เปิดสรรพคุณ กระชาย จากตํารายาไทย

กระชาย

 

 

ห฿วฯหลฯะแอนฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หัว-หละ-แอน”

แปลว่ากระชาย

กระชายมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. อยู่ในวงศ์ขิงข่า Zingiberaceae

ลักษณะนิสัยเป็นพืชล้มลุกมีกลิ่นหอม มีรากและเหง้าสะสมอาหารใต้ดิน ลงหัวในฤดูแล้ง ผลิใบใหม่ในฤดูฝน

ใบเดี่ยวแทงออกจากเหง้าใต้ดิน เหง้าเป็นกระเปาะแบบเผือก เห็นข้อปล้องชัด แตกหน่อออกในแนวระนาบ

รากแทงออกจากเหง้าสะสมอาหาร ทรงกระสวยกระจุกรวมกันเป็นพวงในแนวดิ่ง ยาว 4-10 เซนติเมตร กลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศ ดับกลิ่นคาวของปลาในอาหารได้ดี

ดอกออกที่ปลายยอดสีชมพู บานครั้งละดอก

หัวหละแอนเป๋นยาดีเน่อเจ้า
แปลว่า กระชายเป็นยาดีนะคะ

ตํารายาไทยใช้เหง้าลดอาการท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง ขับลม ช่วยให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแก่กองหทัยวาต แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล ช่วยเจริญอาหาร ขับระดูขาว แก้ใจสั่น รากสะสมอาหาร ช่วยให้กระชุ่มกระชวย บำรุงกำหนัด ทั้งเหง้าและรากใช้ขับปัสสาวะ แก้กระษัย เบาเหลือง เบาแดง เจ็บปวดบั้นเอว บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่น ขับปัสสาวะ หัวเผาไฟฝนรับประทานกับน้ำปูนใสใช้แก้บิด โรคบังเกิดในปาก และแก้มุตกิด

บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีเหง้ากระชายร่วมอยู่ในตำรับ “ยาเลือดงาม” สรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด ตามตำรายาแผนโบราณ

เป็นส่วนประกอบใน “พิกัดตรีกาลพิษ” ซึ่งประกอบด้วยรากกะเพราแดง เหง้าข่า และหัวกระชาย สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน

ตามตำรายาพื้นบ้านล้านนา ใช้เหง้าแก้ท้องอืดเฟ้อ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ กลากเกลื้อน

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าสารสกัดกระชายมีฤทธิ์ต้านไวรัสหลายชนิด อาทิ ไวรัสซาร์ส ต้านการทำงานของเชื้อเอดส์ ต้านไวรัสไข้เลือดออกกลุ่ม Flaviviridaefamily และยับยั้งพิโคร์นาไวรัส (picornaviruses) ที่ก่อโรคปากเท้าเปื่อย

การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส covid-19ในหลอดทดลองพบว่า สาร pandurantinA ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม prenylated cyclohexenyl chalcone ที่สกัดจากเหง้ากระชาย สามารถจับกับหนามบนอนุภาคไวรัส covid-19 ได้ดี ทั้งยับยั้งไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์ หรือป้องกันการติดเชื้อ และยับยั้งไวรัสภายหลังเข้าสู่เซลล์หรือการรักษาภายหลังติดเชื้อแล้วซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อในสัตว์ทดลองและมนุษย์ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบและฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ดี นับว่ากระชายหรือหัวหละะแอนเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจเนื่องจากหาง่าย และราคาไม่แพงมาก

รายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลองไม่ก่อให้เกิดการตายหมู่ในหนูขาวเพศผู้ พันธุ์วิสตาร์ ที่ความเข้มข้น 500 mg/kg ไม่พบความผิดปกติในน้ำหนักตัว และอวัยวะภายใน ถือว่าค่อนข้างมีความปลอดภัยในการบริโภค แต่ก็มีข้อควรระวังคือไม่แนะนำในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร •