THE GODFATHER ‘ครบรอบ 50 ปี’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE GODFATHER

‘ครบรอบ 50 ปี’

 

กำกับการแสดง

Francis Ford Coppola

นำแสดง

Marlon Brando

Al Pacino

James Caan

Diane Keaton

Robert Duvall

Richard S. Castellano

Al Martino

เวลาห้าสิบปีผ่านไป…ไวเหมือนโกหก…

เป็นสำนวนหวือหวาในนิยาย…แต่ก็สะท้อนความรู้สึกดังนั้นจริงๆ เลยนะคะ

พ.ศ.2515 (ค.ศ.1972) เป็นปีที่ได้เปิดโลกทัศน์ของโลกภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง ได้ดูหนังที่ใครหลายคนยกย่องว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎของวงการภาพยนตร์…อย่างเต็มตาและตื่นใจในชีวิตและความเป็นไปในโลกอีกด้านที่ได้ค้นพบบนจอภาพยนตร์

เป็นหนังเรื่องที่กลายเป็นนิยามหรือคำจำกัดความของคำว่า หนังมาเฟีย (gangster movie)

เป็นหนังเรื่องที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้วัดหรือเปรียบเทียบหนังในประเภทหรือแนวเดียวกันทั้งหลายทั้งปวงที่จะตามมาอีกโดยไม่ขาดสาย

เป็นหนังที่ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม และนักแสดงชายยอดเยี่ยม (มาร์ลอน แบรนโด) ในปีนั้น

The Godfather ซึ่งมีโลโก้พร้อมชื่อเรื่องที่สรุปเนื้อถ้อยกระทงความได้ดีด้วยภาพวาดง่ายๆ เป็นรูปมือที่จับกากบาทซึ่งเป็นศูนย์รวมของโยงใยสายเชือก

เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านี่คือมือที่ชักใยอยู่เบื้องบนตัวหุ่นที่ถูกเชิดถูกชักอยู่เบื้องล่าง

และอีกสองปีต่อมา ก็มีภาคสองตามต่อมาด้วยคุณภาพคับแก้วเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม เพราะกวาดออสการ์ไปอีก 6 ตัว (หนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ฯลฯ)

ในฐานะนักวิจารณ์หนัง ผู้เขียนมักได้รับคำถามบ่อยๆว่าชอบหนังเรื่องไหนมากที่สุด ชื่อแรกที่ผุดขึ้นในหัวทุกทีก็ The Godfather นี่แหละค่ะ ชอบทั้งภาคหนึ่ง ภาคสองเลย

โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าต้องให้เลือก ความชอบจะเอนไปทางภาคสองมากกว่านิดหน่อย…นี้ดเดียวเท่านั้นแหละ…คงเป็นเพราะเริ่ม “อิน” กับเนื้อเรื่องและตัวละครในโลกมาเฟียและองค์กรอาชญากรรม (organized crime) ขึ้นมาบ้างจากภาคแรกแล้ว

แม้จะมีตามต่อมาไตรภาค แต่ภาคสามก็ขาดเสน่ห์ของความแปลกใหม่และความแหลมคมของเนื้อหาไปเสียแล้ว

ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมานี้ ได้ดูภาคหนึ่งและภาคสองซ้ำหลายรอบ ตอนแรกก็จากช่องเคเบิลที่ฉายให้ดู เห็นทีไรก็ไปไหนไม่รอด ต้องเฝ้าหน้าจอตาไม่กะพริบทุกหน แต่หลังๆ ก็มีให้เลือกดูเองเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ

ดูได้ซ้ำซากไม่เคยเบื่อ ดูทีไรก็เก็บรายละเอียดใหม่ๆ ได้อีก

ปีนี้เป็นปีครบรอบห้าสิบปีนับแต่ออกฉายในภาคแรก ก็เลยมีการฉลองครั้งใหญ่สำหรับแฟนหนังด้วยการจัดทำไตรภาคทั้งชุดอย่างสวยหรู แถมพิเศษด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง โดยที่มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของฟิล์มดั้งเดิม ปรับสีสัน ปรับปรุงเสียง และกำจัดรอยขีดข่วนบนแผ่นฟิล์มให้ดูชัดเจนกว่าเดิม

ค่ายหนังจัดรอบพิเศษให้ไปชมเหมือนกัน จริงๆ แล้วก็อยากไปดูบนจอใหญ่อีกครั้งหนึ่งมาก แต่ก็พยายามระวังตัวกลัวโควิดไว้ก่อน ไม่ไปอยู่ในที่ชุมชนที่อากาศไม่ถ่ายเทโดยไม่จำเป็น และเปิดหนังดูที่บ้านอีกหนเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำ

