เกินกว่าเยียวยาด้วย ‘เหตุผล’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

เกินกว่าเยียวยาด้วย ‘เหตุผล’

 

หากเฝ้ามองการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างพินิจพิเคราะห์ จะพบว่าถึงวันนี้ ความสำคัญว่าจะเลือกใครมาทำหน้าที่บริหารเมืองหลวงของประเทศ น่าจะลดความสำคัญของนโยบายที่นำเสนอไปแล้ว

ยิ่งเป็นการสังเกตเอาจากความคิดความเห็นหรือท่าทีของผู้คนที่แสดงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อออนไลน์ ยิ่งชัดเจนว่าส่วนใหญ่ผ่านเลยการรับฟังว่าใครจะทำอะไร มาเป็นเชียร์ใครก็เชียร์กันไปโดยไม่ติดตามเสียด้วยซ้ำว่าผู้สมัครคนที่เชียร์นั้นมีนโยบายเรื่องอะไรบ้าง

ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเพราะนับวันที่ผู้สมัครยิ่งเดินพบปะประชาชนรับรู้ความเดือดร้อน และความต้องการ แต่ละคนยิ่งคิดนโยบายและแผนงานขึ้นมาตามปัญหาที่รับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนแต่ละคนรับรู้มาในเรื่องเดียวกัน ปัญหาใหญ่ของมหานครย่อมจะได้ยินได้ฟังมาเหมือนๆ กัน

ขณะที่แนวคิดในการจัดการแก้ไขย่อมไม่ต่างกัน หรือแตกต่างกันก็ไม่มากนัก ทำให้ไอเดียของแต่ละคนซ้ำกันไปซ้ำกันมา คนนั้นต่อยอดจากคนนี้ คิดให้เยอะกว่าคนนั้นหน่อย เกิดไอเดียที่ท่วมท้นจนไม่รู้ว่าจะฟังใคร หรือฟังไปทำไม

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าการตัดสินใจจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คนส่วนใหญ่ตัดสินใจด้วยอะไร

 

“นิด้าโพล” นำเสนอผลวิจัยเรื่อง “ปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”

ในคำถาม “สถานการณ์การเมืองระดับชาติส่งผลจต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.แค่ไหน” มากที่สุดคือร้อยละ 31.25 ตอบว่า “ส่งผลอย่างมาก” ขณะที่ร้อยละ 30.41 ตอบว่า “ไม่ส่งผลเลย” ร้อยละ 24.38 “ค่อนข้างส่งผล” และร้อยละ 13.96 “ไม่ค่อยส่งผล”

หากนับรวมแล้วร้อยละของฝ่ายที่เห็นว่า “ส่งผล” สูงกว่าที่เห็นว่า “ไม่ส่งผล” อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า “อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”

กลับกลายเป็นว่ามากที่สุดคือร้อยละ 44.75 ตอบว่า “นโยบายของผู้สมัคร” ขณะที่ร้อยละ 28.91 ตอบว่า “คุณสมบัติ/ชื่อเสียงส่วนตัวของผู้สมัคร” ที่เหลืออีกอย่างละนิดละหน่อยคือ “ฐานเสียงจัดตั้งของผู้สมัคร” ร้อยละ 9.36, “อิทธิพลของบุคคล/กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนผู้สมัคร” ร้อยละ 6.19, “กลยุทธ์/แนวทางการหาเสียงของผู้สมัคร” ร้อยละ 6.04, “การสนับสนุนของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้สมัคร” ร้อยละ 4.00, “งบประมาณการหาเสียงของผู้สมัคร” ร้อยละ 0.75

คำตอบในคำถามแรกให้ความรู้สึกว่า การตัดสินใจจะเลือกใคร ขึ้นกับการยืนอยู่กับฝ่ายไหนทางการเมือง

แต่ในคำถามที่ 2 กลับคล้ายว่าให้ความสำคัญกับความดี ความเก่งของตัวบุคคลมากกว่า ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคำตอบที่ดูขัดแย้งกัน

 

ในสภาวะว่าการหาเสียงทำให้ยิ่งนับวันนโยบายที่ผู้สมัครแต่ละคนประกาศออกมาดูจะ “ท่วมเมือง” และแทบแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นของใคร แต่ละคนมีนโยบายเด่นที่แตกต่างกันอย่างไร

การตัดสินจะเลือกใคร จึงน่าจะด้วยเงื่อนไขอื่นมากกว่า

คำตอบอาจจะชัดเจนกว่าหากมองไปที่ธรรมชาติของปุถุชนคนธรรมดา เมื่อตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างเราเลือกกันด้วย “ความชอบ”

เป็นความจริงหรือที่ “เพราะความเก่ง ความดี จึงทำให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนที่เราชอบ”

ไม่ใช่หรอกหรือว่า “เพราะเป็นคนที่เราชอบ จึงเห็นว่าเขาเป็นคนเก่ง คนดีของเรา”

ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่พิสูจน์มาตลอดในการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบบ “ยึดถือตัวบุคคลไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ฟังเหตุผลและไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง” ซึ่งยึดครองพื้นที่ทางความคิดของผู้คนในแผ่นดินเดียวกันนี้มายาวนาน แทบไม่เปลี่ยนแปลง