ประเมินกำลัง 4 พรรคใหญ่ ในศึก กทม./หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ประเมินกำลัง

4 พรรคใหญ่ ในศึก กทม.

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ได้เลือกตั้งมา 9 ปี ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ก็ไม่ได้เลือกตั้งมานานถึง 12 ปี เหลือขณะนี้อีกเพียง 1 เดือนก็จะเลือกตั้ง ดังนั้น ช่วงนี้จะขอวิเคราะห์การเลือกตั้งใน กทม.บ่อยขึ้นจนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ

เมื่อได้เบอร์และผู้สมัครหาเสียงกันไปแล้วกว่าครึ่งเดือน คะแนนตามโพลดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่สำนักต่างๆ ได้คาดการณ์ และผลสำรวจจากก่อนและหลังรับสมัครอันดับ 3-4 ก็เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

แต่พรรคไหนจะได้ ส.ก.เท่าไรนั้น ตามการประเมินของคนวงในหลายพรรค คือ พรรคก้าวไกล ได้ 19 เขต ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 17 เขต ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ประมาณ 8 เขต ตอนนี้มีการเดิมพันกันว่า ส.ก.ของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ในนามกลุ่มรักษ์กรุงเทพ กับพลังประชารัฐและไทยสร้างไทย ใครจะได้ ส.ก.มากกว่ากัน

การหาเสียงเพื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. กับการให้ได้ ส.ก.ไม่เหมือนกัน พรรคที่ส่งทั้ง ส.ก.และผู้ว่าฯ โดยทั่วไปจะต้องหาเสียงพ่วงกันไป การหาเสียงแรกๆ ก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อถึงตอนท้ายๆ ใกล้วันลงคะแนน ถ้ารู้ว่าผู้ว่าฯ ในสังกัดของตนเองไปไม่ไหวและประชาชนที่ตนเองออกไปพบต้องการเลือกคนอื่น ว่าที่ ส.ก.จะต้องตามน้ำไปกับประชาชนว่า

“จะเลือกผู้ว่าฯ ใครก็ได้ครับ แต่ตำแหน่ง ส.ก.ขอให้เลือกผมก็แล้วกัน”

บางคนอยากเลือก ส.ก.ทีมเดียวกับผู้ว่า หรือบางคนอาจชอบผู้ว่าคนหนึ่ง แต่อยากได้ ส.ก.ที่ตัวเองไว้ใจหรือรู้จักเพื่อเป็นตัวแทนปากเสียงของเขตที่อยู่ หรือที่ทำมาหากิน ไม่สนใจพรรค

ดังนั้น วันนับคะแนนจะเห็นว่ามีความแตกต่างของคะแนนผู้ว่าฯ และ ส.ก.ที่อยู่พรรคเดียวกัน

 

1.กำลังขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล

ขุมกำลังใหญ่คือ อุดมการณ์ที่ก้าวหน้าสุดๆ และกองเชียร์จากปี 2562 ประมาณ 5-6 แสนคน

มี ส.ส. 9 คน ของพรรคก้าวไกล คุมพื้นที่ กทม.อยู่ 11 เขต

ตัวเร่งพิเศษ คือแรงกดดันของฝ่ายตรงข้ามที่ฟ้องร้องแกนนำพรรคในคดีต่างๆ

การลงแข่งขันใน กทม.ครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่าที่สุดในการส่งสมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 50 คน ตามการสำรวจขั้นต้น ตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นรอง แต่ ส.ก.นำ

ประเมิน ส.ก.ของตนเองว่ามีสิทธิ์แข่งขันอยู่ได้ประมาณ 38 เขต อีก 12 เขตสู้ไม่ได้แน่ และใน 38 เขตนั้นมีโอกาสชนะถึง 19 เขต แต่ไม่ใช่เรื่องที่แน่นอนไม่เหมือนคะแนนผู้ว่าฯ ที่ชนะกันเป็นแสน แต่ในศึก ส.ก.ที่ตะลุมบอนกันหลายกลุ่มหลายพรรค ความต่างของคะแนนชนะหรือแพ้นั้นอาจจะเป็นแค่ 1,000 หรือหลักร้อยก็ได้ มีปัจจัยให้พลิกไปพลิกมาในพื้นที่ได้หลายอย่าง

