ชะเอมเถา รสหวาน(ก็)เป็นอาหารและยา / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

ชะเอมเถา

รสหวาน(ก็)เป็นอาหารและยา

 

ชะเอมเถาจัดเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันคนรู้จักกันน้อยมากๆ แม้แต่ในตลาดพื้นบ้านก็แทบจะไม่เห็นมีการจำหน่าย

ชะเอมเถาเป็นชื่อสมุนไพรที่ใช้เรียกกันในภาคกลาง แต่มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ขมเหลือง (เชียงใหม่) ข้าวสาร เครือเขาขมหลวง ป้างไม้ (ลำปาง) อ้อยสามสวน อ้อยแสนสวน (ภาคเหนือ) หมากติดต่อ หมากหัวต่อ หมาก้นติด (ภาคอีสาน) ชะเอมข้าวสาร เครือเขาขมหลวง (ภาคกลาง)

ด้วยความที่เป็นสมุนไพรที่มีรสหวานมาก ในตำรับยาจึงมักเรียกหรือใช้ชื่อสมุนไพรนี้ว่า อ้อยสามสวนหรืออ้อยแสนสวน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myriopteron extensum (Wight) K.Schum.

ชะเอมเถาเป็นไม้เลื้อยขนาดกลาง ลำต้นมีน้ำยางสีขาว

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกช่อ สีขาว ออกเป็นกระจุกที่ง่ามใบ

ผลออกเป็นคู่ รูปกระสวย เปลือกนอกบาง เป็นร่องตามยาวของผล โคนกลม ปลายแหลมงุ้มลงเล็กน้อย สีเขียว เมื่อแก่จะแห้งแตกตามรอยตะเข็บเพียงด้านเดียว

มีถิ่นกำเนิดกระจายตั้งแต่จีนตอนใต้ อินเดียถึงคาบสมุทรอินโดจีน (เมียนมา ลาว ไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย) และในธรรมชาติพบได้ตามชายป่าเปิดทั่วไป ที่ระดับความสูง 100-600 เมตร ใบ ยอดอ่อน ฝักอ่อน

ชะเอมเถานี้ถ้านำมาทำให้สุก กินเป็นผัก มีรสหวานจัด

 

สําหรับการใช้เป็นยาสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา ดังนี้

ราก มีรสชุ่ม ใช้รักษาวัณโรคและแก้ไอ

รากสด รักษาอาการเจ็บคอ รักษาอาการเบื่ออาหาร แก้อ่อนเพลียหรือการตรากตรำทำงานหนัก แก้ปวดท้อง แก้ไอเป็นไข้ สงบประสาท บำรุงปอด เป็นแผลเรื้อรัง ระบบการย่อยอาหารไม่ดี หรืออาหารเป็นพิษ และรักษากำเดาให้เป็นปกติ

ในรากของชะเอมนั้นจะมีแป้งและความหวานมาก ต้องเก็บรักษาไว้อย่าให้แมลงมารบกวน เพราะพวกมอดและแมลงอื่นชอบกิน ถ้ารากผุจะทำให้เสื่อมคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังใช้รากผสมตัวยาอื่น ช่วยกลบรสยา หรือแต่งยาให้หวานอีกด้วย

ในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่แม่ฮ่องสอนใช้ราก ต้มผสมสมุนไพรอื่นๆ ใช้แก้ไข้ หนาวสั่น เถามีรสหวาน คนพื้นบ้านนิยมตัดเป็นท่อนๆ ให้เด็กเคี้ยวเพื่อให้ชุ่มคอ และแก้เจ็บคอ

ส่วนเปลือกของรากมีสีแดง มีรสหวานใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้คลื่นเหียน อาเจียน

เถา ทำให้ชุ่มคอและแก้เจ็บคอ ใช้เป็นยาบำรุงปอด ขับเลือดที่เน่าในท้อง รักษาพิษยาหรือพืชพิษต่างๆ

ลำต้นหรือราก ผสมแก่นฝาง ผลพริกไทย เหง้าขิง และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ

ใบ ทำให้เสมหะแห้ง และเป็นยารักษาดีพิการ ดอก ใช้รักษาอาการคัน และรักษาพิษฝีดาษ ผล มีรสหวาน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และอาการคอแห้ง ทำให้ชุ่มชื่น

ในตำรายาจีนมีข้อบ่งใช้ว่า ส่วนของรากใช้เป็นยารักษาวัณโรคปอด (pulmonary tuberculosis) ลดอาการอักเสบ ฟื้นฟูระบบทางเดินหายใจและแก้ไอ มีการศึกษาเชิงลึกในประเทศไทยพบว่ามีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ

และพบว่าในเนื้อไม้ของชะเอมเถา มีสารลูปินิโฟลิน (lupinifolin) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียกก่อโรคฟันผุ Streptococcus mutans ได้ดี

จากฐานข้อมูลสมุนไพรมหาวิทยาลัยมหิดลแสดงให้เห็นว่าสารลูปินิโฟลินและสารสกัดเอทธานอลที่ได้จากลำต้นของชะเอมเถา แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อเริมได้ดีมาก นอกจากนี้ ยังเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม

รายงานวิจัยจากประเทศจีนได้ทำการสกัดจากทุกส่วนของชะเอมเถาพบสารสเตอรอล แซบโปนิน (steroidal saponins) ชนิดใหม่ 2 ชนิด คือ extensumsides A and B ซึ่งมีคุณสมบัติแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งที่ได้จากการเพาะเลี้ยงอย่างน้อย 5 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7 และ MDA-MB-231) เซลล์มะเร็งรังไข่ (OVCAR-3) เซลล์มะเร็งปอด (A-549) เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HT-29) และมะเร็งไต (ACHN)

ในประเทศจีนมีการวิจัยพบสารใหม่อย่างน้อย 12 ชนิดในรากของชะเอมเถา ในจำนวนนี้เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าซูโคลส 25-400 เท่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี

มองจากการใช้ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมและงานวิจัยเชิงลึกแสดงให้เห็นว่าชะเอมเถาเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพที่เป็นได้ทั้งอาหารและยา ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นยาได้หลากหลายโดยเฉพาะการพัฒนาให้เป็นยาที่จะใช้กับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเนื่องจากมีสารทดแทนความหวาน

และที่ใกล้ตัวทุกคนที่ต้องอยู่กับโควิด-19 ที่อาจพบกับอาการลองโควิด (long COVID) ที่ส่งผลกระทบกับร่างกายหลังจากที่รักษาหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

เพราะในรากชะเอมเถามีสารที่สามารถฟื้ฟูระบบการทำงานของทางเดินหายใจ ทำให้ลดอาการไอและชุ่มคอ ชะเอมเถาจึงเป็นทางเลือกที่ดีชนิดหนึ่งในการใช้เป็นอาหารหรือพัฒนาให้เป็นยาสมุนไพรแห่งอนาคตได้ •