‘เรือดำน้ำจีน’ จะได้ไปต่อหรือไม่?/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

‘เรือดำน้ำจีน’

จะได้ไปต่อหรือไม่?

 

มหากาพย์เรือดำน้ำจีนที่ไทยพยายามจะมีมาให้ได้ตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงรัฐบาลชุดนี้มาร่วม 5 ปี กำลังเป็นฝันสลาย เมื่อมีข่าวว่าจะได้เพียงตัวเรือที่ต่อโดยบริษัทของจีนแบบไม่มีเครื่องยนต์ เพราะเครื่องยนต์ที่ผลิตในเยอรมนีได้ปฏิเสธจะส่งมอบให้กับจีน ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาว่า “ให้นโยบายไปแล้วว่าให้ดำเนินการให้สำเร็จ เพราะอยู่ในสัญญาอยู่แล้ว แต่หากไม่ได้ก็คือไม่ได้ ต้องทำใหม่”

แม้จะกล่าวเช่นนี้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ย้ำว่าสิ่งนี้ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับจีน

ความมุ่งมั่นที่อยากจะมีกองกำลังเรือดำน้ำ เพื่อให้เพื่อนบ้านเกรงใจ แต่สถานการณ์ของไทย โดยเฉพาะฐานะทางการคลังตลอดการบริหารของ “ประยุทธ์” มาถึง 8 ปี ประสบปัญหาหนี้สะสม หนำซ้ำ เจอวิกฤตการณ์ใหญ่ระดับโลกมาฟาดเศรษฐกิจไทยทรุดหนักอีก อย่างโควิด-19 มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน-ก๊าซ และสินค้าเกษตร

หากไทยเลือกทำสัญญาใหม่ คือต้องทิ้งสัญญาเดิมพร้อมกับเงินที่จ่ายไปก่อนหน้านี้แล้วแบบเสียเปล่า ตามด้วยข้อตกลงใหม่และวงเงินสัญญาใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม และหมายถึงภาษีของประชาชนถูกจ่ายไปอีก

แม้กองทัพเรือจะยืนยันถึงความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ แต่ประชาชนคนไทยจะเอาด้วยแค่ไหน?

 

นับเป็นการทำสัญญาจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่กินเวลานาน ระหว่างกองทัพเรือไทยกับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Company หรือ CSOC มูลค่าในวงสัญญาตอนนั้นคือ 1.32 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ชั้นหยวน รุ่น S26T ซึ่งดัดแปลงจากเทคโนโลยีเรือดำน้ำชั้นกิโล รุ่นพัฒนาในยุคสหภาพโซเวียตตอนปลาย ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 3 ระบบ รุ่น MTU396 จากบริษัท Motor and Turbine Union Company หรือเอ็มทียูของเยอรมนี โดยเซ็นสัญญาเมื่อปี 2560 และคาดว่าจะได้รับมอบในปลายปีหน้า (2566)

อย่างไรก็ตาม ไทยอาจมีสิทธิ์ได้เรือแบบไร้เครื่องยนต์ หลังรัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจห้ามการส่งออกเครื่องยนต์ให้กับจีน เพราะปมปัญหาเรื่องจุดประสงค์การใช้งานเพื่อการทหารและป้องกันประเทศ

ฟิลลิป โดลต์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวกับสื่อฉบับภาษาอังกฤษของไทยว่า การส่งออก (เครื่องยนต์) ถูกปฏิเสธเพราะจุดประสงค์การใช้งานในอุตสาหกรรมทหาร/ป้องกันประเทศของจีน จีนไม่ได้ประสานงานกับทางเยอรมนีก่อนลงนามข้อตกลง ทั้งนี้ เยอรมนียึดตามคำประกาศห้ามส่งอาวุธของสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดหลังเหตุการณ์นองเลือดในจัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989

การส่งเรือดำน้ำที่ล่าช้าหรืออาจมีสิทธิถูกทิ้งกลางทาง กำลังเป็นประเด็นวิจารณ์ของสาธารณชนต่อกองทัพเรือที่จ่ายค่าโง่เพราะได้ของไม่ตรงปก และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีน ในห้วงเวลาเดียวกันที่ กองทัพอากาศของไทยก็มีการประกาศเตรียมจัดซื้อเครื่องบินรบสหรัฐรุ่นล่าสุดอย่าง F-35 ซึ่งมีบางประเทศสั่งซื้อแล้วอย่างเยอรมนี แต่สำหรับกองทัพอากาศไทยก็โดนสาธารณชนจนถึงฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณท่ามกลางที่ประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและต้องใช้เงินเพื่อฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19