แนวการหาเสียงของพรรคก้าวไกลเน้นการเมืองนำหน้า ต่อสู้กับความอยุติธรรม ชูคำขวัญ เมืองที่คนเท่ากัน ต่อต้านส่วย ทวงคืนพื้นที่สนามหลวง ยุทธวิธีเหล่านี้หวังจะทำให้เสียงที่ยึดมั่นตามอุดมการณ์การเมืองยังรวมกลุ่มกันเหนียวแน่น แต่ยังไม่มากพอที่ทำให้ได้รับชัยชนะ ในการแข่งขันระดับผู้ว่าฯ กทม. ต้องเพิ่มงานบริหารเมือง

ถ้าเป็นในระดับ ส.ก. ในเขตพื้นที่ที่ผู้สมัครคู่แข่งไม่ได้โดดเด่น การรวมกลุ่มของเสียงตามอุดมการณ์พรรค จะมีคะแนนก้อนใหญ่ที่ได้เปรียบ ถ้าผู้สมัครก้าวไกลมีคะแนนนิยมส่วนตัว มีชื่อเสียงโอกาสชนะก็จะยิ่งมากขึ้น

มีผู้ประเมินว่าคะแนนของฝ่ายประชาธิปไตยที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ ถ้าครั้งนี้บางส่วนเปลี่ยนมาเลือก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คะแนนที่เสียไปก็จะเป็นเฉพาะผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้นเพราะชัชชาติไม่ได้ส่ง ส.ก. ดังนั้น ฐานคะแนน ส.ก.ไม่ได้ถูกฉีกออกไปแต่อย่างใด

ส.ก.จากพรรคก้าวไกลจึงได้เปรียบสูงสุดในขณะนี้ ถ้าจะมีจุดอ่อนก็เกิดขึ้นเพราะจุดอ่อนของตัวบุคคลซึ่งพรรคคัดเลือกมาลง ส.ก. ถ้าเป็นคนที่ชาวบ้านไม่ชอบอันนี้ก็ช่วยไม่ได้

 

2.พรรคเพื่อไทย ไปตามกระแส

เหมือนเรือสำเภาลำใหญ่ที่ใช้กระแสลม ตอนนี้ลมทักษิณ ชินวัตร ยังหนุนต่อเนื่อง

กำลังขาประจำใน กทม.ไม่น้อยกว่า 5-6 แสน

ส.ส. 9 คนของเพื่อไทย เหลือ 7 คน คุมพื้นที่ 14 เขต

มองย้อนหลังการเลือกตั้ง 2562 ใน กทม. ถ้าพรรคเพื่อไทยส่งครบทุกเขตคะแนนไม่น่าจะน้อยกว่าพรรคอนาคตใหม่ หรืออาจจะมากกว่าเล็กน้อย แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ที่กลายเป็นพรรคก้าวไกลต่อเนื่องกันมา 2 ปีกว่า ถ้าให้ประเมินคร่าวๆ ขณะนี้ฐานคะแนนของสองพรรคนี้ใน กทม.ใกล้เคียงกันมาก

จุดอ่อนของเพื่อไทยคือไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ กทม.ที่สมัครในนามพรรคเพื่อไทย แม้ชัชชาติเคยอยู่เพื่อไทยมาก่อน แต่แยกออกมานานแล้ว มีทีมงานหาเสียง นโยบาย คิดเองทำเองหมด จึงไม่ประสานกันเหมือนพรรคที่ส่งเป็นทีมเดียว

แม้ตอนนี้ตามผลสำรวจชัชชาติมีคะแนนนำ แต่ก็เกิดปัญหากับทีมงาน ส.ก.เพื่อไทย ที่ไม่สามารถนำชัชชาติมาช่วยหาเสียง

อันที่จริงในสภาพการเมืองปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องมาอ้างว่าชัชชาติคือพวกเดียวกันเพราะฝ่ายตรงข้ามพยายามโจมตีอยู่แล้วว่าเป็นพวกเดียวกัน ตอนนี้ต้องเชื่อมั่นการพิจารณาเลือกของประชาชน ว่าพวกเขาจะเลือกอย่างเหมาะสมอยากได้ผู้ว่าฯ แบบไหนและ ส.ก.แบบไหน

การตามกระแสผู้ว่าฯ ที่มีคะแนนนำเป็นเรื่องปกติไม่เพียงแต่ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย แม้แต่ ส.ก.อิสระหลายคนก็บอกว่าสนับสนุนชัชชาติ และในการเลือกตั้งพร้อมกันครั้งนี้ ถึงอย่างไร ส.ก.อิสระและสังกัดพรรคทั้งหลาย ก็ต้องบอกประชาชนว่าจะสนับสนุนใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.

