กว่าจะถึง SCBX ตอนที่ 3 ก้าวกระโดด / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

กว่าจะถึง SCBX

ตอนที่ 3 ก้าวกระโดด

 

ทศวรรษแห่งการก้าวกระโดด ไม่มีธนาคารใดเติบโตเท่าไทยพาณิชย์

หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) ระบุไว้ตอนหนึ่ง “สิ้น พ.ศ.2531 เป็นครั้งแรกที่สินทรัพย์รวมของธนาคาร ก้าวขึ้นสู่หลักแสนล้านบาท…ถึงสิ้นปี พ.ศ.2532 เงินฝากก็ทะลุหลักแสนล้านบาท และมีผลประกอบการสูงขึ้นจนเป็นครั้งแรกที่มีกำไรเกินหลักพันล้านบาท…”

ภาพที่ชัดเจนกว่านั้น ปรากฏในหนังสือ “ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2539” สะท้อนอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างไม่มีธนาคารอื่นใดเทียบ เมื่อพิจารณาสินทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วง 5 ปี (2534-2538) มีอัตราการเติบโตถึง 2 เท่า จากระดับ 228,000 ล้านบาท (2534) สู่ 453,000 ล้านบาท (2538)

ขณะที่ธนาคารใหญ่ถือว่าเป็นคู่เปรียบเทียบ ไม่ว่าธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทย แม้จะมีสินทรัพย์รวมมากกว่า แต่อัตราการเติบโตในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ถือว่าน้อยกว่าธนาคารไทยพาณิชย์

น่าเสียดายที่ข้อมูลทางการของธนาคารไทยพาณิชย์ ดูเหมือนไม่ได้ตั้งใจอรรถาธิบายเหตุปัจจัยปรากฏการณ์ข้างต้นอย่างชัดเจนเพียงพอ โดยเฉพาะในหนังสือชุด 100 ปีธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งฉบับภาษาไทย “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) เรียบเรียงโดย นวพร เรืองสกุล และฉบับภาษาอังกฤษ “Century of Growth” (2007) Text by Stephen Lowy (EDITIONS DIDERS MILLET, Singapore)

หนังสือทั้งสองเล่มให้ความสำคัญการเปลี่ยนผู้บริหารธนาคารในปี 2535 จากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นโอฬาร ไชยประวัติ การขยายสาขาธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการขยายสาขา” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” ว่าไว้) โดยเฉพาะสาขาในต่างประเทศ และการมีสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่รัชโยธิน (ปี 2539)

ในที่นี่ให้ความสำคัญขยายความ ขยายสาขา เชื่อมโยงกระแส “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นโยบายรัฐบาลยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (นายกรัฐมนตรี 2531-2534) ภาพสะท้อนความเชื่อมั่นในภูมิภาคไม่เป็นไปตามทฤษฎีโดมิโน ในขณะที่สงครามในกัมพูชาค่อยๆ ยุติลง

ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกของไทย ในความพยายามมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนเป็นพิเศษ เป็นธนาคารไทยแห่งเดียวก็ว่าได้ ดำเนินกิจการอย่างเอาการเอางานทั้งในประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยเฉพาะกรณีธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ มีสถานะเป็นธนาคารในเครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ในต่างประเทศ ก่อตั้งในปี 2534 โดยสาขาพนมเปญ ถือเป็นสำนักงานใหญ่ และมีสาขาในเมืองสำคัญอีก 3 แห่ง ที่พระตะบอง เสียมเรียบ และสีหนุวิลล์

อย่างไรก็ตาม มีบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ และน่าสนใจมากกว่านั้น อ้างอิงไว้ด้วย

 

ปี 2533 – ไทยประกาศรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในแผนการผ่อนคลายการควบคุมการปริวรรตเงินตรา ปี 2535-ตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และปี 2536-ธนาคารคแห่งประเทศไทย (ยุคธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีคลัง) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ ตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF-Bangkok International Banking Facilities)

“ธนาคารได้ดำเนินธุรกิจด้านวิเทศธนกิจเป็นธนาคารแรก ถึงสิ้น พ.ศ.2539 ธนาคารปล่อยสินเชื่อวิเทศธนกิจถึงร้อยละ 9.3 ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”) พอจะเห็นแนวทางสำคัญ

หากว่าด้วยโมเดลการเติบโตทางธุรกิจอย่างน่าทึ่งในเวลานั้น คงต้องเทียบเคียงกับกรณีเอกธนกิจ เปิดแผนการขั้นแรกๆ …การนำกิจการเข้าตลาดหุ้น…สร้างฐานกิจการค้าหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย…ช่วงปี 2529-2539 สินทรัพย์ของกลุ่มเอกธนกิจได้ขยายตัวอย่างมหัศจรรย์เกือบ 50 เท่า จากระดับสองพันล้านบาท ทะลุหนึ่งแสนล้านบาท ในปี 2539″ (อ้างจากบางตอนข้อเขียนเก่าของผม)

ต่อจากนั้น มีแผนการเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ เป็นขั้นต่อไป เชื่อว่าเป็นแนวทางซึ่งสร้างผลสะเทือนในวงกว้าง เป็นแนวทางที่เป็นกระแส

 

ว่าไปแล้วธนาคารใหญ่ๆ ดำเนินไปตามแนวทางนั้น “ธนาคารขนาดใหญ่…โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ถือว่ามีกิจการในเครือข่าย อยู่ในธุรกิจการเงินอย่างครบถ้วน รวมทั้งกิจการหลักทรัพย์ หรือนายหน้าค้าหุ้น แต่ละธนาคารมีกิจการเหล่านี้เป็นกลุ่มก้อนมากกว่าธนาคารอื่น หรือกิจการอื่นๆ เท่าที่สำรวจในช่วงปี 2538-2539 ธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายถึง 4 กิจการ (เอเชีย สินเอเชีย ร่วมเสริมกิจ และกรุงเทพธนาธร) เช่นเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ 4 กิจการ (บุคคลัภย์ สินอุตสาหกรรม ธนชาต และธนสยาม) และธนาคารกสิกรไทยมี 3 กิจการ (ภัทรธนกิจ ศรีมิตร และยูไนเต็ด)” อีกตอนในข้อเขียนเก่าของผม

พิจารณาอย่างเผินๆ ธนาคารไทยพาณิชย์มีเครือข่ายสำคัญกิจการเกี่ยวกับข้องตลาดทุนอย่างแข็งขัน อันที่จริงส่วนหนึ่งเป็นกิจการร่วมทุน ขณะที่ไทยพาณิชย์ยึดโมเดลถือหุ้นร่วมกันกับสำนักงานทรัพย์สินฯ (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) เชื่อว่ามีความจำเป็นกระชับแผนการให้มากขึ้น

สอดคล้องกับมีอีกบางตอน ถือว่ามีแผนการเพิ่มเติมเป็นไปอย่างกระชั้นในยุค โอฬาร ไชยประวัติ “ปี 2536 จัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ปี 2537 ร่วมลงทุนในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยธำรง ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง เข้าซื้อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอจีซี (ประเทศไทย) แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่…” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”)

ขณะชฎา วัฒนศิริธรรม (ผู้จัดการใหญ่ 2542-2550) กล่าวไว้ในหนังสือ “Century of Growth” แผนการขยายธุรกิจในช่วงเดียวกัน ในกรณีไทยพาณิชย์ลิสสิ่ง สามัคคีประกันภัย และไทยพาณิชย์ประกันชีวิต

 

ขณะเดียวกัน มีแผนการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะได้กล่าวพาดพิงถึงบางกรณีเพียงสั้นๆ “ตั้งบริษัทสยามสินธร…ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกลุ่มบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์…ร่วมลงทุนในบริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่น ทำธุรกิจด้านสื่อสาร…” อีกตอนในหนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”

เกี่ยวกับสยามสินธร และสยามทีวี มีเรื่องราวที่ตื่นเต้น เป็นไปอย่างโลดโผนในเวลานั้น ขณะอีกกรณีหนึ่งซึ่งไม่ได้กล่าวถึงกันนัก ดูจะเป็นไปอย่างสัมพันธ์กัน-บริษัทคริสเตียนี่และนีลเส็น (ไทย) “…ลงนามในสัญญาก่อสร้างไทยพาณิชย์คอมเพล็กซ์ ส่วนที่ 21 และ 3… มูลค่าก่อสร้าง 1,810 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2538…” เรื่องหนึ่งที่รายงานในข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2539

จากนั้น เค้าลางความยุ่งยากได้เกิดขึ้น •

 

 

ธุรกิจสำคัญในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เครือข่ายไทยพาณิชย์ (ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ)

2518 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ (ก่อตั้ง 2502)

2523 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม (ก่อตั้ง 2517)

2531 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม (ก่อตั้ง 2508) ร่วมทุนกับ Sanwa Bank, Japan

2538 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บุคคลัภย์ (ก่อตั้ง 2514) ร่วมทุน Long-term Credit Bank, Japan

ที่มา : ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2539 •