พ่อค้าออนไลน์ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

พ่อค้าออนไลน์

 

ตอนนี้ผมสวมวิญญาณ “พ่อค้าออนไลน์” เต็มตัวแล้วครับ

เปิดขายทุเรียนและมังคุดของที่สวนผ่านเพจ “หนุ่มเมืองจันท์”

ก่อนหน้านี้ผมก็เปิดพรีออเดอร์หนังสือของตัวเองมา 2-3 ปีแล้ว

สะดวก ไม่ยุ่งยาก

มีโปรแกรมอัตโนมัติที่ทำให้การจองและจ่ายเงินสะดวกสบายมาก

ระบบการจัดส่งก็ไม่ยาก เพราะน้องๆ “งานดี” บริษัทจัดจำหน่ายของสำนักพิมพ์มติชนเก่งอยู่แล้ว

ผมมีหน้าที่โพสต์ข้อความทางเพจอย่างเดียว

พอจะเปิดขายทุเรียนออนไลน์ ผมก็คิดว่าคงเป็น “งานง่าย” แบบเดียวกัน

เคยเปิดขายแบบนิดๆ หน่อยๆ ไปเมื่อปีที่แล้ว

ไม่กล้าขายเต็มที่ เพราะยังไม่มั่นใจว่า “ทุเรียน-มังคุด” จะอร่อยไหม

เพราะเพิ่งเริ่มทำสวนแบบอินทรีย์ได้ไม่กี่ปี “จอย” น้องสาวที่เป็นเภสัชกรก็เพิ่งได้ทดลองสนามจริง เรียนรู้จากความผิดพลาดไปเรื่อยๆ

จนปีนี้ “จอย” ประกาศว่ามั่นใจแล้ว

“พี่ตุ้ม เปิดขายออนไลน์ได้เลย”

พอน้องสั่งมา พี่ชายที่ดีก็ต้องตามใจน้องสิครับ

แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ชาวสวนทุเรียนจะเจอปัญหาเรื่องการขายผ่าน “ล้ง” เยอะมาก

โดยเฉพาะคนที่ทำทุเรียน-มังคุดอินทรีย์

เปลือกหรือผิวจะไม่สวย

ทุเรียนก็ไม่ได้ทรงงดงามเหมือนใช้เคมี

พอขายล้งปั๊บ ชาวสวนจะนั่งตาระห้อยเวลาคนคัดทุเรียนคัดลูกที่มีลายงางดงามออกไปเป็นตกไซซ์

จาก AB ที่อยู่ในระดับสวยนางงาม ราคา 180

พอตกไซซ์ปั๊บ ราคาวูบลงมาเหลือแค่ 110

ลงมาเกือบครึ่ง

ในขณะที่ลายหนอนเล่นสไลเดอร์บนเปลือกทุเรียน คือเครื่องหมายแสดงว่าทุเรียนนี้เป็นทุเรียนอินทรีย์

เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนที่ชอบทางนี้

แต่กลับเป็นสิ่งไร้ค่าสำหรับ “ล้ง”

การขายออนไลน์ตรงไปที่คนที่สนใจผลไม้ออร์แกนิกส์โดยตรงน่าจะเป็นช่องทางขายที่น่าสนใจ

ปีนี้ผมเลยตัดสินใจ

…ลุย

ก่อนจะเปิดขาย ผมเริ่มทดลองส่งทุเรียนล็อตแรกๆ มาให้พี่ๆ และน้องที่คุ้นเคยก่อน

ทดลองระบบทั้งหมด

กล่องที่บรรจุทุเรียนเป็นอย่างไรบ้าง มาถึงที่หมายแล้วเสียสภาพหรือเปล่า

ทุเรียนที่ตัดมาใช้เวลากี่วันสุก

รสชาติอร่อยไหม ฯลฯ

“ทุเรียน” ไม่เหมือน “หนังสือ”

“หนังสือ” บอกได้ว่าจะพิมพ์เท่าไร เสร็จเมื่อไร

แต่ “ทุเรียน” เราไม่สามารถบอกได้ว่าวันนี้ตัดได้กี่ลูก

คนตัดต้องเชี่ยวชาญมาก เพราะการตัดทุเรียนส่งออนไลน์ต้องตัดแก่กว่าส่งล้ง

แต่ไม่แก่มากจนปลิงหลุดตอนส่ง

ทุเรียนนั้นยิ่งตัดแก่มาก ยิ่งอร่อย

ตอนแรกจะเขียนเล่นๆ ว่าคล้าย “ผู้ชาย”

แต่อ่านซ้ำแล้วดู “หัวงู” มาก

2 บรรทัดข้างบนจึงถือว่าไม่ได้เขียนนะครับ

วันแรกที่เปิดขายออนไลน์ ผมเลือกวันที่กลับไปจันท์ได้

อยากดูระบบทุกอย่าง

โชคดีที่ “จอย” และ “ตู่” น้องเขยเป็นนักกิจกรรมเก่า จัดระบบเก่งอยู่แล้ว

พอลงมาชั่งทุเรียน บรรจุกล่อง แป๊บเดียวก็เห็นปัญหาและวางระบบได้

เรื่องน้ำหนักของทุเรียนในกล่อง

เราขายกล่องละ 5 ก.ก.

แต่ผมย้ำกับ “เก่ง” น้องชายที่เป็นหลักเรื่องการชั่งและบรรจุกล่องว่าให้ชั่งเกิน

อย่างน้อยต้อง 5.5-6 ก.ก.

ส่วนหนึ่ง เผื่อทุเรียนคายน้ำระหว่างทาง ถ้าชั่งพอดี ไปถึงมือลูกค้า น้ำหนักอาจลดลงได้

อีกส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องที่เผื่อไว้สำหรับความผิดพลาดที่ไม่คาดคิด

เช่น อาจมีบางลูกอ่อน หรือบางลูกมีพูหลอก ดูข้างนอกนึกว่าพูนี้จะมีเนื้อ แต่พอแกะแล้ว ปรากฏว่าไม่มีเนื้อ ฯลฯ

อะไรที่เราคิดไม่ถึง ถ้าไม่มากนัก ลูกค้าก็จะไม่ว่าอะไร เพราะเราชั่งเพิ่มกว่า 5 ก.ก.ไปแล้ว

ทดแทนกันได้

แต่ถ้าลูกค้ายังไม่พอใจ อยากจะเคลม

รับเคลมทุกลูกครับ

“ป๋า” ไว้ก่อน

เหตุผลสำคัญคือ ผมถือว่าคนในเพจเป็น “พี่-เพื่อน-น้อง” มากกว่าเป็น “ลูกค้า”

“ความรู้สึก” สำคัญกว่า “เหตุผล” ครับ

พอเปิดขายออนไลน์ได้ 2-3 ครั้ง ระบบก็เริ่มลงตัว

แต่เกิดปัญหาใหม่

คือ ขายดีเกินไป

อย่าหมั่นไส้นะครับ แต่มันเป็นเรื่องจริง

ส่วนหนึ่งเพราะออเดอร์น้อย

มากสุดวันหนึ่งก็ 100 กล่อง

บางวันแค่ 30 กว่ากล่อง

ครั้งแรกที่เปิดขาย ผมนึกว่าจะใช้เวลาสัก 1-2 ชั่วโมง

ทายสิครับว่าใช้เวลาเท่าไร

1 นาทีครับ

ครั้งล่าสุด ยิ่งแล้วใหญ่

ไม่ถึง 10 วินาทีครับ

พอผมโพสต์เสร็จก็รีเฟรชหน้าจอเลย

น่าจะไม่เกิน 10 วินาที

ออเดอร์เข้ามา 89 คน

รีเฟรซครั้งที่สอง 263 คน

ทุเรียนมีแค่ 34 กล่อง

น้องคนหนึ่งที่สั่งซื้อทัน หลังไมค์มาบอกว่าเธอวานให้เพื่อนที่เป็นมือจองบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีมาจองทุเรียน

ครับ “ทุเรียนเมืองจันท์” ของผม กลายเป็น “ทุเรียนเกาหลี” ไปแล้ว

ขายดีแบบนี้ไม่ได้ดีใจนะครับ

“กลัว” มากกว่า

เพราะยิ่งซื้อยาก คนจะยิ่งคาดหวังสูง

ผมเป็นคนกลัว “ความคาดหวัง” มาก

ทุเรียนสวนสันติเกษตรอินทรีย์ แค่ทุเรียนอินทรีย์ธรรมดา ของคนที่เพิ่งเริ่มต้นในสนามนี้เท่านั้นเอง

แต่พอต้องแย่งซื้อระดับ 10 วินาทีหมด

เป็นผมก็ต้องคาดหวังว่าจะอร่อยระดับ “มิชลินไกด์”

ต้องพยายามเขียน “ด้อยค่า” ทุเรียนตัวเองเพื่อลดความคาดหวัง

นอกจากนั้น แฟนเพจที่คุ้นเคยกันมานานก็บ่นว่าระบบนี้ไม่ดี เขาจองยังไงก็จองไม่ทัน

ผมค่อนข้างแคร์คนกลุ่มนี้มาก

ในที่สุด ผมคงต้องเปลี่ยนวิธีการจองใหม่

ทำระบบให้ลงชื่อจองไว้ล่วงหน้าเลย

ยังไม่ต้องจ่ายเงิน

ถึงคิวเมื่อไรค่อยจ่าย

ในแง่การจัดการ ระบบใหม่จะยุ่งยากกว่าเดิม

แต่คิดว่าจะทำให้ “ความรู้สึก” ของแฟนเพจดีขึ้น

สำหรับผม เรื่องนี้สำคัญมาก

อาจวัดเป็น “มูลค่า” ไม่ได้

แต่มันมี “คุณค่า” ทางใจที่ประเมินไม่ได้ •