ปรางค์เขาปู่จ่า ร่องรอยของวัฒนธรรมการนับถือหินในศาสนาผี ก่อนเกิดรัฐสุโขทัย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในแวดวงของโบราณคดี และวิชาประวัติศาสตร์ศิละในไทยนั้น มักจะอธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า อะไรที่เรียกว่า “ปรางค์เขาปู่จ่า” นั้น ตั้งอยู่บนเขาลูกโดดเตี้ยๆ ในเขต ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย

ตัวเขาลูกนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยราว 13 กิโลเมตร โดยถือได้ว่าเป็นเขาที่อยู่เป็นปริมณฑลของ “เขาหลวง” ที่ถือได้ว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองสุโขทัยนั่นเอง

ตัวพระปรางค์เป็นอาคารก่ออิฐหลังโดด มีประตูหลอกอยู่ทั้งสามด้านของตัวอาคาร จัดเป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน ที่นิยมอยู่ในช่วงระหว่างราว พ.ศ.1500-1650 แต่จากโบราณวัตถุสำคัญที่มีการค้นพบที่บริเวณพระปรางค์องค์นี้บางชิ้นคือ ประติมากรรมรูปสตรี ซึ่งจัดเป็นงานช่างในศิลปะแบบนครวัด ที่สร้างขึ้นในช่วงราว พ.ศ.1650-1700

ทำให้ทราบว่า มีการใช้งานพระปรางค์หรือปราสาทขอมแห่งนี้ยาวต่อเนื่องลงมา ภายหลังจากสมัยแรกสร้างพระปรางค์

และก็คงมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า พ.ศ.1700 อีกด้วย เพราะผลการขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ ได้มีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง และเครื่องถ้วยพื้นเมืองของวัฒนธรรมสุโขทัย ที่กำหนดอายุได้อยู่ระหว่าง พ.ศ.1700-2000 อีกต่างหาก

ที่สำคัญก็คือ การที่ปรางค์เขาปู่จ่า มีรูปลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นฝีมือช่างแบบาปวนนั้น ทำให้พระปรางค์แห่งนี้ ยืนหนึ่งเป็นปราสาทขอมที่เก่าแก่ที่สุด ในละแวกลุ่มน้ำยม และแม่น้ำน่าน ที่เชื่อกันว่ามีอิทธิพลอยู่ในบริเวณนี้มาก่อนที่รัฐ และวัฒนธรรมสุโขทัย จะถือกำเนิดขึ้นในสมัยต่อมา

อย่างไรก็ตาม ตัวพระปรางค์เองก็ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่ที่สุดบนเขาปู่จ่าหรอกนะครับ ไม่ว่าพระปรางค์องค์นี้จะสร้างขึ้นในศาสนาใดก็ตาม เพราะหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของสิ่งปลูกสร้างบนเขาปู่จ่านั้น เกี่ยวข้องอยู่กับศาสนาผีต่างหาก

 

บทความเรื่อง “การสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ปรางค์เขาปู่จ่า ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย” ของคุณอนัสพงษ์ ไกรเกรียงศรี ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ.2561 ได้ระบุเอาไว้ว่า พระปรางค์บนเขาปู่จ่านั้น ได้สร้างทับอยู่บนฐานของอาคารไม้ที่มีมาแต่เดิม โดยอาคารหลังนี้สร้างอยู่ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ข้อสันนิษฐานของคุณอนัสพงษ์ สอดคล้องกับหลักฐานการขุดแต่งทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2540 ที่ระบุว่า มีการปรับพื้นที่บริเวณเหนือยอดเขาปู่จ่า ด้วยการอัดพื้นด้วยกรวดและทราย แล้วค่อยมีการก่อสร้างอาคารในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมทับลงไปบนนั้น โดยอาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อก่อน พ.ศ.1500 ซึ่งก็คืออาคารหลังเดียวกันกับที่คุณอนัสพงษ์กล่าวถึง

สรุปได้ว่าก่อนการสร้างพระปรางค์เขาปู่จ่านั้น ได้มีสิ่งปลูกสร้างอื่นอยู่ก่อนบนยอดเขาปู่จ่าแล้ว เพียงแต่ทั้งรายงานจากการขุดแต่ง และข้อเขียนของคุณอนัสพงษ์นั้น ไม่ได้ระบุว่าคืออะไร?

