โฟกัสพระเครื่อง/พระกริ่งหนองแส หลวงปู่กลีบ วัดตลิ่งชัน พระเกจิชื่อดังฝั่งธนบุรี

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระกริ่งหนองแส หลวงปู่กลีบ

วัดตลิ่งชัน พระเกจิชื่อดังฝั่งธนบุรี

“วัดตลิ่งชัน” เป็นอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งในย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ.2310

ยุคที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด คือ สมัยที่ “พระครูทิวากรคุณ” หรือ “หลวงปู่กลีบ พุทธรักขิโต” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลคลองชักพระ

เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยเมตตา และมีวิทยาคมเข้มขลัง วัตถุมงคลหลายรุ่นปัจจุบันได้รับความนิยม

ลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพเลื่อมใส ต่างพากันให้ความร่วมมือในการพัฒนาวัดเป็นลำดับ จึงไม่ใช่แต่เป็นพระสังฆาธิการที่มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาเท่านั้น แต่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีคุณวิเศษกิตติคุณความขลัง

เป็นที่ศรัทธามาจนทุกวันนี้

สร้างวัตถุมงคลไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน

พ.ศ.2479 เมื่ออายุครบ 60 ปี คณะศิษย์ขออนุญาตหลวงปู่จัดทำบุญแซยิด จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนและแหวนมงคล 8

ต่อมาในปี พ.ศ.2494 หลวงปู่กลีบ ปรึกษาพระมงคลราชมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามฯ หรือท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์ ยติธโร) เรื่องหาปัจจัยสร้างมณฑปที่ยังค้างอยู่ ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) จึงแนะนำให้สร้างพระกริ่ง โดยใช้พิมพ์ของพระกริ่งหนองแสเป็นต้นแบบ

“พระกริ่งหนองแส” ตามประวัติเชื่อกันว่าเป็นพระกริ่งสกุลช่างแห่งมณฑลซัวไซ เช่นเดียวกับพระกริ่งใหญ่และพระกริ่งอุบาเก็ง เหตุที่เรียกว่า พระกริ่งหนองแส สันนิษฐานว่ามีการพบพระกริ่งประเภทนี้ครั้งแรกที่เมืองหนองแส ซึ่งอยู่บริเวณตอนใต้ของจีนอยู่เหนือเมืองเชียงตุงขึ้นไป เรียกชื่อตามสถานที่พบ

เช่นเดียวกับพระกริ่งอุบาเก็ง ที่ขุดค้นพบครั้งแรกที่ปราสาทเขาพนมบาเก็ง จึงเรียกว่า “กริ่งบาเก็ง”

กำหนดวันที่ 17 กรกฎาคม 2494 ประกอบพิธีหล่อโดยใช้ชนวนพระกริ่งของวัดสุทัศน์ที่ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) มอบให้ และทองชนวนของหลวงปู่กลีบ เทหล่อหลังจากที่ประกอบพิธีที่วัดสุทัศน์เสร็จแล้ว หลวงปู่กลีบ นำกลับมาปลุกเสกเดี่ยวอีกหนึ่งพรรษา จึงนำออกมาแจกในปี พ.ศ.2495

พระกริ่งรุ่นดังกล่าว หล่อตันแล้วจึงนำมาเจาะรูบรรจุเม็ดกริ่ง และอุดด้วยทองชนวน วรรณะออกสีเหลืองอมเขียว ผิวสีน้ำตาลอ่อน

ปัจจุบัน หายากมาก วงการพระเครื่องนิยมเล่นหา คนยุคก่อนเชื่อว่า นำพระกริ่งหนองแสไปแช่น้ำสะอาดทำน้ำพระพุทธมนต์รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย นักสะสมต่างแสวงหามาครอบครอง สนนราคาเล่นหาก็สูงตามไปด้วย

ประวัติชีวิตหลวงปู่กลีบ ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นบุตรของนายสิงห์ และนางห่วง สิงห์โต คหบดีผู้มั่งคั่งย่าน ต.คลองชักพระ อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี (สมัยนั้น) ถือกำเนิดเมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม 2419 ปีขาล พี่น้องรวม 8 คน

ในวัยเยาว์ เรียนอยู่ในสำนักวัดตลิ่งชัน ศึกษาอักขรสมัยทั้งไทย บาลี พระคัมภีร์และพระธรรมบท จำจดได้เชี่ยวชาญและแตกฉานเป็นอันดี ก่อนที่จะเข้าอุปสมบทเมื่ออายุครบ 21 ปีที่วัดตลิ่งชันนั่นเอง

มีเจ้าอธิการม่วง วัดนายโรง เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธัมมสรมหาเถร) วัดพระเชตุพนฯ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระอมรเมธาจารย์ และพระอาจารย์เทศ วัดกัลยาณมิตร เป็นคู่กรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า พุทธรักขิโต

พรรษาที่ 2 ย้ายไปอยู่สำนักวัดมหาธาตุ ฝั่งพระนคร ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่หนึ่งพรรษา ก็ย้ายมาอยู่สำนักวัดสุทัศน์ เรียนหนังสือไทยและพระปริยัติธรรม จบมูลกัจจายน์ และเรียนคัมภีร์พระธรรมบท

บังเอิญเกิดอาพาธ เป็นเหตุให้ต้องหยุดพักกลับมารักษาตัวที่วัดตลิ่งชัน

เมื่อหายเป็นปกติก็พอดีกับตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง พระครูธรรมจริยาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดคฤหบดี จึงเสนอคณะสงฆ์ให้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปกครองดูแลวัดตลิ่งชันสืบต่อมาในปี 2448

พ.ศ.2455 รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดบริหารกิจการของวัดและการคณะทั้งฝ่ายปริยัติและบริหาร พ.ศ.2467 ในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูทิวากรคุณ ตำแหน่งเจ้าคณะหมวด พ.ศ.2469 รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่กลีบ มีความชำนาญทั้งงานพัฒนา เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ และด้านวิทยาคม โดยเฉพาะการทำผงทุกแขนง แต่ไม่โอ้อวด ทราบกันในหมู่ศิษย์ที่ใกล้ชิดเป็นอย่างดี

อีกทั้งเป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี 2485 ซึ่งพระเกจิอาจารย์ยุคนั้น รับประกันได้ในความเข้มขลังด้านพลังพุทธาคม

ภาพลักษณ์ของท่านเป็นแบบคนโบราณ นิยมฉันพืชผัก รักสงบ และสมถะ มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา

กระทั่งวันที่ 9 มกราคม 2501 จึงมรณภาพลงอย่างสงบ เวลา 22.15 น. สิริอายุ 82 ปี พรรษา 61