ไม่ว่าจะดูแล้วกี่หน ก็ยังติดตาตรึงใจอยู่ไม่รู้วาย ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่เริ่มด้วยชายคนหนึ่งมาเล่าเรื่องความคับแค้นใจของตัวเองต่อระบบความยุติธรรมในอเมริกา ทั้งๆ ที่เขาทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต (เป็นสัปเหร่อ) และเคารพกฎหมายบ้านเมืองทุกอย่าง แต่เมื่อลูกสาวของเขาถูกรุมทำร้าย กลุ่มผู้ร้ายซึ่งถูกส่งฟ้องขึ้นศาล กลับโดนเพียงโทษรอลงอาญา และลอยนวลอยู่ได้สบายใจ ในเมื่อลูกสาวเขาต้องบาดเจ็บเสียโฉม เขามาร้องขอความช่วยเหลือจาก “ก๊อดฟาเธอร์” ดอน วีโต้ คอร์เลโอนี (มาร์ลอน แบรนโด) ในวันแต่งงานของลูกสาวเจ้าพ่อ ซึ่งตามประเพณีชาวซิซีลีแล้ว พ่อของเจ้าสาวจะปฏิเสธคำขอของใครไม่ได้

ฉากนี้ก็เป็นฉากคลาสสิกฉากหนึ่ง ซึ่งวางปรัชญาความคิดเรื่องความภักดีต่อพวกพ้อง ต่อครอบครัว เหนือสิ่งอื่นใด

ช่วงที่ตัดสลับระหว่างห้องทำงานในเงามืดของเจ้าพ่อ กับบรรยากาศกลางแจ้งของงานแต่งงานอันเกริกไกร ซึ่งมีวงดนตรีบรรเลงอย่างครึกครื้น พร้อมกับการเต้นรำทั้งเด็กผู้ใหญ่ การถ่ายรูปร่วมกันแบบที่ใช้กล้องโบราณ และดอน วีโต้ ผู้ที่ไปไหนก็มีแต่คนเคารพนบนอบ ออกคำสั่งโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งได้ ให้รอไมเคิล ลูกชายคนเล็กของตระกูล มาถึงก่อน

และไมเคิล (อัล ปาชิโน) ก็ควงคู่มางานพร้อมด้วยเคย์ แอดัมส์ (ไดแอนน์ คีตัน) สาวอเมริกันผิวขาวที่มีพื้นเพของอภิสิทธิ์ชน อย่างที่เรียกด้วยคำย่อว่า WASP (White Anglo-Saxon Protestant) ในชุดสีแดงโดดเด่น สวมหมวกปีกกว้าง

เคย์เป็นสาวสวยที่ไมเคิลพามาให้รู้จักกับครอบครัว และยืนยันจะให้ถ่ายรูปร่วมกับครอบครัวทั้งหมดของเขา

รายละเอียดปลีกย่อย แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในฉาก เล่าเรื่องราวได้มากและเป็นการปูพื้นสำคัญสำหรับเหตุการณ์ที่จะตามต่อมา

ไม่ว่าจะเป็นการมาถึงของจอห์นนี่ ฟอนเทน (อัล มาร์ติโน) ซึ่งมีดอน วีโต้เป็นพ่ออุปถัมภ์ หรือ ก๊อดฟาเธอร์ ให้

ว่ากันว่าตัวละครที่ชื่อจอห์นนี่ ฟอนเทน สร้างขึ้นมาโดยมีแฟรงค์ ซินาตร้า เป็นต้นแบบ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าแฟรงค์มีความเกี่ยวพันอยู่กับกลุ่มมาเฟีย

จอห์นนี่มาเพื่อขอความช่วยเหลือจากก๊อดฟาเธอร์เหมือนกัน และจะกลายเป็นฉากของเจ้าพ่อค่ายหนังในฮอลลีวู้ดที่ตื่นขึ้นมาบนเตียงนอนของตัวเอง และได้พบกับความสุดสยองเกินพรรณนา ซึ่งแฟนหนังคงจะคุ้นเคยกับฉากนี้อยู่แล้ว

และในบทสนทนาสั้นๆ ซึ่งไมเคิลให้ความกระจ่างแก่เคย์ว่าทำไมพ่อเขาถึงได้เป็นก๊อดฟาเธอร์ของใครต่อใคร นั่นคือพ่อเขา “ยื่นข้อเสนอแบบที่ฝ่ายตรงข้ามจะปฏิเสธไม่ลง”

ประโยคนี้กลายเป็นสำนวนฮิตติดปากของใครต่อใครต่อมาจนถึงทุกวันนี้

จวบจนภาพสุดท้ายที่เคย์เดินออกจากห้องทำงานของไมเคิล และหันไปมองเห็นเขาอยู่ท่ามกลางลูกน้อง คนหนึ่งเดินมาหับบานประตูปิดกั้นเธอไว้จากโลกซึ่งเขานั่งบัลลังก์ความเป็นเจ้าพ่ออยู่

เรื่องราวยังคงสนุกทุกหยาดหยด ชวนให้นั่งนิ่งขึงตะลึงตะไล เหมือนเพิ่งได้ดูเป็นครั้งแรก •

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ “THE GODFATHER 50th Anniversary” ได้ที่นี่