นโยบาย ‘กทม.’ ทำได้จริง? / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

นโยบาย ‘กทม.’ ทำได้จริง?

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีความรู้สึกว่าคึกคักและมีสีสันมากทีเดียว

ดูแค่ป้ายหาเสียงก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงเป็นเรื่องเป็นราว

หรืออาจเป็นเพราะคน กทม.ไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิกาบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นเวลานาน 9 ปี นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และหัวหน้า คสช.สั่งปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ออกไป แต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ทำหน้าที่แทน คน กทม.จึงอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จับต้องได้

สถิติน่าสนใจผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คราวนี้มีถึง 31 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว 10 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ชาย 26 คน ผู้หญิง 5 คน อายุมากที่สุด 72 ปี น้อยที่สุด 43 ปี แต่สังกัดพรรคเพียง 5 คน นอกนั้นลงในนามอิสระ

ตั้งแต่ปี 2516 กทม.มีผู้ว่าฯ มาแล้ว 16 คน มาจากการแต่งตั้ง 9 คน อีก 7 คนมาจากการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ชาวกรุงเทพฯ มีโอกาสใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 8

จากการติดตามดูสื่อต่างๆ พบว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ลงพื้นที่หาเสียง มีการประกาศนโยบายเป็นจริงเป็นจังเพียงไม่กี่คน นอกนั้นดูเหมือนแทบไม่มีความเคลื่อนไหว

หรือผู้สมัครเหล่านั้นตะลุยหาเสียงเหมือนกันแต่ไม่ได้แจ้งสื่อ

 

สื่อออนไลน์หลายสำนักดึงข้อมูลของ “Rocket Media Lab” ซึ่งเป็นเว็บรวบรวมนโยบายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตมาจำแนกให้เห็นว่า นโยบายหาเสียงตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2518 มาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 แทบไม่ต่างกันเลย

ข้อมูลของ Rocket Media Lab บอกว่า นโยบายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ลงเลือกตั้ง 7 ครั้ง มีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ปัญหาจราจร คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

เรื่องของการแก้ปัญหาจราจร ผู้สมัครในอดีตส่วนใหญ่ชูนโยบายสร้างถนน สะพานข้ามทางแยก ปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจร รองรับกับปริมาณรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

ผู้สมัครบางราย นอกจากเสนอให้สร้างสะพานลอยข้ามแยกแล้วยังสนับสนุนสร้างที่จอดรถและสะพานลอยคนข้ามให้มากขึ้นด้วย กระทั่งมาปี 2533 ยุค พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.เสนอให้สร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ต่อมา กทม.ได้ให้สัมปทานกับบริษัทบีทีเอส

สมัยนั้น พล.ต.จำลองเสนอให้เก็บค่าตั๋วโดยสารตลอดสาย 15 บาท เพื่อช่วยเหลือชาว กทม.ที่มีรายได้น้อย

แต่หลังจากนั้นปรากฏว่าเส้นทางเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสขยายเพิ่มขึ้น ราคาก็พุ่งกระฉูดตามโซนที่ปัจจุบันมี 4 โซน

แค่โซนแรกจากหมอชิตถึงสะพานตากสิน ค่าตั๋วกระโดดเป็น 44 บาท ตลอดสาย 65 บาท เป็นราคาไม่ใช่เพื่อมวลชน แต่ขูดเลือดขูดเนื้อมวลชนมากกว่า

 

เคยพูดคุยกับอดีตรัฐมนตรีคมนาคม เรื่องต้นทุนรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ระยะสัมปทาน 30 ปี เก็บแค่ 30 บาทตลอดสายก็คุ้มแล้ว

ส่วนระยะเวลาที่เหลือควรจัดสรรเป็นสวัสดิการราคาถูกให้กับชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพราะเป็นบริการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสูงมากช่วยลดการแออัดการจราจร ลดมลพิษในอากาศ

อดีตรัฐมนตรีท่านนั้นยังเสนอให้ปรับเปลี่ยนลดราคาในช่วงเวลาการเดินทาง เช่น ช่วงเช้า เป็นเวลาทำงาน ราคาต่างกับช่วงเที่ยงหรือบ่าย หรือช่วงหัวค่ำ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้โดยสาร

การสนับสนุนให้คน กทม.เลิกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหันไปขึ้นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเท่ากับช่วยลดงบประมาณที่จะนำไปจัดสรรการแก้ปัญหาจราจร และอากาศเป็นพิษ

ถ้าราคาค่าโดยสารขนส่งมวชชนถูกลง คน กทม.หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้น ปัญหาการจราจรจะลดน้อยลง อากาศ กทม.สะอาดขึ้น

