กาง 4 มาตรการ 8 วิธี แก้ ‘หนี้ครู’ จริงจัง หรือแค่หาเสียง?? / การศึกษา

การศึกษา

 

กาง 4 มาตรการ 8 วิธี แก้ ‘หนี้ครู’

จริงจัง หรือแค่หาเสียง??

 

“หนี้ครู” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะไม่ว่ากี่รัฐบาลต่อกี่รัฐบาลที่ผ่านมา พยายามจะหาหนทางในการแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนทุกครั้งจะจบลงแบบเดิมๆ บรรดาครูยังคงมีหนี้มีสินมากมาย และจำนวนครูที่กู้หนี้ยืมสิน ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง

ซึ่งทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศนโยบายจะแก้ไขปัญหาหนี้สินครู “นโยบาย” เหล่านั้น ถูกมองเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่รัฐบาลใช้ในการ “หาเสียง” กับครูในช่วงที่กำลังจะหมดวาระ หรือใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่

โดยขณะนี้ประเทศไทยมีครูที่มีหนี้สินมากกว่า 9 แสนราย มูลค่าหนี้รวมกันมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท

เฉลี่ยครูมีหนี้สินคนละประมาณ 1 ล้านบาท…

ทั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เป็นอีกหนึ่งรัฐบาล ที่ได้ประกาศแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูมาเป็นระยะๆ กระทั่งปี 2565 ได้ประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดูแลแก้ไขปัญหานี้สินประชาชนรายย่อย ซึ่งไม่เฉพาะหนี้สินครูเท่านั้น แต่รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการส่วนอื่นๆ ด้วย

จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงที่ผ่านมาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธนกร วังบุญคงชนะ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอใจความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับกระทรวง ภายใต้แนวทางการลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้ลดลง

รวมถึงกำหนดแนวทางขับเคลื่อนในเฟสแรก ด้วยการลดดอกเบี้ย โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เข้าร่วม!!

 

สําหรับแนวทางขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในเฟสแรกของ ศธ.มี 4 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 ลดดอกเบี้ย โดยเปิดโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครูรายใหญ่เข้าร่วม ที่ขณะนี้มี 70 แห่ง จาก 108 แห่ง เข้าร่วมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่ 0.05-1.0% และมี 11 แห่ง ลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่า 5% โดยมีครูได้รับประโยชน์ทันทีกว่า 4.6 หมื่นราย และจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเฟสถัดไป

นอกจากนี้ รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จะทำหน้าที่คนกลางประสานขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน เพื่อชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มครู ที่คาดว่ามีครูได้รับประโยชน์กว่า 2.5 หมื่นราย

มาตรการที่ 2 พิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้อย่างเคร่งครัด โดยยอดหนี้รวมทั้งหมดของผู้กู้ต้องไม่เกินกว่า 70% ของรายได้ เพื่อให้ครูมีเงินใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน

โดย ศธ.จะร่วมมือกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) สร้างระบบ และเชื่อมโยงหนี้รายบุคคล เพื่อให้ทราบข้อมูลหนี้ครูรายคนสำหรับการบริหารจัดการ และไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน ซึ่งเครดิตบูโรสนับสนุนให้ ศธ.ใช้ระบบได้ฟรี หากตรวจพบว่าครูที่ต้องการกู้เงินเพิ่มเติม มีหนี้รวมมากกว่า 70% ของเงินเดือน จะไม่ได้รับอนุมัติให้กู้เพิ่ม

มาตรการที่ 3 จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา 481 แห่ง และระดับจังหวัด 77 จังหวัด รวม 558 สถานี โดยดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือหัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางแก้หนี้ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนราชการ และสถาบันการเงิน จัดทำระบบข้อมูล ปรับปรุง กำหนดมาตรการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ รับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครู และผู้ค้ำประกัน

ส่วนสถานีแก้หนี้ครู ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน กำกับดูแลในภาพรวมของจังหวัด บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัด ช่วยเหลือสถานีแก้หนี้ตามที่ได้รับการร้องขอ

และมาตรการที่ 4 ให้ความรู้ด้านการเงินแก่ครู โดยประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครูวางแผนการเงิน และมีระเบียบวินัยในการใช้จ่ายได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น!!

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการจัดตั้ง “สถานีแก้หนี้ครู” ทั่วประเทศ 558 สถานี ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ระหว่างสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ดูเหมือนจะเป็นลูกเล่นใหม่ล่าสุดที่ ศธ.งัดออกมาใช้ เพื่อให้ครูที่มีหนี้สิน และต้องการเข้าสู่กระบวนการแก้หนี้

โดย ศธ.ได้เปิดตัวโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ามาลงทะเบียน เข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และจนถึงกลางเดือนมีนาคม มีครูเข้าไปลงทะเบียนแล้วกว่า 4.1 หมื่นราย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ทางสะดวกมากยิ่งขึ้น ศธ.ได้หาแนวทางแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อ “ปลดล็อก” ข้อจำกัดต่างๆ

หลังประมวลผลข้อมูลแล้ว ศธ.จะส่งข้อมูลไปที่สถานีแก้หนี้ครู เพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ก่อนจะเชิญลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน มาให้ข้อมูลครูรายบุคคล ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์

ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูจะวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคลเชื่อมโยงเครดิตบูโร โดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะเปิดระบบเชื่อมต่อข้อมูลกับแอพพลิเคชั่น ทำให้ขอข้อมูลเครดิตบูโรแบบย่อของลูกหนี้ได้ฟรีๆ

อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสนับสนุนโปรแกรมคำนวณเงินกู้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้สถานีแก้หนี้ครูใช้ข้อมูลควบคุมยอดหนี้ทั้งหมดของผู้กู้ ไม่ให้มากกว่า 70% ของรายได้ เพื่อให้ครูมีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน

จากนั้นสถานีแก้หนี้ครูจะเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินของรัฐ ที่เป็นเจ้าหนี้ทุกราย รวมทั้งเชิญลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันทุกคน มาเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อหาข้อยุติ

เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว เจ้าหนี้ และลูกหนี้ รวมทั้งผู้ค้ำประกัน จะต้องทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถานีแก้หนี้ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการดำเนินการตามข้อตกลงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

โดยจะต้องรายงานข้อมูลรายบุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือในระบบออนไลน์ และสรุปรายงานรอบเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ต่อต้นสังกัด คณะกรรมการแก้หนี้สินครูจังหวัด และคณะกรรมการแก้หนี้ ศธ.!!

 

นอกจากนี้ ศธ.ยังคลอดวิธีปรับโครงสร้างหนี้ 8 วิธี ดังนี้

1. ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปเพื่อให้ค่างดวลดลง

2. พักชำระเงินต้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 6 เดือน หรือ 12 เดือน

3. ลดอัตราดอกเบี้ยที่เคยตกลง หรือกำหนดไว้ในสัญญาเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย

4. ยก หรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดที่ผ่อนเข้ามาสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้น

5. เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และสำรองไว้ยามฉุกเฉิน

6. เปลี่ยนประเภทหนี้ จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า

7. ปิดจบจ่ายหนี้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ถ้ามีเงินก้อน

และ 8. รีไฟแนนซ์ปิดสินเชื่อจากเดิม เพื่อใช้สินเชื่อที่ใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า

ต้องรอดูว่า การแก้ปัญหาหนี้สินครูในครั้งนี้ จะจริงจังแค่ไหน ได้ผลหรือไม่ หรือท้ายที่สุด เป็นแค่นโยบายหาเสียงกับครู เหมือนที่ผ่านๆ มา!! •