ฐานปรางค์เขาปู่จ่า ใช้ “หินใหญ่” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมการนับถือหิน ส่วนหนึ่งในศาสนาผีดั้งเดิมสุวรรณภูมิ ที่มีอยู่เดิมบนยอดเขา เป็นส่วนหนึ่งของฐานอาคาร เพื่อหลอมรวมความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี เข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใหม่ขององค์พระปรางค์

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือที่ฐานของปรางค์เขาปู่จ่านั้น แสดงให้เห็นถึงการสร้างอาคารลงก้อนหินใหญ่ที่มีอยู่แต่เดิมตามธรรมชาติ โดยได้ใช้หินก้อนเดียวกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งในชุดฐานของปราสาท

ลักษณะเช่นนี้เปรียบเทียบได้กับการสร้างปราสาทประธาน ที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งปลูกสร้างทำนองปราสาท หรือพระปรางค์ ในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกัน

ชุดฐานบัวชั้นล่างสุด ที่ปราสาทประธาน ของปราสาทพนมรุ้งนั้น สลักขึ้นจากหินก้อนใหญ่ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บนยอดเขา (ไม่ต่างอะไรไปจากที่ปรางค์เขาปู่จ่านัก) แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมมีการบูชาหินใหญ่ก้อนนี้ว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อในวัฒนธรรมการนับถือหิน (megalithic culture) มาก่อนหน้าที่จะมีการสร้างปราสาทหลังนี้เมื่อหลัง พ.ศ.1650 แล้ว

ในกรณีของบนยอดเขาพนมรุ้งนั้น ได้มีร่องรอยของปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.1500 ซึ่งอาจสร้างในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (ครองราชย์ที่เมืองพระนคร ในกัมพูชา เมื่อระหว่าง พ.ศ.1487-1511) สร้างอยู่ทางด้านข้างของเจ้าหินใหญ่ก้อนนี้ นัยว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชาเจ้าหินใหญ่ก้อนที่ในสมัยต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของฐานปราสาทพนมรุ้งนั่นเอง

ที่สำคัญก็คือ ในบรรดาจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งนั้น มีการเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ที่ควรจะหมายถึงเจ้าหินก้อนใหญ่ ที่ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของฐานปราสาทพนมรุ้งว่า “กมรเตง ชคต วนํรุง” หมายถึง “ผู้เป็นเจ้าแห่งพนมรุ้ง” โดยปรากฏชื่อในจารึกที่มีปีศักราชระบุตรงกับ พ.ศ.1532

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำนองเดียวกันนี้ บนเขาพนมรุ้งยังมีจารึกปราสาทพนมรุ้ง 1 (แน่นอนว่า พบที่ปราสาทพนมรุ้งเช่นกัน) แต่มีรูปแบบตัวอักษรเก่าแก่ไปถึงช่วงราว พ.ศ.1200-1300 แล้ว เพียงแต่ไม่พบว่ามีการระบุชื่อเรียกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขานี้

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ได้มีลัทธิการบูชาหินใหญ่ ในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิมาก่อนบนยอดเขาพนมรุ้ง

แต่ต่อมาเมื่อรัฐต่างๆ ที่สมาทานตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาที่อิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์-ฮินดู หรือแม้กระทั่งศาสนาพุทธก็ดี ก็มีการ “จับบวช” หินใหญ่ที่ว่าเข้าไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยถือว่าเป็น “สวยัมภูวลึงค์” คือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งถือกันว่าเป็นศิวลึงค์ประเภทที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดตามความเชื่อของพวกพ่อพราหมณ์เขา

แถมเรายังมีตัวอย่างของลักษณะเช่นนี้ปรากฏในปราสาทขอมหลังอื่นๆ ด้วย เช่น ปราสาทตาเมือนธม ที่ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน ในเทือกเขาพนมดงเร็ก เขตประเทศกัมพูชา ติดกับ อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ของไทย เป็นต้น

ก้อนหินที่เดิมเป็นวัตถุหลักในการสร้าง “หินตั้ง” ในศาสนาผี ถูกรื้อมาใช้เป็นฐานอาคารเมื่อศาสนาใหม่เข้ามา

ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ก็คงจะเกิดขึ้นที่บนยอดเขาปู่จ่า ก่อนที่จะมีการสร้างพระปรางค์นั่นแหละ เจ้าฐานอาคารที่มีอยู่แต่เดิมนั้นก็คงจะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการบูชาหินใหญ่ (ส่วนอาคารที่ว่าจะหน้าตาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่อง) ก้อนเดียวกันกับที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของปรางค์เขาปู่จ่าในภายหลังนั่นเอง

