ศัลยา ประชาชาติ : ขุนคลัง “อภิศักดิ์” ข้องใจแบงก์ชาติ “ทำไม…ไม่ลองลดดอกเบี้ย” หลังกระตุ้น ศก. หมดหน้าตัก

“ในเมื่อมีเครื่องมือทางการเงินอยู่ ทำไมแบงก์ชาติจึงไม่ลองใช้ดู จะไปบอกแต่ว่าทำแล้วไม่ได้ผล รู้ได้ยังไง เพราะยังไม่เคยลองทำ”

นี่คือประโยคคำพูดส่วนหนึ่งของ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive กับทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา

โดยขุนคลังออกตัวว่าเป็นข้อเสนอจากนักวิชาการบางส่วนที่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยเศรษฐกิจ และบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาท

แม้ว่า “อภิศักดิ์” จะย้ำตลอดเวลาว่า การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของทาง ธปท. กระทรวงการคลังไม่อาจไปก้าวก่ายได้ แต่ก็โยนคำถามออกมาว่า ธปท. ได้ทำหน้าที่ในเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง

“แบงก์ชาติจะใช้มาตรการอะไร เขาก็เป็นคนคิด เพราะว่าเป็นอำนาจของเขา ในการดูแลนโยบายการเงิน อยู่ที่ว่าเขาทำหรือยัง อย่างเรื่องการแทรกแซงก็ไม่ดี ทำแล้วมีต้นทุน แต่ก็ต้องทำเพื่อองค์รวม” นายอภิศักดิ์กล่าว

 

ขณะที่ในฟากนโยบายการคลังนั้น นายอภิศักดิ์ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ทำทุกอย่างเท่าที่จะช่วยได้ แม้ว่าบางเรื่องจะเป็นเรื่องที่ไม่อยากทำก็ตาม อย่างเช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

ล่าสุดคลังก็เพิ่งมีมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการอนุญาตให้นิติบุคคลต่างชาติมาออกพันธบัตรสกุลเงินบาท (บาทบอนด์) ในประเทศไทย โดยยอมให้มีการแลกเป็นเงินตราต่างประเทศนำออกไปนอกประเทศไทยได้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จากเดิมให้มีการออกบาทบอนด์ แต่ระดมทุนแล้วต้องใช้จ่ายเป็นเงินบาทเท่านั้น

“การผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องบาทบอนด์คราวนี้ ทำเป็นรอบพิเศษ จากปกติที่เปิดให้ขออนุญาตปีละ 2 ครั้ง โดยรอบนี้จะอนุญาต 6 เดือน ไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561” นายอภิศักดิ์กล่าว

รมว.คลัง ยอมรับว่า มีความกังวลกับสถานการณ์แข็งค่าของเงินบาท ที่แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งขันทางการค้า เพราะทำให้กระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อย และผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิต

“การที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศคู่แข่งขันทางการค้า จะทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ หากเป็นเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนแล้วทำให้เงินบาทแข็งค่า แบบนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่เงินบาทก็ควรแข็งค่าในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ไม่ใช่แข็งค่ากว่าคนอื่นเหมือนขณะนี้ ซึ่งก็มีบริษัทต่างๆ มาบ่นว่าทำไมไม่ดูแล ผมก็บอกว่าคนดูแลจริงๆ ก็คือแบงก์ชาติ คลังไปคุมเขาไม่ได้”

นายอภิศักดิ์ระบุ

 

นายอภิศักดิ์อธิบายด้วยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ก็คือ ประเทศไทยมีการค้าขายเกินดุลอยู่ทุกเดือน ขณะเดียวกันก็มีเงินทุนไหลเข้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เริ่มเห็นผลชัดขึ้น โดยมีการเปิดประมูล และเริ่มก่อสร้างแล้ว

รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เห็นชัดขึ้น โดยกำลังจะมีกฎหมายออกมา ส่วนด้านการคลังประเทศก็มีความมั่นคง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง

เมื่อถูกถามถึงแนวทางการ “ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท นายอภิศักดิ์ยอมรับว่ามีข้อเสนอจากนักวิชาการบางส่วนที่มองว่า ในเมื่อมีเครื่องมือทางการเงินอยู่ ทำไม ธปท. จึงไม่ลองใช้ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยลองทำ

“เหมือนตอนสหรัฐจะทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็มีแต่คนบอกว่า ในทางทฤษฎีบอกทำไม่ได้ อยู่ดีๆ ปั๊มเงินออกมาเท่าไหร่ก็ได้ ลดดอกเบี้ยจนติดลบ เป็นไปไม่ได้ แต่อเมริกาก็เริ่มทำมา เพราะไม่มีทางออก ไม่มีทางเลือก แล้วก็ได้ผลพอสมควร ฉะนั้น นักวิชาการเหล่านั้นก็เลยบอกว่าในเมื่อไม่เคยลอง แล้วรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่ได้ผล”

สำหรับ การลดดอกเบี้ยจะทำให้เกิดผล 2 ส่วน ทั้งเป็นการใช้นโยบายการเงินช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แทนที่จะปล่อยให้นโยบายการคลังทำงานอย่างเดียวเหมือนกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ความเสี่ยงทางการเงินก็ต่ำ เพราะขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยกระตุ้นให้เงินเฟ้อกลับเข้าไปอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ด้วย

และที่สำคัญ มองกันว่า ถ้าลดดอกเบี้ยจะเป็นการส่งสัญญาณให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป

“กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่แบงก์ชาติตกลงกับกระทรวงการคลังไว้ ปีที่แล้วก็หลุดกรอบ ปีนี้ก็ทำท่าว่าจะหลุดกรอบอีก จึงมีคำถามว่าถ้าเงินเฟ้อหลุดกรอบแบงก์ชาติได้ทำอะไรบ้าง ทำอะไรแล้วหรือยัง หรือจะต้องทำอะไรไหม แต่ทาง ธปท. ก็บอกว่า เงินเฟ้อต่ำไม่ใช่ปัญหา ถ้าเงินเฟ้อสูงต่างหากจึงจะเป็นปัญหา ซึ่งก็มีคำถามอีกว่าถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะกำหนดกรอบเงินเฟ้อด้านต่ำไว้ทำไม ซึ่งเรื่องก็ต้องไปถามแบงก์ชาติเอง” นายอภิศักดิ์กล่าว และว่า

แนวคิดของ ธปท. ในเรื่องการลดดอกเบี้ยมองว่าลดดอกเบี้ยไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดีขึ้น ส่วนประเด็นอัตราเงินเฟ้อ ที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินนั้น ทาง ธปท. ก็บอกว่า เกิดจากฝั่งซัพพลาย คือ สินค้าราคาถูกลง ไม่ใช่เกิดจากฝั่งดีมานด์หรือคนไม่ใช้

“แนวคิดขณะนี้มี 2 ฝั่ง แต่จะออกมาฝั่งไหนก็ตาม คนตัดสินใจคือ ธปท. เพราะเขาเป็นคนคุมนโยบาย (การเงิน) ซึ่งของอย่างนี้ ไม่มีทางรู้หรอกว่าจะถูกหรือผิด จนกระทั่งทำไปแล้วถึงจะรู้ ซึ่งในฐานะของกระทรวงการคลัง คงเข้าไปยุ่งกับนโยบายการเงินได้ ด้วยมารยาทคงไม่ไปยุ่ง คือ คุยได้ บอกว่าคนอื่นคิดอย่างนี้ คุณคิดอย่างไร แต่ถ้าเขาไม่เชื่อ ยืนยันอย่างนั้น คลังก็คงไม่ไปบอกว่าคุณต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้” นายอภิศักดิ์กล่าว

 

ในมุมของขุนคลังอภิศักดิ์ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลภาวะเศรษฐกิจภาพรวม แม้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะไม่ถึงขั้นเป็นอุปสรรค

แต่ก็มองว่าหากนโยบายการเงินช่วยสนับสนุนด้วย จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากยิ่งขึ้น

“ถ้ามีกำลังหนุนหน่อยก็ดี เราก็จะได้วิ่งเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่หนุน ก็ไม่เป็นไร เราก็เดินของเราได้”

ขุนคลังกล่าวทิ้งท้ายในที่สุด