ก ข ค แห่งสุวรรณภูมิ (๑)

ครูบาอาจารย์วิชาภาษาไทยมักจะสอนนักเรียนอย่างภาคภูมิใจว่า ประเทศไทยมีอักษรไทยเป็นของตนเอง

บางคนเลยเถิดไปถึงกับกล่าวว่า ประเทศอื่นบางประเทศยังไม่มีอักษรเป็นของตนเองเลย

การกล่าวเช่นนี้เป็นการเข้าใจสับสนระหว่างประเทศกับภาษา เพราะ ๒ อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ประเทศบางประเทศอาจจะมีประชาชนที่ใช้ต่างภาษากันอยู่ร่วมกันก็ได้ และถึงแม้จะกล่าวว่า ประเทศไทยมีอักษรเป็นของตนเอง ก็ยังกล่าวอย่างผิวเผิน เพราะตัวอักษรไทยกว่าที่จะมีรูปร่างดังทุกวันนี้ก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ในครั้งนี้จึงต้องขอนำความรู้จาก รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม มาเล่าสู่กันฟัง

ดังนี้

ตัวอักษรที่พบในประเทศไทยมีพัฒนาการมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ก่อนที่ระบบการพิมพ์จะเข้ามายุติการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตัวอักษร อาจจำแนกตามระยะเวลาของการใช้และพัฒนาการของตัวอักษรได้ ๔ ช่วง ดังนี้

๑. ช่วงการใช้อักษรแบบอินเดียใต้ (อักษรปัลลวะ)

ช่วงนี้เป็นช่วงแรกใช้เวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ หรืออาจถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ที่มีการใช้อักษรแบบอินเดียใต้หรือที่เรียกชื่อกันทั่วไปว่า อักษรปัลลวะ ในอาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย และเจินละ

๒. ช่วงคลี่คลายจากอักษรปัลลวะ

ช่วงที่ ๒ นี้เกิดขึ้นภายหลังการใช้อักษรปัลลวะ ตัวอักษรเริ่มคลี่คลายเปลี่ยนแปลง รูปแบบไปจากเดิม แต่ลักษณะโดยรวมและอักขรวิธียังเหมือนอักษรปัลลวะอยู่ จึงเรียกอักษรในช่วงที่ ๒ นี้ว่า อักษรหลังปัลลวะ อักษรแบบนี้ใช้ในระยะเวลาร่วม ๓๐๐ ปี ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ พบใช้ในอาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย และเจินละ

๓. ช่วงอักษรของแต่ละอาณาจักร (อักษรขอมโบราณ, อักษรมอญโบราณ และอักษรกวี)

ช่วงที่ ๓ นี้เป็นช่วงที่แต่ละอาณาจักรที่เคยตั้งอยู่หรือมีอาณาเขตบางส่วนในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบอักษรหลังปัลลวะให้เป็นอักษรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละอาณาจักร

ได้แก่ อาณาจักรขอมสมัยพระนครซึ่งต่อเนื่องมาจากอาณาจักรเจินละได้พัฒนาอักษรหลังปัลลวะเป็น อักษรขอมโบราณ ซึ่งพบหลักฐานการใช้อักษรขอมโบราณ ในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๙

ตัวอักษรชนิดที่ ๒ ที่พัฒนาไปจากอักษรหลังปัลลวะคือ อักษรกวี ของอาณาจักรศรีวิชัย

ตัวอักษรชนิดที่ ๓ ที่อาจพัฒนาไปจากอักษรหลังปัลลวะ คือ อักษรมอญโบราณ ของอาณาจักรหริภุญชัย รวมเวลาของพัฒนาการช่วงที่ ๓ ประมาณ ๕๐๐ ปี คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙

คราวหน้าจะกล่าวถึงพัฒนาการในช่วงที่ ๔