ไทยเขียนภาษาโปรตุเกส ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ไทยเขียนภาษาโปรตุเกส

ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ

 

ภาษาอังกฤษในไทยไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางเมื่อสมัยแรกสถาปนากรุงเทพฯ ราว 240 ปีที่แล้ว แต่ที่ชนชั้นนำรู้จักคุ้นเคยแล้วใช้งานอย่างกว้างขวางคือภาษาโปรตุเกส

เสนาบดีในแผ่นดิน ร.2 มีจดหมายเป็นภาษาโปรตุเกสส่งถึงประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อเชิญชวนทำการค้ากับสยาม เมื่อ พ.ศ.2361 (ค.ศ.1818) เรื่องนี้มีในเอกสารของทางการสหรัฐ จะคัดมาโดยสรุปดังนี้

หลักฐานประวัติศาสตร์ที่ทางการสหรัฐนำจัดแสดงในนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ หรือ “Great and Good Friends” เพื่อยืนยันความสัมพันธ์อันยาวนานครบ 200 ปีของไทยและสหรัฐ (เมื่อ พ.ศ.2561) คือ เอกสารจดหมายที่เขียนในภาษาโปรตุเกส ที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี (หรือ ดิศ บุนนาค) เสนาบดีในแผ่นดิน ร.2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร เมื่อปีพุทธศักราช 2361 เพื่อชักชวนทำการค้าระหว่างกัน

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการประวัติศาสตร์ และธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าเอกสารชิ้นนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่ช่วยเปิดพรมแดนทางวิชาการประวัติศาสตร์ความทรงจำของไทยให้น่าสนใจและกว้างขวางมากขึ้น

“คือเปิดประเด็นของการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-อเมริกาใหม่อย่างน่าสนใจมาก เพราะว่าเท่าที่เรียนมาของฝ่ายไทย ตั้งแต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ที่ทรงนิพนธ์ทูตต่างชาติกับรัตนโกสินทร์ ท่านก็ทรงนิพนธ์ว่า ฉบับแรกที่ติดต่อกันก็คือสนธิสัญญาฯ ในปี ค.ศ.1833 (สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ลงนามวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2376) เอ็กมันด์ โรเบิร์ต ที่มาทำสัญญา เราก็เรียนอันนั้นมาตลอดเลย คือปรับการมองเยอะเลย เพราะว่าแสดงว่าจุดเริ่มต้นไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นทางการ แต่มีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการแบบระดับสนธิสัญญาก่อนแล้ว” ศ.ดร.ธเนศย้ำ

จดหมายของเสนาบดีไทยเขียนเป็นภาษาโปรตุเกสส่งถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อ พ.ศ.2361 ที่ทางการสหรัฐนำออกจัดแสดงนิทรรศการ “Great and Good Friends” เมื่อ พ.ศ.2561

ภาษาโปรตุเกสในอยุธยา

ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางทางการค้าและการทูตในเอเชีย ขณะเดียวกันก็เป็น “ภาษากึ่งทางการ” ของอยุธยา

โปรตุเกสเป็นฝรั่งกลุ่มแรกเดินทางไปติดต่อค้าขายกับอยุธยา ภาษาโปรตุเกสก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าและการทูตของอยุธยา นอกจากนั้นยังอาจสำคัญกว่าที่คิดเพราะภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาของขุนนางอยุธยาระดับเสนาบดี เนื่องจากเสนาบดีเกือบทุกคนในอยุธยาพูดภาษาโปรตุเกสกับชาวตะวันตกอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส, อังกฤษ ฯลฯ ที่ไปติดต่อราชการกับอยุธยา ซึ่งเท่ากับภาษาโปรตุเกสเป็น “ภาษากึ่งทางการ” ของอยุธยา

[ข้อมูลกี่ยวกับโปรตุเกสได้จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท เรื่อง ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310 โดย นายพิทยะ ศรีวัฒนสาร (ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2541 หน้า 244-260)]

โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่ไปมาค้าขายในพระนครศรีอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.2061 (ตรงกับแผ่นดินพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2034-2072) นอกจากนั้นยังตั้งห้างค้าขายที่เมืองปัตตานี, เมืองนครศรีธรรมราช, เมืองมะริด (พม่า) ฯลฯ (จากคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2457) หลังจากนั้นจึงมีชาวตะวันตกกลุ่มอื่นๆ ทยอยเข้าไปติดต่อค้าขายกับรัฐอยุธยาแล้วตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจาย ได้แก่ ฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์), อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, สกอตแลนด์, เดนมาร์ก ฯลฯ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค) สมัยเป็นที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี ได้เขียนจดหมายเป็นภาษาโปรตุเกสส่งถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อ พ.ศ.2361

ปืนไฟ เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สำคัญอันดับแรกของวัฒนธรรมตะวันตกที่แผ่เข้าถึงรัฐอยุธยาสมัยแรกๆ ซึ่งนำเข้าโดยพวกโปรตุเกสที่เป็นทหารรับจ้างออกรบในแผ่นดินพระไชยราชา (พ.ศ.2077-2089) ทำให้กองทัพอยุธยามีอานุภาพเป็นที่เกรงขามของบ้านเมืองโดยรอบในสมัยนั้น แล้วมีผลให้พ่อค้าโปรตุเกสเข้านอกออกในใกล้ชิดราชสำนักอยุธยา นับแต่นั้นพวกโปรตุเกสได้รับอนุญาตตั้งบ้านเรือนวัดวาอารามและสถานีการค้าในพระนครศรีอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกเกาะเมืองทางทิศใต้ (ใกล้ชุมชนมลายูมุสลิม คลองตะเคียน)

อาหารการกิน โดยเฉพาะของหวานหรือขนมในวัฒนธรรมโปรตุเกสถ่ายทอดให้ชาวอยุธยาแล้วสืบทอดจนทุกวันนี้เป็นที่รู้กัน ได้แก่ ทองหยิบ, ฝอยทอง, ทองหยอด, บ้าบิ่น, ลูกชุบ, ขนมผิง, ทองม้วน, หม้อแกง, ขนมไข่, กะหรี่ปั๊บ ฯลฯ มีคำอธิบายแหล่งกำเนิดในโปรตุเกสของขนมบางอย่าง เช่น ขนมตรูซูซ ดาช กัลดัช เป็นต้นตำรับของขนมทองหยิบ, ขนมเกลชาดาช ดึ กูอิงบรา เป็นต้นตำรับของขนมบ้าบิ่น มีเนยแข็งเป็นส่วนผสมแต่ในไทยใช้มะพร้าวแทน, ลูกชุบเป็นขนมประจำท้องถิ่นของแคว้นอัลการ์วึในโปรตุเกส มีเม็ดอัลมอนด์เป็นส่วนผสมสำคัญ แต่ในไทยใช้ถั่วเขียวแทน ฯลฯ

ภาษาโปรตุเกสและเทคโนโลยีตะวันตกโดยเฉพาะการพิมพ์เป็นหนึ่งในหลายอย่างของวัฒนธรรมก้าวหน้าจากนานาชาติที่แพร่หลายถึงรัฐอยุธยา มีพลังกระตุ้นการรับรู้และเรียนรู้สู่โลกกว้างที่ต่างจากเดิมอันเป็นที่รู้กันในหมู่ชนชั้นนำรัฐอยุธยา และมีพลังดึงดูดความสนใจให้ชนชั้นนำอยุธยาเข้าหาข้อมูลความรู้ด้านอื่นๆ แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเข้าถึงและใช้สร้างสรรค์งานต่างๆ รวมทั้งวรรณกรรม •