขาทั้งหมดเป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งใน กทม. จริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นโพลที่ไม่ครอบคลุมประชากรกลุ่มที่มิได้ใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันอย่างกระตือรือร้น จึงอาจหยั่งไม่ถึง “คะแนนจัดตั้ง”, การหาเสียงผ่านการทำงานมวลชนในพื้นที่ชุมชนต่างๆ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของโหวตเตอร์ผู้สูงอายุ

นอกจากนั้น โพลนี้ยังอาจขาดแคลนกลุ่มตัวอย่างที่มาจากฝ่ายขวาจัด-อนุรักษนิยมทางการเมือง

ทว่า ผลโพลของมติชนทีวี คงสามารถสะท้อนคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก “บ้านมีรั้ว-ตึกสูง” คะแนนเสียงของนิวโหวตเตอร์จนถึงคนชั้นกลางวัย 40-50 ปี รวมทั้งคะแนนเสียงของพลเมืองในฟากประชาธิปไตยผู้ไม่นิยมชมชอบ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ในระดับหนึ่ง

และหากเปรียบเทียบกับโครงสร้างผลคะแนนที่ปรากฏในการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร เมื่อปลายเดือนมกราคม ตัวเลขในโพลก็คล้ายจะมิได้หลุดลอยออกจาก “ความเป็นจริง” มากเกินไปนัก

 

หากผลโพลของมติชนทีวีวางพื้นฐานบนข้อเท็จจริงอยู่บ้าง ข้อเท็จจริงอีกประการที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา คือแนวโน้มที่ว่าคะแนนนิยมของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” กำลังแตกแขนงออกเป็น “2+1 ขั้ว”

ในกรณีของสังเวียนชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แนวโน้มดังกล่าวปรากฏผ่านรูปการณ์ที่คะแนนนิยมของ “ชัชชาติ” และ “วิโรจน์” เบียดกันในอันดับหนึ่ง-สอง โดยมี “น.ต.ศิธา” ตามมาเป็นอันดับสาม

ในสนาม ส.ก. โครงสร้างทุกอย่างยังคล้ายเดิม แต่มีจุดแตกต่างเล็กน้อย เมื่อคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลออกนำพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคไทยสร้างไทยอยู่อันดับสามเช่นเคย

เหล่านี้คือแนวโน้มที่บ่งชี้ว่าการแข่งขันขับเคี่ยวระหว่างสามพรรคการเมืองขั้วประชาธิปไตยน่าจะเข้มข้นดุเดือดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯ สู่การเลือกตั้งใหญ่ในระดับชาติ

สิ่งที่ต้องหมายเหตุเพิ่มเติม คือ แม้ผลโพลเรื่องคะแนนนิยมผู้สมัคร ส.ก.ของมติชนทีวี จะมิได้มีความละเอียดลึกซึ้งลงไปถึงระดับรายเขต กระทั่งไม่สามารถนำไปใช้ประเมินแบบชัดๆ ว่าพรรค/กลุ่มการเมืองใดจะได้ ส.ก.จำนวนเท่าไหร่

แต่ผลโพลที่ออกมา น่าจะทำให้เราพอประเมินได้ว่าคน กทม.จำนวนหนึ่ง นิยมชมชอบในพรรคการเมืองใดบ้าง

นี่คืออารมณ์ความรู้สึกส่วนลึกของผู้คน ที่คงส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ก. (ที่พรรคการเมืองหลักลงชิงชัยอย่างเปิดเผยพร้อมหน้า) และการเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคต อยู่ไม่น้อย

 

ประการสุดท้าย ไม่อาจปฏิเสธว่าโพลออนไลน์ครั้งนี้เริ่มเปิดรับความคิดเห็นของเหล่าพลเมืองเน็ต ก่อนหน้าจะมีข่าวดัง ที่ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้า และอดีตผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาเรื่องมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม

โดยคำตอบเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามสองข้อนี้ ถูกส่งเข้ามาในระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน

จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อทำโพลกันอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายน

คะแนนนิยมของ “สุชัชวีร์” จะยังดูดีกว่า “รสนา-พล.ต.อ.อัศวัน-สกลธี” และคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์จะยังเหนือกว่าทีมรักษ์กรุงเทพและพรรคพลังประชารัฐ อยู่อีกหรือไม่?