น่าสนใจว่าเจ้าฐานอาคารเดิมที่ว่านี้ยังเป็นฐานอาคารที่ก่อมาจากหินเสียด้วยนะครับ

ลักษณะอย่างนี้ชวนให้นึกถึงการรื้อเอา สิ่งปลูกสร้างก่อหิน ที่มีมาดั้งเดิมในศาสนาผีสุวรรณภูมิ และมักจะพบอยู่บนยอดเขาต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อันมีเมืองโบราณอู่ทอง ที่มีร่องรอยความสืบเนื่องของชุมชนในยุคเหล็ก ที่นับถือศาสนาผี ต่อเนื่องเข้าสู่วัฒนธรรมที่นับถือศาสนาที่นำเข้ามาจากอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ที่เรียกว่า วัฒนธรรมทวารวดี เมื่อหลัง พ.ศ.1000

สิ่งปลูกสร้างก่อหินเหล่านี้ สร้างขึ้นจากหินขนาดก้อนไม่ใหญ่นัก นำมาก่อกันในแผนผังรูปวงกลม ซ้อนกันขึ้นไปจนเป็นสิ่งปลูกสร้างรูปหลังเต่า หลายครั้งมีร่องรอยว่ามีแผ่นหินแบนๆ ในสัณฐานรูปกลมปิดทับอยู่ข้างบนยอดของสิ่งปลูกสร้าง

(โดยในกรณีของไทยนั้น หลายครั้งเลยที่เมื่อศาสนาใหม่จากอินเดียได้เดินทางเข้ามา ก็มักจะเอาหินเหล่านี้ออกมาใช้เป็นฐานให้สิ่งปลูกสร้างในศาสนาเหล่านั้น เช่นเดียวกับที่เห็นได้ในปรางค์เขาปู่จ่า)

นักโบราณคดีทั่วโลกเรียกสิ่งปลูกสร้างก่อหิน ในวัฒนธรรมการนับถือหิน ที่ผูกโยงอยู่กับศาสนาผี ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก อย่างนี้ว่า “cairn” โดยนักโบราณคดีรุ่นบุกเบิก ผู้ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ของไทยอย่างศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เคยควงศัพท์เรียกสิ่งปลูกสร้างชนิดนี้ว่า “เนินหิน”

แต่โลกในวงวิชาโบราณคดีของไทยมักเข้าใจว่าสิ่งปลูกสร้างชนิดนี้เป็น “เจดีย์” ในพุทธศาสนาไปเสียอย่างนั้น

 

น่าสนใจว่า เอกสารจำพวกตำนานเก่าของไทยอย่างพระราชพงศาวดารเหนือ ซึ่งชำระขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 เล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของวัฒนธรรมสุโขทัย และปริมณฑลโดยรอบ ไม่ใช่ภาคเหนือของประเทศไทยตามความหมายปัจจุบัน มีคำว่า “หินตั้ง” (ซึ่งหมายถึงสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมการนับถือหิน โดยเฉพาะในศาสนาผี) อยู่ในเรื่องพระยาแกรก ตอนมหาเถรไลยลาย (ไหล่ลาย) แจกพระบรมสารีริกธาตุไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในสุโขทัย หนึ่งในนั้นคือที่ “เขาหินตั้ง”

ผมไม่ได้หมายความว่า “เขาปู่จ่า” คือ “เขาหินตั้ง” ที่ถูกพูดถึงอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารเหนือ แต่ต้องการชี้ให้เห็นร่องรอยว่า ในวัฒนธรรมสุโขทัย มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมการนับถือหิน และเรียกเจ้าสิ่งปลูกสร้างนี้ว่า “หินตั้ง” ดังปรากฏร่องรอยอยู่ในเอกสารโบราณชิ้นที่ว่านี้

และก็เป็นไปได้มากด้วยว่า บนเขาปู่จ่าจะเคยมี “หินตั้ง” เป็นสิ่งปลูกสร้างในศาสนาผี ที่สร้างขึ้นในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มี “หินใหญ่” (ก้อนเดียวกับที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานพระปรางค์) มาก่อนที่จะถูกจับบวชเข้าเป็นส่วนหนึ่งศาสนาใหม่ของวัฒนธรรมขอม ที่ก่อพระปรางค์ขึ้นครอบทับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีดั้งเดิมเท่านั้นแหละครับ •