สหพันธรัฐอินโดจีน (2) กับอดีตที่หลอนลวง/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

สหพันธรัฐอินโดจีน (2)

กับอดีตที่หลอนลวง

 

13 เมษายน (2520) กัมพูชาเร่งโจมตีกลับเวียดนามตามแนวชายแดนของฝ่ายตน ขณะที่ฮานอยเรียกว่าเป็นปฏิบัติการรุกรานและเป็นการปฏิเสธเวียดนามที่ประกาศ “ร่วมชาติอินโดจีน”

และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของกลุ่มเขมรแดง รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนไปทั้งหมดของกัมพูชา

คำว่า- “สหพันธรัฐอินโดจีน” หรือสหพันธ์อินโดจีน ซึ่งล้วนมีที่มาจากคำว่า “ร่วมชาติ” ณ จุดนี้ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “สหภาพ”

ขณะที่สำหรับกัมพูชาแล้ว พวกเขาไม่ต้องการสังฆกรรมในความเป็นสหพันธ์ฯ สหภาพฯ เช่นนั้นแล้ว

“รณาสิรย์/กลุ่ม/คณะ” ของพรรคอินโดจีนในกัมพูชา เริ่มต้นมาแต่จุดไหน? แล้วทำไมกัมพูชาจึงโจมตีเวียดนามเสมอมาต่อประเด็นนี้?

โดยเฉพาะ คณะของพล พต/กัมพูชาประชาธิปไตยที่กล่าวหาเรื่อยมาว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน/เวียดนามพยายามขยายเครือข่ายของตนเพื่อคุกคามคณะรณาสิรย์เพื่อนบ้านด้วยวิธีนานา เพื่อให้ตรงสู่โครงข่ายนั้นโดยไว

ในปี ค.ศ.1936 ที่กัมพูชาเพิ่งจะก่อตั้งหนังสือพิมพ์นครวัดนั้น ช่างเป็นปีเดียวกันกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสถือกำเนิดขึ้น เช่นเดียวกับอินโดจีนแคว้นเวียดหรือเขตอันนัม ก็เกิดรณาสิรย์หนึ่งชื่อว่า front popolaire/ปรอเจียมานิตโดย เล อุง พลุม ได้

ขณะเดียวกันพรรคพวกอีกกลุ่มหนึ่งก็ไปก่อตั้งคณะ “ประชาธิปไตยอินโดจีน” มีนโยบายหลักคือ กดดันฝรั่งเศสคอมมิวนิสต์ปล่อยตัวนักโทษการเมืองของเวียดนามระดับแกนนำ อาทิ ฟาม วันดง, เหงียน ไอกุก แต่ในที่สุด รณาสิรย์กลุ่มนี้ก็มีอันล้มไปเอง เฉกเดียวกับคณะปรอเจียมานิต

แล้วพลัน ก็เกิดเป็น “คณะปรอเจียมานิตใหม่”

ณ 3 ปีถัดมา ระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังถูกเยอรมนีรุกรานในสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่นั้น ฝ่ายเวียดนามเองก็ก่อตั้งคณะรณาสิรย์ขึ้นมาใหม่คือ คณะสังคมนิยมสหการ หรือ “คณะปรอเจียมานิตรวม” มีหลักการเป้าหมายประท้วงปาฑุกรรมและการปฏิวัติ ซึ่งก็ได้ผลมาก เพราะฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาภายใน ระหว่างนั้นกระบวนการชาวนาและกรรมกรเวียดนามก็พากันเข้าร่วมคณะนี้เป็นทวีคูณ

ทว่า ตั้งแต่เหงียน ไอกุกเสียชีวิตไป ได้เกิดการเคลื่อนไหวมากมายตามมา โดยเฉพาะบุคคลที่เรียกตัวเองว่าโฮ จิมินห์ ซึ่งเปิดประชุมพรรคตนที่เมืองซินซีของจีนภายใต้ชื่อว่า “เวียดมินห์” (1941)

รณิสิรย์กลุ่มนี้เอง ที่ถูกกล่าวหาว่า มุ่ง “ยึดครอง” กัมพูชาทั้งหมด รวมทั้งสร๊กใต้ไปจนถึงแคว้นลาว

ตัวแทนกัมพูชา-ยึก จูล่ง (ซ้าย) ลงนามร่วมกับเวียดนาม (ขวา) ที่กรุงเจนีวา 1954, cr : en.nhandan.vn

สรุป ทั้งหมดพื้นที่อินโดจีน! นี่คือสิ่งถูกระบุไว้โดยวิทูเขมร (ประวัติศาสตร์กัมพูชาและวีรชนเขมร, สาคู ซามุต)