 

การเลือกผู้ว่าฯ กทม.คราวนี้ มีผู้สมัครอย่างน้อย 4 คนเสนอให้ปรับลดราคาค่าโดยสารบีทีเอส อย่างคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล ชูราคาเฉลี่ย 15-45 บาทตลอดสาย

คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอราคาบีทีเอสตลอดสาย 20-25 บาท

คุณรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ บอกว่าราคาไม่ควรเกิน 40-45 บาท

ส่วนคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระอีกคน ชี้ว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 2572 ราคาค่าโดยสารไม่น่าเกิน 25-30 บาท

 

กลับไปที่ข้อมูลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตของ Rocket Media Lab ระบุว่า มีผู้สมัครไม่กี่คนให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถเมล์ เรือ ทั้งที่เป็นการเดินทางที่เข้าถึงคนจำนวนมาก ราคาถูกและเข้าถึงพื้นที่มากกว่ารถไฟฟ้า

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หันมาชูนโยบายการขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น อย่างเช่น คุณสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ เสนอเชื่อมต่อระบบ “ล้อ ราง เรือ” ในราคาจับต้องได้ ยังเสนอให้จัดมินิบัสพลังงานไฟฟ้าบริการหมู่บ้านขนาดใหญ่ไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียง

หรือคุณชัชชาติชูประเด็นให้เรือเป็นตัวเชื่อมต่อการเดินทาง เสนอให้ทำท่าเรือเข้าสะดวก รวมถึงการเพิ่มรถเมล์สายหลัก สายรองในราคาถูกราคาเดียว

คุณสุชัชวีร์เสนอไอเดียเรื่องรถเมล์ใน กทม.ปรับให้เป็นรถเมล์วิ่งระยะสั้นๆ วิ่งบ่อยๆ ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน ราคาถูก 10-12 บาทต่อเที่ยว

 

ในประเด็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยสวนสาธารณะและปลูกต้นไม้ ข้อมูลของ Rocket Media Lab บอกว่าเป็นนโยบายที่นำมาหาเสียงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2518 คุณธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรก เสนอให้สร้างสวนสาธารณะ และได้สร้างสวนจตุจักรในเวลาต่อมา

น่าสังเกตว่า นับจากยุคคุณธรรมนูญจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 47 ปี สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวใน กทม.ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งกำหนดให้แต่ละเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียว ในสัดส่วน 9 ตารางเมตรต่อคน ทั้งที่ๆ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกยุคต่างชูนโยบายนี้เหมือนๆ กัน

ปัจจุบัน ถ้านับรวมประชากรใน กทม.ทั้งที่มีสำมะโนครัวและประชากรแฝง คาดว่ามีราว 10 ล้านคน เทียบกับพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะจำนวน 22,134 ไร่ สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคน

ระยะเวลาผ่านมาครึ่งศตวรรษ นโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลับไม่มีผลสำเร็จให้จับต้องได้?

มาคราวนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คุยว่า จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคน

คุณวิโรจน์บอกว่า จะหาพื้นที่สาธารณะใน กทม.เพิ่มคงเป็นไปได้ยาก เสนอให้เช่าพื้นที่ราชพัสดุของกองทัพบก หรือจูงใจเอกชนเปลี่ยนที่รกร้างมาเป็นที่สาธารณะด้วยมาตรการทางภาษี

คุณชัชชาติเสนอให้ปลูกต้นไม้ 1 ล้านตัน ทำสวนสาธารณะขนาดเล็กให้คนเดินเข้าถึงในระยะ 15 นาทีทั่ว กทม. ใช้มาตรการทางภาษีที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกับเอกชน

ฝ่ายคุณสุชัชวีร์ชูประเด็นเปลี่ยนพื้นที่รกร้างมาเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม ใช้วิธีลดภาษีให้เจ้าของที่ดินเอกชน เช่นเดียวกับคุณสกลธีเสนอแนวคิดสวนขนาดเล็ก หรือ pocket park เอาพื้นที่รกร้างของ กทม.มาเป็นสวน ไม่จำเป็นต้องเป็นสวนขนาดใหญ่

ผมมีความเชื่อเหมือนผลสำรวจของนิด้าโพลที่ระบุว่า ชาวกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายของผู้สมัครเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ รองลงมาดูคุณสมบัติและชื่อเสียงของผู้สมัคร

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ชี้ขาดว่า ใครใน 31 คนจะคว้าชัยเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ และเอานโยบายที่ประกาศไว้มาทำจนเห็นผลจริง? •