หน้า 8 : ภาพลวงตา

ถ้าวันหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

แล้วกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาออกเอกสารข่าวบิดเบือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรี”

เป็นแค่ “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

ถามว่ารัฐบาลไทยจะรู้สึกอย่างไร

นั่นคือ คำตอบว่าทำไม นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จึงออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อหน้า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย

ยืนยันว่า นางแคทธีนา อดัมส์ เป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่เวรข่าว” ตามที่กระทรวงการต่างประเทศไทยของไทยกล่าวอ้างในเอกสารข่าว

และตามด้วยการอ่านเอกสารสดๆ

แสดง “จุดยืน” ของสหรัฐอเมริกาต่อไทยกับสื่อมวลชนโดยตรง

ไม่ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

แสดงให้เห็นชัดว่าเขากลัว “การแปลงสาร”

เหมือนที่เคยเจอกรณีตำแหน่งของ “แคทธีนา อดัมส์”

จาก “โฆษก” เหลือแค่ “เจ้าหน้าที่เวรข่าว”

 

คําถามที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องท่าทีของสหรัฐอเมริกาเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยแล้ว

ประเด็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งก็คือ ประสิทธิภาพของกระทรวงการต่างประเทศ

การบอกว่า นางแคทธีนา อดัมส์ เป็นแค่ “เจ้าหน้าที่เวรข่าว” ทั้งที่เธอเป็น “โฆษกกระทรวงต่างประเทศ”

เป็นการตั้งใจ “บิดเบือน” เพื่อลดความน่าเชื่อถือของข่าว

หรือ “ไม่รู้” จริงๆ

กรณีแรก ถ้า “รู้” แต่ต้องการ “แปลงสาร”

พล.อ.ประยุทธ์ รู้ไหมว่านี่เป็นแค่ “กลยุทธ์”

ไม่ใช่ “ความจริง”

ส่วนกรณีที่สอง ถ้า “ไม่รู้” จริงๆ ว่า “แคทธีนา อดัมส์” เป็นใคร

แบบนี้เรื่องใหญ่แล้ว

เพราะเรื่องเล็กๆ แค่นี้

ยังไม่รู้

แล้วเรื่องใหญ่ๆ อย่างกรณี “ประมง” หรือ “การบิน” ของไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทยตีความสัญญาณที่ส่งมาถูกต้องหรือไม่

คิดว่าต่างประเทศเขาคิดกับไทยแบบนั้นจริงๆ

โดยไม่สำเหนียกเลยว่านี่คือเรื่องการเมืองที่เขาตอบโต้ไทยเรื่องการรัฐประหาร

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาแบบตรงๆ

เหมือนไม่รู้ว่าปัญหาแท้จริงของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน


คนเป็น “ผู้นำ” ไม่มีทางที่จะรู้ทุกเรื่อง

เขาต้องรับข้อมูลจาก “ลูกน้อง”

ถ้า “ลูกน้อง” เสนอข้อมูลผิด

การตัดสินใจก็ย่อมพลาด

จากกรณี “แคทธีนา อดัมส์” ของกระทรวงการต่างประเทศ

จนถึงเรื่องสคริปต์ “นายกฯ สู้สู้” ของกระทรวงศึกษาธิการ

บางที พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องทบทวนแล้วว่าสิ่งที่เขาเห็นและรับรู้ตลอดมานั้นเป็น “เรื่องจริง”

หรือเป็น “ภาพลวงตา”