ระหว่างนั้นกลุ่มคณะต่างๆ ต่อต้านทั้งบารังและกองทัพญี่ปุ่นในมณฑลเอเชียบูรพา โดยเฉพาะคณะ/พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่เชี่ยวชาญทั้งด้านการเมืองและสงครามเกือบจะทัดเทียมกับกองทัพของประเทศแม่อาณานิคม นับเป็นการก่อตั้งองค์กรที่เป็นระบบ ในเวลาเดียวทางกัมพูชานั้นกลุ่มต่อต้านบารังกลับเทหน้าตักให้กองทัพซามูไรจนพังพาบตามไปเมื่อจบสงครามโลก

ซึ่งจะเห็นว่า เป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ต่อต้านฝรั่งเศสนั้น ไฉนฝ่ายเขมรจึงกล่าวหาว่ารุกรานดินแดนอินโดจีน? คือทั้งหมดของแคว้นโคซินจีน/กัมปูเจียกรอม, กัมพูชาและลาว

โดยเมื่อเหลือบมองตามไทม์ไลน์ 2 กันยายน 1945 โฮจิมินห์ประกาศเอกราช จัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม บังคับให้จักรพรรดิเบาไดสละราชสมบัติ และแต่งตั้งขึ้นเป็นที่ปรึกษารัฐบาล

การกระทำให้สิ้นระบอบจักรพรรดิของเวียดนามอาจก่อแรงบันดาลใจให้กลุ่มรณาสิรย์ฝ่ายเขมรกลุ่มหนึ่ง มีเป้าหมายที่จะล้มระบอบกษัตริย์ของตนบ้าง หากตนสามารถเจรจากับฝรั่งเศสและประกาศเอกราช และด้วยเหตุนี้หรือไม่? กษัตริย์นโรดม สีหนุจึงชิงเล่นเกมนี้ก่อน?

จนไปสู่สละราชบัลลังก์ การลงมาเล่นการเมือง/1955 และวนไปหาไปสู่การถูกโค่นล้มระบอบกษัตริย์และพรรคของตนในที่สุด/1970

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาจากอารยประเทศ โฮจิมินห์จึงชิงประกาศ “ล้ม” พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในทันที/1945

กระนั้น เพื่อให้สหายจีนและรัสเซียวางใจ โฮจิมินห์จึงก่อตั้ง “สมาคมอินโดจีน” ขึ้นมาใหม่ มีเป้าหมายเพื่อการเคลื่อนไหวกิจกรรมพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและศึกษาอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

แต่ไม่จบเท่านั้น เวียดนามยังก่อตั้งคณะรณาสิรย์ใหม่คือ “เลียจเวียด” ในปี 1946 ทันทีที่โฮจิมินห์ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี กล่าวกันว่า คณะดังกล่าวนี้มีพฤติกรรมที่คล้ายกับเป็นตัวแทนกัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการ กล่าวคือ แสดงตนเรียกร้องดินแดนกัมพูชาใต้หรือกัมปูเจียกรอม พร้อมๆ กับบูรณภาพดินแดนบางส่วนของเวียดนามที่ยังไม่ได้เอกราชอย่างสมบูรณ์

ไม่เพียงเท่านั้น ในทันทีที่ขับไล่ฝรั่งเศสสำเร็จแล้ว ปกครองทุกตารางนิ้วของอินโดจีนเสมือนเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส!

เกี่ยวกับการเรียกร้องดินแดนกัมพูชาส่วนใต้นี้ นักประวัติศาสตร์เขมรระบุว่า

นับจากข้อตกลงฮานอย-ถึงดาลัต/1946 ที่มีขึ้นเฉพาะตัวแทนเวียดนาม-ฝรั่งเศสเท่านั้น ไม่ครอบคลุมแคว้นทั้งหมดของอินโดจีน กระทั่งการเจรจาครั้งที่ 3 ในกันยายนปีเดียวกัน จึงมีการยกระดับการเจรจาเป็น “สหพันธ์อินโดจีน” กระนั้น นักประวัติศาสตร์กัมปูเจียก็ยังระบุว่า

“โฮจิมินห์ได้แสดงถึงเล่ห์กลอย่างเป็นที่สุด โดยที่เขมรเราไม่รู้เท่าทันเลย ดังนี้ เมื่อโฮจิมินห์ลงนามในข้อตกลงฝรั่งเศส ดินแดนส่วนดังกล่าวจึงถูกฮุบไปและเกี่ยวข้องกับประเทศของเราทั้งหมด” (สาคู ซามุต)

กระนั้น กัมพูชาก็ไม่ทันเฉลียวใจว่า จะสูญเสีย 22 จังหวัดของกัมพูชาใต้/1949 โดยเฉพาะ เมื่อสงครามเดียนเบียนฟูจบสิ้นสุดลง/1954 เวียดนามยังยกระดับการเจรจาที่เจนีวาอีกครั้งทำให้ฝรั่งเศสยินยอมยกกัมพูชาใต้ในที่สุด/1954

