สงครามรัสเซีย-ยูเครนในอาเซียน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครนในอาเซียน

 

ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอบสนองการรุกรานยูเครนของรัสเซียหลากหลายทีเดียว

สิงคโปร์แสดงจุดยืน ต่อต้าน รุนแรงที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน

ส่วนเมียนมาเป็นประเทศเดียวที่สนับสนุนการกระทำของรัสเซียต่อยูเครน ประเทศอื่นๆ ของอาเซียนมีจุดยืนเรื่องนี้หลากหลาย

ที่มาของจุดยืนการตอบสนองและเบื้องหลังแห่งจุดยืนด้านต่างประเทศของประเทศในอาเซียนต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนน่าจะเป็นประมาณนี้

สิงคโปร์

สิงคโปร์มีปฏิกิริยา แรงที่สุด

สิงคโปร์เป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ ประณาม รัสเซีย โดยออกชื่อประเทศ ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมีมาตรการควบคุมการส่งออก เหมือนครั้งที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาปี 1978 อิรักยึดครองคูเวต 1990 และรัสเซียผนวกไครเมีย 2014

สิงคโปร์ใช้หลักการการรุกรานทางทหารละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งห้ามการกระทำอันก้าวร้าวต่อรัฐอธิปไตย

นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) เตือนว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐาน “อำนาจคือธรรม” (might id right) โลกจะเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์

อินโดนีเซียโจมตีการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อว่า รัสเซียคือผู้รุกราน ในเหตุการณ์รุกรานยูเครน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Joko Widodo เรียกร้องให้รัสเซียยุติความขัดแย้งกับยูเครนอย่างสันติวิธี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเตือนว่า นำความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากโรคระบาดโควิด-191

บรูไน เมื่อการโจมตียูเครนจากรัสเซียเกิดขึ้น ต่อมาบรูไนตอบสนองเหตุการณ์ความขัดแย้งเหมือนกับอินโดนีเซีย บรูไนวิจารณ์การละเมิดอธิปไตย ความเป็นอิสระและบูรณภาพทางดินแดนของชาติใดๆ

ฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งพยายามสร้างสมดุลของนโยบายต่างประเทศ โดยปรับความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์กับรัสเซียและจีน ยังคงเงียบในช่วงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น2

รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ Delfin Lorenzana ยืนยันฟิลิปปินส์เป็น กลาง เพราะความขัดแย้งไม่ใช่ธุระอะไรของพวกเรา3 อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ ตรงกันข้ามกับความพยายามของฟิลิปปินส์ที่พยายามทำให้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้สู่นานาชาติ

แต่พอรัสเซียโจมตียูเครนไม่กี่วัน หลังจากนั้น ฟิลิปปินส์ประณามการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครนชัดเจน

5 ประเทศอาเซียน

มาเลเซีย ไทย

เวียดนาม ลาวและกัมพูชา

มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Ismail Sabri Yaamob แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในยูเครน เขาออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อเหตุการณ์ แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อรัสเซียว่าเป็นผู้ก้าวร้าว เขาเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลดความขัดแย้งลง

ไทย เหมือนกับมาเลเซีย ไทยแสดงความกังวลอย่างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไทยสนับสนุนทางออกอย่างสันติของความขัดแย้งด้วยการเจรจา ไทยมีความสัมพันธ์อย่างจริงใจกับรัสเซีย และพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าข้างในการเมืองของอภิมหาอำนาจ ไม่ต้องประหลาดใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยจะยังคง เป็นกลาง ในความขัดแย้ง4

เวียดนาม งดการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อการกระทำของประธานาธิบดีรัสเซีย ปูติน เพราะว่ารัสเซียเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดด้านความมั่นคงของเวียดนาม เป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษแล้ว เวียดนามพึ่งพิงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากรัสเซีย ได้นำมาใช้พัฒนาความทันสมัย (modernize) ให้กับกองกำลังกองทัพของเวียดนาม

ลาว เหมือนกับเวียดนาม ลาวหาทางปกป้องความเป็นมิตรอย่างยาวนานกับรัสเซีย โดยลาวหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ต่อรัสเซียในวิกฤตการณ์ยูเครน ลาวไม่ได้แสดงความเป็นศัตรูใดๆ ต่อรัสเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศลาวไม่แสดงแม้แต่ความวิตกกังวลใดๆ ต่อวิกฤตการณ์ เพียงแต่ให้ติดตามความเป็นไปใกล้ชิด ในสถานการณ์อ่อนไหว และซับซ้อนในยูเครน ลาวขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรยับยั้งการแสดงออกใดๆ ลดความตึงเครียด และผลักดันสู่การตกลงอย่างสันติ ผ่านมาตรการทางการทูต

กัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน แสดงท่าทีต่อวิกฤตการณ์ยูเครน อ่อนที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แสดงเพียงให้ยุติความขัดแย้งอย่างสันติ เหมือนกับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า กัมพูชาจะยังคง เป็นกลาง ในความขัดแย้ง

เมียนมา เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้ให้ การสนับสนุน การกระทำของรัสเซีย ทั้งนี้ ด้วยการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ในเมียนมา รัสเซียเป็นชาติมหาอำนาจชาติแรกที่รับรองรัฐบาลทหารเมียนมา เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ทั้งรัสเซียและผู้นำรัฐประหารเมียนมาต่างกระตือรือร้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอันแน่นแฟ้น โดยเฉพาะสร้างความสัมพันธ์ผ่านการได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ของเมียนมา หากว่าผู้นำรัฐประหารเมียนมาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซีย มาตรการนี้สามารถทำให้กระบวนการจัดซื้ออาวุธซับซ้อนขึ้นมา

ตรงกันข้ามกับท่าทีของรัฐบาลพลัดถิ่นเมียนมาคือ National Unity Government-NUG ได้ประณามการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน

สงครามยูเครน

ในความเคลื่อนไหว

ในอาเซียน

หากมองอาเซียนในฐานะองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาค

เราจะเห็นที่มาของจุดยืนที่หลากหลายของชาติสมาชิกอาเซียนต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตอนนี้กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน 2022 พอดี

ในช่วงที่รัสเซียบุกเข้าโจมตียูเครน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ได้กล่าวว่า องค์กร (อาเซียน-ขยายความโดยผู้เขียน) ต้องการเสียงที่เข้มแข็งต่อกิจการระหว่างประเทศ แต่มีการตอบสนองจากประเทศสมาชิกหลากหลายดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ไม่เป็นที่ประหลาดใจเลย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ มีการออกแถลงการณ์ของอาเซียนต่อวิกฤตการณ์ยูเครน ที่เมื่ออ่านแล้ว เนื้อหาอ่อน และมีท่าทีร่วมกันในระดับต่ำๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 10 ประเทศยืนยัน พวกเขากังวลอย่างลึกซึ้ง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่สำคัญ ใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด ผลักดันให้มีการเจรจาและลดความตึงเครียด

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่ออาเซียน

สงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งระดับโลก ซึ่งกำลังมีผลกระทบในทุกๆ แห่งในโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ยกเว้น แม้ว่าความเลวร้ายทางเศรษฐกิจนั้นจะขึ้นอยู่กับความยาวนานของความขัดแย้งและผลลัพธ์สุดท้าย

ความผูกพันทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพอประมาณ

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อย ถ้าเศรษฐกิจรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ

ปี 2020 รัสเซียเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนอยู่อันดับที่ 11 ของอาเซียน การค้าระหว่างกันคือ 13.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2020 รัสเซียลงทุนในภูมิภาค 63.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การพังลงของเศรษฐกิจโลกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบต่อประเทศของภูมิภาค ความขัดแย้งได้นำไปสู่ราคาน้ำมันและก๊าซราคาแพงขึ้น ถ้ารัสเซียตัดสินใจระงับการส่งออกพลังงาน หรือประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ ระงับการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย จะก่อให้เกิดความยุ่งยากมาก

ยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ผลิตเกษตรกรรมรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวโพด ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น พลังงานราคาสูงขึ้นและราคาสินค้าแพงขึ้นจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ภาคการผลิตสำคัญของรัสเซียคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น นิเกิล ไทเทเนียม ทองแดง แพลทินัม ราคาแร่ธาตุเหล่านี้จะแพงขึ้น

สงครามที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อความเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ รถไฟและทางทะเล จะสร้างความเลวร้ายต่อห่วงโซ่การขนส่งระดับโลกเพิ่มจากที่ประสบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ลามสู่อาเซียนแล้ว

1“Indonesia Condemns Russian attack, prepare to evacuate Citizens” Jakarta Post 4 February 2022.

2Ian Storey, “Duterte’s Trip to Russia Results to Modest Gains”, ISEAS Commentary, No. 84 (10 October 2019)

3Chief Defense : “PH ‘neutral’ on Russian’s invasion” CNN Philippines 25 February 2022.

4“Neutral on Russia-Ukraine : PM” Bangkok Post, 2 March 2022. : 1.