ทนเป็นปกติอยู่ได้ยาก / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ทนเป็นปกติอยู่ได้ยาก

 

เมื่อครั้งกราบลาท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกขพลาราม โดยเรียนท่านว่าจะกราบลาไปเป็นฆราวาส ด้วยตอนนั้นบวชเป็นพระ และได้มาอาศัยอยู่ที่สวนโมกข์ มีท่านอาจารย์พุทธทาสประจำอยู่ด้วยได้สองเดือนแล้ว กราบเรียนท่านว่า อยากได้คติธรรมไว้เตือนใจ ท่านตอบสั้นๆ ทันที

“ทำจิตเป็นปกติ”

เหมือนโดนท่านตบหัวฉาดเลย

คิดถึงวันแรกที่มาสวนโมกข์ ก็ถามปัญหากับท่านว่า

“อยู่สวนโมกข์นี่ต้องใช้ปัญญาอย่างไรหรือครับ”

ท่านหัวเราะหึๆ ตอบว่า

“ปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ก็ใช้ได้แล้ว”

นี่คือ “ฉาดแรก” ที่รู้สึกเหมือนถูกท่านตบหัว กับอีกฉาดเมื่อวันที่ขอคติธรรมท่าน

 

ฉาดแรกเป็นการเตือนสติให้รู้ว่าอย่าตั้ง “คำถามปรุงแต่ง”

ปรุงแต่งอย่างไรหรือ

ด้วยรู้มาว่า การมาอยู่สวนโมกข์นั้น ถ้าเป็นพระควรได้นักธรรมเอกเป็นพื้น การจะสอบได้นักธรรมเอกนั้นต้องบวชเรียนอยู่ในพรรษาถึงสามพรรษา เราเองเพิ่งบวชพรรษาแรก สอบธรรมสนามหลวงได้นักธรรมตรี แต่ภูมิฐานทางโลกก็เพิ่งได้ปริญญาตรี นิติศาสตร์ จากธรรมศาสตร์ ภูมิธรรมนักธรรมตรีจากการบวชเรียนในพรรษา กับภูมิฐานปริญญาทางโลก ก็น่าจะเทียบนักธรรมเอกได้อยู่กระมัง

ตั้งใจจะอ้างจะอวดท่านอย่างนี้

ครั้นเจอท่านสวนฉับว่า

“ปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์ก็ใช้ได้แล้ว”

เราจึงถึงกับ “อับอึ้ง” ไปเลย ด้วยไอ้ที่คิดเตรียมตั้งคำถามคำตอบในใจเพื่อจะสาธยายเชิง “โอ่ภูมิ” ลึกๆ ในใจนั้นมันถูกทลายสิ้นด้วยประโยคเดียวนั้นจริงๆ คือ

“ปัญญาที่ทำให้มาสวนโมกข์”

 

ตั้งแต่บัดนั้นไม่เคยคิดตั้งคำถามโง่ๆ อะไรอีกเลย ด้วยได้รู้ว่าแทบทุกคำถามและทุกปัญหาล้วนเป็น

“คำถามปรุงแต่ง”

หลายคนมักตั้งคำถามทำนองนี้ด้วยกันทั้งนั้น เช่น

“อาจารย์ครับ ชาติหน้ามีจริงไหม”

หรืออะไรประมาณนี้ ไม่เคยเป็นปัญหาจริงๆ ในชีวิตนี้ ขณะนี้เอาเสียเลย

ยิ่งได้ฟังคำสอนจากท่าน เช่น

คนฉลาดไม่ใช่เพียงฉลาดพูด แต่ต้องรู้จักนิ่งอย่างมีสติให้เป็น และรู้สิ่งที่ไม่ควรพูดให้มากกว่ารู้สิ่งที่ควรพูด นี่แหละฉลาดจริง

หรือ

อย่ารู้สึกว่าเราดีเด่นดังอะไร เพียงรู้สึกให้ได้ว่า เราเป็นผู้มีประโยชน์คนหนึ่งเท่านั้น เท่านี้ก็เป็นสุขและถูกต้องแล้ว

 

กระทั่งถึงคติธรรมที่ท่านให้คือ “ทำจิตให้เป็นปกติ”

ทุกอย่างจบลงตรงนี้เอง

ด้วยรู้มาตลอดถึงความหมายของคำว่า “ทุกข์” หรือ “ทุกขะ” คำแปลคือ “ทนอยู่ได้ยาก”

ก็รู้สึกว่ารู้ หาได้เข้าใจลึกซึ้งอะไรไม่

กระทั่งได้ยินจากปากท่านว่า “ทำจิตเป็นปกติ” นี่คือการขยายความการ “ทนอยู่ได้ยาก” อันเป็นความหมายแท้จริงของความทุกข์นั่นเอง

คือ จิตมันทนเป็นปกติอยู่ได้ยาก

ถ้ามันเป็น “ปกติ” อยู่ได้โดยไม่ต้องทนมันก็ไม่ทุกข์

นี่เป็นเคล็ดหรือกุญแจไขความลับของเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ ที่ดีที่สุด ลัดสั้นที่สุด ตรงที่สุด

จิตเราไม่เคยเป็น “ปกติ” อยู่จริงเลย

มันวอกแวก หวั่นไหว วุ่นวาย เตลิดเพริด ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เคร่งเครียด สารพัดจะไม่ “ปกติ”

ซึ่งแท้แล้ว “ปกติ” ไม่ต้องทน เมื่อใดมันทนเป็นปกติอยู่ไม่ได้ เมื่อนั้นคือ “ทุกข์”

จบแค่นี้

 

แต่แค่นี้แหละมันยากหนักหนานัก

ไม่เชื่อคืนนี้ลองนอนทำจิตให้เป็นปกติแล้วอยู่กับมันดูซิ

ไม่ง่ายเลยใช่ไหม

ทนได้ยาก

คำว่า “ทุกข์” แปลว่า “ทนอยู่ได้ยาก”

ไม่ใช่ทนลำบาก ทนอยากได้

หากคือ เป็น “ปกติ” ที่ในใจ

ไม่ต้องทน ไม่ต้องไหว แว่บไปมา

ให้จิตนิ่ง สงบเย็น เป็นปกติ

สมาธิมั่นคง ทรงคุณค่า

ปกติ เป็นประจำ ธรรมดา

ไม่ลงแรง โลดร่า ไม่ล้าโรย

ปกติ อยู่ได้ ไม่ต้องทน

ไม่ต้องดิ้นต้องรน คระหนโหย

ไม่ต้องห่วงต้องหา ประดาโดย

ไม่ต้องกอบต้องโกย มาก่ายกอง

ปกติ อยู่ได้ คือ ไม่ทุกข์

มีความสุขสงบเย็น เพียงเพ็ญผ่อง

ไม่ใช่สุข แบบสุกไหม้สุกพอง

ดับทุกข์คือครรลอง ต้องดับเป็น

จิตเป็นปกติ ได้ ไม่ต้องทน

ปัญญายลอยู่สว่างกระจ่างเห็น

ทำทุกสิ่งทั้งมวล ควรบำเพ็ญ

สงบเย็น เป็นประโยชน์ หมดทุกข์จริง!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •