ในประเทศ/”พยัคฆ์” ซุ่ม “กระทิงแดง” ซู่ซ่า ขี่ประชารัฐ “เช่า” ป่าชุมชน

ในประเทศ

“พยัคฆ์” ซุ่ม “กระทิงแดง” ซู่ซ่า ขี่ประชารัฐ “เช่า” ป่าชุมชน

จากข้อมูลในสื่อโซเชียล ขยายผลโดยสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์

กรณีกระทรวงมหาดไทยลงนามวันที่ 1 มิถุนายน 2559 อนุมัติให้บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่มบริษัท “กระทิงแดง” ใช้ที่สาธารณะห้วยเม็ก บ้านหนองแต้ หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา

กำลังเป็นปลายหอกพุ่งใส่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะเจ้ากระทรวงผู้ลงนามอนุมัติ

“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถูกยกให้เป็น “พี่รอง” ในสามพี่น้อง “บูรพาพยัคฆ์” มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็น “พี่ใหญ่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็น “น้องเล็ก”

อย่าไปคิดเรื่อง “เรือเหาะ” “จีที 200” และ “รถถังยูเครน” เมื่อครั้งอดีตของใคร

หากหลังร่วมเป็นหลักในการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล เป็น รมว.มหาดไทย ถึงปัจจุบัน พล.อ.อนุพงษ์ เป็นรัฐมนตรีที่ “เงียบ” ที่สุดคนหนึ่ง ไม่ใช่เงียบเพราะ “โลกลืม”

แต่เงียบในลักษณะ “พยัคฆ์ซุ่ม”

จวบจนกระทั่งเรื่องการอนุมัติใช้พื้นที่สาธารณะ “ห้วยเม็ก” จ.ขอนแก่น แดงออกมา ลุกลามรวดเร็วเหมือนไฟไหม้ป่า เป็นเหตุให้ “พยัคฆ์” นิ่งเฉยต่อไปไม่ได้

ต้องกระโจนออกจากที่ “ซุ่ม” โดยพลัน

“ผมยืนยันว่าถ้ามีประชาชนไม่เห็นด้วยแม้แต่คนเดียว ก็ไม่ให้แล้ว เพราะมันเป็นที่สาธารณะร่วมกัน” คือคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน

กรณีองค์กรชุมชนและชาวบ้านพื้นที่บ้านหนองแต้ หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น คัดค้านการอนุมัติให้บริษัทเคทีดีฯ หรือบริษัท “กระทิงแดง” ใช้ที่สาธารณะห้วยเม็ก

ทั้งยังร่วมกันเข้าชื่อในหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ขอให้สั่งการกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกคำสั่งอนุญาตดังกล่าว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกระบวนการอนุมัติให้บริษัทเอกชน ใช้ประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว

มีชื่อผู้ถูกร้องให้ตรวจสอบ ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย, อธิบดีกรมที่ดิน, ผอ.สำนักกฎหมาย สำนักปลัดมหาดไทย, อดีตผู้ว่าฯ ขอนแก่น และอดีตนายก อบต.บ้านดง

เนื่องจากเห็นว่า อาจเป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ที่มีวัตถุประสงค์หากำไรสูงสุดมาแบ่งปันเฉพาะในกลุ่มผู้ถือหุ้น ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชนสภาพสมบูรณ์ ที่ราษฎรยังใช้ประโยชน์อยู่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาชี้แจงเรื่องหนังสือร้องเรียนของชาวบ้านว่า

ตนเองก็เพิ่งรู้ว่าเป็นบริษัทเครือกระทิงแดงที่ขอใช้พื้นที่ ถาม พล.อ.อนุพงษ์ ก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะเป็นการทำงานปกติ เริ่มมาจากท้องถิ่น อำเภอ และผู้ว่าฯ เสนอขึ้นมา

ขณะนี้กำลังสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ทำไมไม่มีข้อมูลแนบท้ายมาให้พิจารณา ว่ากรณีดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่ และไม่รู้ว่าเป็นลูกหลานใคร ฉะนั้น อย่าเอามาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกัน

กระทรวงมหาดไทยกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การอนุญาตให้บริษัทเคทีดีฯ เช่าใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้น

ทางจังหวัดขอนแก่น รายงานข้อเท็จจริงมาว่า เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามกฎหมายที่ดิน

ที่ผ่านมาบริษัทเคทีดีฯ เข้าซื้อดินรอบป่าชุมชนเพื่อสร้างโรงงานกว่า 500 ไร่ เมื่อปี 2555 และขอใช้ที่ดินขยายโรงงานเพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่มและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในปี 2558 อีก 31-2-63 ไร่ ดังกล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าฯ ระบุ กรณีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่ง เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า การทำเรื่องขออนุมัติใช้ที่ดิน ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน

ทั้งนี้ สิ่งที่ “จังหวัด” รายงาน คือ การอนุญาตดังกล่าวปฏิบัติตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามกฎหมายที่ดิน

เนื่องจากเป็นสภาพที่ดินแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ปัจจุบันราษฎรไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน ไม่มีทรัพยากรมีค่าในดิน

ที่สำคัญ อบต.บ้านดง และชาวบ้าน ได้ประชุมลงมติเห็นชอบให้บริษัทเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้

โดยมีหลักฐานหนังสือยืนยันการจัดทำประชาคม หรือประชาพิจารณ์ จาก “อบต.บ้านดง” และ “อำเภออุบลรัตน์” รวมถึงการประกาศหาผู้คัดค้านภายใน 30 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนด ไม่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้าน

จากการตรวจสอบของ “กรมป่าไม้” ยังพบว่า

ป่าชุมชนแปลงดังกล่าวเป็นแปลงโคกป่าช้า ไม่ใช่ห้วยเม็ก ทั้ง 2 แปลง ห่างกัน 3.5 กิโลเมตร โดยบริษัทเคทีดีฯ ได้รับอนุญาตให้แผ้วถางจากกรมป่าไม้แล้ว

ชาวบ้านในพื้นที่ และสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง ร่วมกันคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2559

โดยเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ ขอนแก่น ขอให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวเขตป่าห้วยเม็ก โดยอ้างว่าบริษัทเคทีดีฯ กำลังก่อสร้างโรงงานรุกล้ำที่สาธารณะ

รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการสัญจรไปทำไร่นาและการเกษตร รวมทั้งยังแผ้วถางปรับพื้นที่ป่าบางส่วน

ประธานสภาองค์กรชุมชนยืนยันว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการให้บริษัทเข้ามาใช้พื้นที่ เนื่องจากชาวบ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านได้กันไว้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการเลี้ยงสัตว์ หาของป่า และอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล ทั้งยังสร้างกติการ่วมกันในการใช้พื้นที่และปกป้องรักษามานานถึง 60 ปี

ที่ผ่านมาชาวบ้านทำหนังสือคัดค้านผ่านผู้บริหาร อปท. นายอำเภอ ไปถึงจังหวัด และสำนักงานที่ดินจังหวัด แต่เรื่องเงียบหายไป จนมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว

จากการลงพื้นที่ของสื่อมวลชน สำรวจพบว่า สภาพป่ายังอุดมสมบูรณ์ มีไม้หวงห้ามขนาดใหญ่หลายชนิด ขึ้นอยู่หนาแน่น รวมถึงสมุนไพร และของป่า แหล่งอาหารของชาวบ้าน

แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ การที่ชาวบ้านบางคนยืนยัน ไม่เคยทราบเรื่องการทำประชาพิจารณ์ ทั้งในส่วนของการใช้พื้นที่สร้างโรงงาน หรือการเช่าใช้พื้นที่ป่าชุมชน

การไปมีชื่ออยู่ในรายงานของผู้นำชุมชน หรือหน่วยงานต่างๆ

น่าจะเป็นการถูกนำไปแอบอ้างมากกว่า

การทำประชาคม หรือประชาพิจารณ์ การใช้ที่สาธารณะห้วยเม็ก จ.ขอนแก่น

กำลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง หรือเป็นแค่พิธีกรรมจัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของคนในหน่วยงานต่างๆ ในการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัท “กระทิงแดง” ที่กำลังถูกสังคมจับตาหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งของความไม่โปร่งใสในการจัดทำประชาพิจารณ์ ได้กลายเป็นการเปิดทางให้ “พยัคฆ์” กระโจนเข้าใส่ทันที

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกาศพร้อมเพิกถอนการให้บริษัทเคทีดีฯ เช่าใช้พื้นที่ทันที หากทำผิดเงื่อนไข กระทั่งได้รับการคัดค้านจากชาวบ้าน

แต่ที่รุกคืบกว่านั้น คือการสั่งให้อธิบดีกรมที่ดินตรวจสอบว่า ทำไมถึงไม่มีเอกสารในส่วนของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยส่งขึ้นมาประกอบการพิจารณา เหตุใดจึงมีแต่เอกสารที่ระบุว่า ประชาชนเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ ซึ่งสวนทางกับความจริงที่ยังมีชาวบ้านออกมาคัดค้าน

โดยขีดเส้นตรวจสอบให้เสร็จสิ้นใน 15 วัน หากพบว่ามีการใช้เอกสารไม่ครบ จะสั่งเพิกถอนทันที พร้อมลงโทษทางวินัยข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงโทษอาญา หากพบว่ามีการจัดทำเอกสารโดยมิชอบ

โยน “เผือกร้อน” พ้นมือไปได้เฉียดฉิว

ท่ามกลางความโล่งใจของ “น้องเล็ก” ที่สามารถปลดชนวนร้อนไปได้ 1 เรื่อง