ดังนั้น ส.ก.ของเพื่อไทยก็สามารถประกาศอย่างชัดเจนได้ว่าสนับสนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพราะยังไงก็ไม่มีตัวเลือกอื่น ก้าวไกลก็มีผู้ว่าฯ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ก.ไทยสร้างไทยมีผู้ว่าฯ ศิธา ทิวารี ปชป.มีผู้ว่าฯ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ มีผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ทุกกลุ่มล้วนแต่มีผู้ว่าฯ ของตนเอง จะให้ไปสนับสนุนสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งเป็น กปปส. ที่อยู่คนละขั้วก็เป็นไปไม่ได้ ถ้า ส.ก.เพื่อไทยไม่สนับสนุนชัชชาติจึงจะเป็นเรื่องผิดปกติ

คนกลุ่มที่เคยเลือกเพื่อไทย ส่วนใหญ่น่าจะเลือกทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. แต่ถ้าเป็นคนที่ขนาดชัชชาติยังไม่เลือก ก็ไม่น่าจะเลือกเพื่อไทยอยู่แล้ว คนกลางๆ ส่วนหนึ่งที่ไม่เคยเลือกเพื่อไทยแต่หันมาเลือกชัชชาติ อาจจะเลือก ส.ก.เพื่อไทย หรือเลือก ส.ก.อื่นก็ได้ เช่น ก้าวไกล ไทยสร้างไทย หรือ ส.ก.อิสระ

พรรคเพื่อไทยประเมินจำนวน ส.ก.ที่จะได้รับเลือกว่าได้ไม่ถึงครึ่งของ 50 เขต เพราะคะแนนจะต้องแบ่งกันไปตามพื้นที่ กับก้าวไกล ปชป. และพลังประชารัฐ และยังจะมาถูกแบ่งไปให้ไทยสร้างไทยของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเคยอยู่ในเพื่อไทยมาก่อน หลายเขตจะได้แค่ที่ 2

การแพ้แม้เพียงเล็กน้อยก็คือแพ้ไม่ได้ ส.ก. ดังนั้น จึงประเมินกันไว้ว่าน่าจะได้ 1 ใน 3 คือประมาณ 17 เขต

 

3.พรรคพลังประชารัฐ ต้องพายงัด ตลอดทาง

ชื่อเสียงตก อาศัยกระแสไม่ได้มีแต่ติดลบ เหมือนเรือโดนคลื่น ต้องออกแรงพาย ต้องลงทุน

ส.ส. 12 คนของพลังประชารัฐ คุมพื้นที่อยู่ 23 เขต ได้ ส.ก.เก่ามาช่วยบ้าง

ความแตกแยกทางการเมืองภายในพรรค และการที่ผู้ว่าฯ อัศวินลงสมัครแบบอิสระและมี ส.ก. ของกลุ่มรักษ์กรุงเทพลงมาแข่งด้วย ในสภาพที่กระแสความนิยมของตัวนายกรัฐมนตรีและของรัฐบาลตกต่ำพรรคพลังประชารัฐจะหาเสียงลำบากมาก

แต่การมี ส.ส.มากที่สุดใน กทม.ถึง 12 คน และมีคะแนนเกือบ 800,000 บังคับให้พรรคพลังประชารัฐต้องส่งผู้สมัคร ส.ก. ทั้งที่ไม่ได้มีความพร้อมอะไรที่จะทำได้ถึง 50 เขต

การไม่มีใครยอมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามของพรรคก็ชี้ชัดอยู่แล้ว

แต่คะแนนรวมที่ได้จาก ส.ก.ทั้ง 50 เขต ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าพลังประชารัฐจะอยู่รอดใน กทม.ต่อไปได้หรือไม่ ถ้ารวมแล้วยังมีหลายแสนก็นับว่ายังพอมีโอกาส

ประเมินว่าจะได้ ส.ก.น้อยกว่าไทยสร้างไทย

ครั้งนี้ต่อให้ลงทุนไปมากก็ไม่คุ้ม เพราะคะแนนจะถูกดึงหายโดยประยุทธ์ และถูก ปชป.ดึงกลับ แถมยังมีผู้ว่าฯ อัศวินมาดักแย่งไปอีก