แต่นั้นมากัมพูชาแคว้นเดิมซึ่งมิเคยแสดงตัวตนหนักแน่นมาแต่แรกต่อแคว้นกัมพูชาใต้ ตั้งแต่สมัยอาณานิคม จนเกิดขบวนการปลดแอกฝ่ายต่างๆ ขึ้นมากมายที่แคว้นใต้ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้า ซ้ำในหลายครั้งที่กิดกรณีขัดแย้งทางชนชาติ ฝรั่งเศสยังมักอพยพชาวเขมรใต้มาอยู่ที่แคว้นกลางอย่างเป็นครั้งคราว

ผู้นำเขมรจึงรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง และยิ่งหวาดระแวงเวียดนามมากไปอีกขั้น และเกิดเป็นสงครามเย็นระหว่างชาวเวียดกับชาวอินโดจีน ที่เหมือนจะเพิ่งนับหนึ่ง

นั่นคือ การสวมบทบาทแทนฝรั่งเศสในอินโดจีนทั้งหมด!

นับเป็นความตระหนกบทแรกของประวัติศาสตร์เขมรหลังจากเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสไปร้อยกว่าปี!

แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์เขมรแล้ว พวกเขากำหนดให้ปี ค.ศ.1941 คือจุดเริ่มต้นของปีแห่งสงครามอินโดจีนครั้งแรก! และจากปมเหตุบันทึกนี้ ยังเบาหวิวกว่านั้น คือเพิ่มเติมว่า มีลาวเป็นเพื่อนร่วมคณะด้วย ที่ระบุว่า เวียดนามคุกคามเพื่อนร่วมชาติอินโดจีน

โดยสิ่งที่ดึงดูดเวียดนามเวลานั้น คือทรัพยากรสินแร่และทะเลสาบใหญ่ ตลอดจนจังหวัดชายแดน เช่น กันดาล ตาแก้ว กำโปด แต่ขณะเดียวกัน เวียดนามก็โฆษณาชวนเชื่อว่าต่อสู้เพื่อเขมรปลดแอกเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสซึ่งเริ่มชัดเจนขึ้นอย่างมากในปี ค.ศ.1947

ซึ่งในปีรุ่งขึ้น/1948 นายทหารเวียดมินห์เขตนัมบู/กัมปูเจียกรอม นายพลเหงียน ตานซิน ได้ทำการปราบปรามกลุ่มต่อต้าน นั่นคือ “การต่อสู้” กับกัมพูชาที่เป็นทางการครั้งแรก

เห็นได้ชัดว่า เวียดนามริเริ่มแสดงบทบาทนำต่อแคว้นทั้งหมดของอินโดจีน ก่อนจะได้เอกราชจากฝรั่งเศสก่อนกว่าใคร และนั่นคือสิ่งที่เขมรเห็นว่า เป็นภัยคุกคามว่าเวียดนามพยายามจะ “ฮุบ” ดินแดนของตน โดยเฉพาะเขมรตนเลสาบและไพลินที่อุดมไปด้วยทรัพยากรสินแร่

ข้อเท็จจริงข้อนี้ถูกอ้างไว้โดยว่า เมื่อฝรั่งเศสตัดสินใจยกสรรพกำลังอาวุธของตนแก่แคว้นเขมรในปีเอกราชนั้น/1954 อย่างไรก็ตาม กองทัพเวียดมินห์ก็ยังตั้งทัพมั่นอยู่ตามตีพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นดินแดนของแคว้นเขมร เป็นเวลาถึง 3 เดือน

หลักฐานเหล่านี้คือสิ่งที่ตามมาว่า “ที่ว่าการจังหวัดสตึงแตรง, เสียมปาง, บ่อแก้ว,วุนเซ และอื่นๆ คือพื้นที่ที่ทัพเวียดนามเข้ากำกับจากข้ออ้างว่าช่วยเหลือ” (น.71, อ้างแล้ว)

โชคดีเล็กน้อยที่กองทัพกัมพูชาเวลานั้นเกิดการไหวตัว โดยอาวุธที่กองทัพฝรั่งเศสทิ้งไว้ให้ และนั่นคือ “สงครามระหว่างเขมร-เวียดนามที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถึงกับเป็นทางการ”

ต่อความ “รัก-ชัง” ในคำว่า “สหพันธรัฐอินโดจีน” ที่ว่านั่น ใช่แต่กัมพูชาเท่านั้นที่เจอะเจอกับเหตุการณ์นี้ ลาวที่เพิ่งปลดแอกราชจากอินโดจีนก็เผชิญกับสภาพนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งเขตกุงสาลี ซัมเหนือ คำม่อน สุวรรณาเขต และอื่นๆ ตามชื่อเรียกเดิมก็ถูกกองกำลังเวียดนามได้เข้าไปประจำการ

กระทั่งข้อตกลงเจนีวาสิ้นสุดสมบูรณ์แล้ว ปฐมบท “สหพันธรัฐอินโดจีน” จึงสำแดงรอบใหม่ในฉบับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน

ที่ธง “ดาวแดง” แห่งเวียดนามเป็นแกนนำ