สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/ส้มกุ้ง สมุนไพรในพระไตรปิฎก

มุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ส้มกุ้ง สมุนไพรในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อ ลูกพิลังคะ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันเป็นยาได้

ในแวดวงการแพทย์แผนไทย และมีเอกสารหลายชิ้นได้กล่าวไว้ว่า ลูกพิลังคะ หมายถึง ผลของต้น พิลังกาสา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia polycephala Wall. ex A.DC. มีชื่อท้องถิ่น เช่น ผักจำ ผักจ้ำแดง (เชียงใหม่ เชียงราย) ตีนจำ (เลย), ลังพิสา (ตราด) ทุรังกาสา (ชุมพร) ราม (สงขลา) ปือนา (มลายู-นราธิวาส) พิลังกาสา (ทั่วไป) จิงจ้ำ ตาปลาราม ตาเป็ด ทุกังสา เป็นต้น

พิลังกาสาสมุนไพรชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์แผนไทย เนื่องจากทุกส่วนของพืชนำมาใช้เป็นยา เช่น ผลสุกนำมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน หรือใช้ผงยา 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำครึ่งแก้วดื่ม ช่วยบำรุงโลหิต ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ในกองอติสารโรค ช่วยแก้ธาตุพิการ ช่วยแก้โรคระดูของสตรี ด้วยการนำผลสุกมาตากแห้ง บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกินก็ได้ ส่วนของต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน กุฏฐัง รากใช้เป็นยาพอกปิดแผล ถอนพิษงูกัด แก้พิษงู

หรือใช้กากพอกแผลแล้วเอาน้ำกินถอนพิษด้วย

แต่การศึกษาเปรียบเทียบและรายงานของ Jyotir Mitra (ค.ศ.1958 หรือ พ.ศ. 2528) พบว่า ลูกพิลังคะ ไม่ใช่ต้นพิลังกาสา แต่หมายถึง ต้นส้มกุ้ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Embelia ribes Burm. และ ส้มกุ้งแขก Embelia robusta Roxb.

ส้มกุ้ง ชนิด Embelia ribes Burm. มีชื่อสามัญว่า False Black Pepper, White-flowered Embelia, Vidanga, Vaividang, Vai Vidang, Vavding เป็นต้นไม่มีในไทยมีชื่อท้องถิ่นว่า สนขี้มด (หนองคาย) ส้มกุ้ง (ระนอง ตรัง) เป็นต้น

ส้มกุ้งเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยอาจยาวได้ถึง 13 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ดอกเป็นช่อแยกแขนง ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือดำ ฉ่ำน้ำ

ส้มกุ้ง เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์หลายอย่าง

เช่น ส่วนของเถา ราก ใบ ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ ละลายเสมหะหรือแก้เสมหะได้

ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืด

เถาและใบใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้อุจจาระนิ่ม และใช้เป็นยาขับฟอกโลหิตระดู

เนื้อไม้และกระพี้ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัดหรือขุ่น แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยชะล้างทางเดินปัสสาวะ

เถา เนื้อไม้และราก ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็น ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน เมล็ดใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด

วิธีปรุงยาใช้เมล็ดส้มกุ้งที่แห้งแล้วนำมาป่นให้เป็นผง ใช้ประมาณ 1-2 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม เช้าและเย็น

สําหรับ ส้มกุ้งแขก เดิมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Embelia robusta Roxb. แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Embelia tsjeriam-cottam (Roem. & Schult.) A.DC. ส้มกุ้งแขกเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือเรียกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก กิ่งย่อยบางส่วนสามารถพาดพันไปกับไม้อื่นๆ ด้วย

ส้มกุ้งแขกสมุนไพรชนิดนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย แต่ในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะความรู้ทางอายุรเวทมีการใช้เป็นยาค่อนข้างมาก

เช่น ใช้ขับพยาธิ และผสมในยาตำรับหลายตำรับ ส่วนต่างๆ ของต้นส้มกุ้งแขกนำมาต้มดื่มแก้โรคหัวใจและอาการวิกลจริต ผลใช้เป็นยาขับพยาธิ เข้ายาแก้อาการชัก เกร็ง และยาขับแก๊สออกจากกระเพาะอาหาร เมล็ดแห้งนำมาบดเป็นผงสกัดเอาน้ำมันมาใช้เป็นยาแก้เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เปลือกรากใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ส่วนของใบนำมาต้มรวมกับขิง ใช้กลั้วปาก แก้อาการเจ็บคอ

ส้มกุ้งแขก มีสาระสำคัญ ชื่อ Embelin (a benzoquinone) และ gallic acid (a polyphenol) สารทั้ง 2 ชนิดนี้มีการศึกษาเชิงลึกพบว่ามีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านมะเร็ง

นอกจากส้มกุ้ง 2 ชนิดที่กล่าวแล้ว ในประเทศไทยยังมีการจำแนกส้มกุ้งอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Embelia subcoriacea (C.B.Clarke) Mez มีชื่อท้องถิ่นว่า ส้มอ๊อบแอ๊บ (พิษณุโลก) นมนาง (ลำปาง) เบลงบล๊องดุ่ (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) ป้องเครือ (ภาคเหนือ) แม่น้ำนอง (เชียงใหม่) ส้มขี้หม่อน (หนองคาย) ส้มกุ้ง (มหาสารคาม) ซึ่งในตำราพื้นบ้านอีสานนำมาเข้ายาดับพิษจากไข้หมากไม้ (ไข้ชนิดหนึ่ง) ส่วนของแก่นนำไปต้มกับแก่นฝาง แก้อาการปัสสาวะเหลือง ส่วนของผลกินได้มีรสเปรี้ยวอมหวาน

ใบมีรสเปรี้ยวใช้ประกอบอาหารได้ด้วย

การศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงจะเห็นว่า คำว่า ลูกพิงลังคะ ที่กล่าวถึง พิลังกาสา และ ส้มกุ้ง นั้น สมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณแตกต่างกัน และจากหนังสือ Asceticism and Healing in Ancient India : Medicine in the Buddhist Monastery งานของ เค็นเน็ธ จี ซีสก์ แปลโดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ (2552) ได้กล่าวถึงพืชชนิดนี้ในตำรายาอินเดียโบราณเช่นกัน

โดยอ้างถึงการเรียกพืชชนิดนี้ในภาษาบาลีว่า วิลงฺค หรือภาษาสันสกฤตว่า วิลังคะ แต่พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา ใช้คำว่า พิลังคะ ซึ่งนำไปสู่การระบุชื่อพืชที่ไม่ตรงกัน

การจำแนกแยกแยะพืชสมุนไพรยังต้องพิจารณากันต่อไป แต่มูลนิธิสุขภาพไทยเชื่อมั่นว่า ส้มกุ้งทุกชนิดที่กล่าวมานี้มีประโยชน์ทั้งทางอาหารและยา จึงควรช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการใช้และควรปลูกกันให้มากๆ โดยเฉพาะในวัดทุกวัด เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาที่สอดคล้องกับที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกด้วย