 

4.พรรคประชาธิปัตย์ โรคซ้ำ กรรมซัด

แม้ ปชป.จะไม่มี ส.ส.มาคุมพื้นที่ กทม.เลยหลังการเลือกตั้ง 2562 แต่มี ส.ก.เก่า 20 คน

ความขลังทางอุดมการณ์เสื่อมลง ขาประจำ 4.7 แสน เป็นความหวังสุดท้าย

ประชาธิปัตย์เคยเป็นแชมป์ สภา กทม.มายาวนาน เคยมี ส.ก.ของประชาธิปัตย์ถึง 45 คน ในขณะที่เพื่อไทยมี 15 คนและอิสระ 1 คน เมื่อกระแสตก อดีต ส.ก.ของประชาธิปัตย์ก็ย้ายไปลงพรรคอื่นถึง 25 คนกระจายไปอยู่ทุกพรรค แต่ยังคงอยู่กับประชาธิปัตย์ 20 คน

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคอื่นๆ จึงมี ส.ก.เก่าพรรคละ 5-7 คนเท่านั้น

การส่งสมัครผู้ว่าฯ กทม.และส่ง ส.ก.ครบทั้ง 50 เขต ถือเป็นแบบฟอร์มตามมาตรฐานของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะพยายามออกตัวให้ดูยิ่งใหญ่ แต่พอผ่านไป 1 เดือน คะแนนก็ยังอยู่คงกับที่ จากเดิมที่ใครๆ ก็คาดการณ์ว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของ ดร.ชัชชาติ

มาถึงวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์เองก็มีผลกระทบจากเรื่องต่างๆ เข้ามา หลายเรื่องทำให้ขณะนี้สถานการณ์กลายเป็นไม่แน่ไม่นอนว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ จะช่วยดึงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ก. หรือ ส.ก.ต้องช่วยหาคะแนนให้ผู้ว่าฯ

แต่เป้าหมายของพรรค ปชป.ยังคงเป็นการฟื้นฐานคะแนนเสียงใน กทม.ซึ่งวางน้ำหนักไว้ที่ ส.ก.เขตต่างๆ อดีต ส.ก.และอดีต ส.ส. กทม. ก็ต้องทุ่มเทหาวิธีการช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ก.ในเขตพื้นที่ที่ตัวเองดูแลอยู่ ถ้ามีฐานจัดตั้งไว้ดี ก็ยังมีโอกาสได้รับชัยชนะในครั้งนี้เพราะทุกกลุ่มมีคะแนนเสียงตัด

ในสถานการณ์ที่กระแสพรรคตกต่ำ ถ้าคนออกมาลงคะแนนมาก อดีต ส.ก.ก็ไม่สามารถระดมเสียงจัดตั้งมาสู้ได้ แต่ถึงผู้ว่าฯ แพ้ ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สูญพันธุ์แต่จะได้ ส.ก. บ้างประเมินว่าอาจมีโอกาสชนะแค่ 8 เขต

ก่อนเกิดข่าวที่มีผู้ฟ้องร้อง ผอ.เลือกตั้ง กทม. ของประชาธิปัตย์ นักวิเคราะห์บางส่วนยังประเมินว่าคะแนน ดร.เอ้อาจจะสูงกว่าผู้ว่าฯ อัศวินก็ได้ เพราะฐานคะแนนของ ปชป.ใน กทม.ที่ยังจงรักภักดีต่อแบรนด์ของพรรคมีจำนวนไม่น้อย

แต่หลังจากข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มไม่ค่อยแน่ใจกันแล้ว

ความเห็นของทีมวิเคราะห์นั้นมองว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว ของ ผอ. การเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องของ ดร.เอ้ แต่ตอนนี้ผู้ที่เดือดร้อนจากข่าวนี้กลายเป็นผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องคอยแก้ข่าวตอนออกไปเดินหาเสียงในพื้นที่

ปัญหาของ ปชป.คือ แพ้ได้ แต่ถ้าแพ้ย่อยยับจะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศ ยังไงก็ต้องออกแรงสู้ตาย กรณี ปชป. อาจบอกได้ว่า…กรรมซัด แต่ผู้สมัครอิสระ ที่ออกนำ 2 คน ไม่ใช่เรื่องเวรกรรมต้องวิเคราะห์ต่อตอนหน้า