ด้าน พล.ร.ต.อภิชัย สมพลกรัง ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ กล่าวกับวอยซ์ ออฟ อเมริกาว่า ตอนนี้กระบวนการต่อเรือดำน้ำต้องชะงัก เพราะเครื่องยนต์ (ดีเซลจากเยอรมนี) ยังไม่ได้ข้อสรุป

ขณะที่โฆษกของบริษัทเอ็มทียู กล่าวยืนยันว่า บริษัทได้จัดส่งเครื่องยนต์ให้กับจีน แต่บริษัทไม่ได้พิจารณาเรื่องอุปกรณ์ที่นำไปใช้งานซ้ำซ้อน ตามกฎหมายควบคุมการส่งออกอาวุธของอียู ฉบับแก้ไขล่าสุดเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว

ทางบริษัทจีนอย่าง CSOC ก็เจองานยากที่จะหาเครื่องยนต์อื่นมาแทน เพราะถึงตอนนี้ จีนยังคงไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์หรือระบบขับเคลื่อนสมรรถนะสูง พอทัดเทียมกับชาติตะวันตกได้ (ยิ่งเรือดำน้ำชาติตะวันตกรุ่นหลังๆ ใช้เครื่องยนต์พลังนิวเคลียร์มากขึ้น)

พล.ร.ต.อภิชัยกล่าวว่า แม้ CSOC ได้เสนอให้สร้างเครื่องยนต์แบบอื่นทดแทน แต่เครื่องยนต์ก็ยังไม่ได้เป็นไปตรงที่ต้องการ ซึ่งกองทัพเรือยังคงรอคำตอบจาก CSOC ให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์ที่จะทดแทน มีสมรรถนะทัดเทียมกับรุ่นของเยอรมนี

 

มีรายงานว่า จีนจะเสนอมอบของมือสองที่ปลดประจำการอย่างเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล ชั้นซ้ง รุ่น 039 จำนวน 2 ลำเป็นการทดแทน อย่างไรก็ตาม พล.ร.ต.อภิชัยไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยกล่าวว่า กองทัพเรือไม่ยอมรับอะไรนอกเหนือจากรุ่นที่สั่ง และกล่าวเสริมว่า ยังอีกไกลก่อนการหารือยกเลิกข้อตกลงระหว่างกัน ส่วนเรือดำน้ำมือสองจะต้องแก้เงื่อนไขก่อนพวกเขาสามารถใช้งานได้

ข้อเสนอที่ไม่เป็นทางการถึงผู้ช่วยทูตทหารของไทยนี้ ถูกเสนอโดยบริษัทของรัฐบาลจีนที่ดูแลเรื่องการส่งมอบเรือดำน้ำปลดประจำการ แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นการส่งมอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือมีจ่ายบางส่วนเพื่อแสดงถึงมิตรไมตรีระหว่างสองประเทศ คณะทำงานที่อยู่ในการกำกับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้หารือเรื่องดังกล่าว แต่รายงานยังไม่ได้มีการยืนยันข้อตกลงนี้

ปมเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์ กลายเป็นความด่างพร้อยในความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีน แม้กองทัพเรือไทยกล่าวว่า จะมีการเจรจาใหม่กับจีนอีกครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มการส่งมอบเรือดำน้ำต้องล่าช้าออกไป

แต่รายละเอียดสำคัญที่กลับไม่ถูกพูดถึงคือ ประชาชนคนไทยต้องเสียเงินภาษีของตัวเองเพิ่มไปอีกแค่ไหน

 

ประเด็นเรือดำน้ำจีนของไทย ถือเป็นเรื่องที่ชาติตะวันตกจับตาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ทางทะเลในแถบอินโด-แปซิฟิกที่จีน วางจุดยุทธศาสตร์ผ่าน กระชับความสัมพันธ์ด้วยการส่งมอบเรือดำน้ำและการส่งอู่เรือดำน้ำขึ้นตั้งแต่ กัมพูชา, ไทย, พม่า, บังกลาเทศ, ศรีลังกา จนถึงจีบูตี

แม้ว่าเรื่องเรือดำน้ำไม่ตรงปกของไทย กำลังกลายเป็นประเด็นการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านจะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ กำลังทำให้จีนคิดรับมือหาถึงคราวต้องเผชิญหน้ากับชาติตะวันตกและประเทศคู่แข่งในแถบอินโด-แปซิฟิก

สำหรับไทยเอง อาจต้องเตรียมตัว แม้ในเวลานี้จะดูเอียงเข้าหาจีนมาก แต่วันข้างหน้าอาจไม่ได้เป็นเช่นนี้ก็เป็นได้