ทำไมคนเราต้องเหงา/บทความพิเศษ ธเนศ วงศ์ยานนาวา

บทความพิเศษ

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

 

ทำไมคนเราต้องเหงา

 

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราไม่ได้เกิดมาด้วยคนเดียวสัตว์เลี้ยงลูกด้วยต้องร่วมเพศ แลกเปลี่ยนยีนกัน มนุษย์รับเอาพันธุกรรมจากทั้งฝ่ายพ่อและแม่ มนุษย์เกิดมาจากการผสมพันธุ์ มนุษย์ต้องการคนอื่นเสมอ เช่น จัดงานศพให้ ยกเว้นจะปล่อยให้ตัวเองตายกลางป่าลึกหรือกลางมหาสุมทรแล้วให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ประโยชน์จากศพของเรา

หลายสิ่งหลายอย่างจึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น เกียรติยศชื่อเสียง และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนอื่นมอบให้ เราไม่ได้สร้างมันขึ้นมาเอง มนุษย์ต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ถ้าไม่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ก็ลำบาก แต่ถ้าไม่ต้องการเลยก็ดูจะเป็นวีรบุรุษวีรสตรีดี เหมาะจะไปทำรายการสารคดี

แต่ถ้ารักสันโดษก็อยู่คนเดียวได้ แยกออกไปอยู่ทะเลทรายคนเดียวแบบ St. Anthony ในคริสต์ศตวรรษที่ 34 หรือปลีกตัวเองไปตามขั้นตอนของอาศรมสี่ของอินเดียก็ได้ไม่เป็นไร

การตัดแล้วซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างทางโลกก็ไม่จำเป็นต้องเหงา เพราะไม่ต้องการให้ใครมาให้เกียรติยศชื่อเสียง ความเหงาก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ต้องการติดต่อกับใครจริงๆ

ถ้ายังต้องการให้คนมาติดต่อเช่นพ่อแม่มาคุยลูกๆ มาคุยถ้าไม่มีก็เหงาได้ คนแก่ไม่ได้ติดต่อกับใครเหมือนตอนหนุ่มๆ สาวๆ ก็ทำให้เหงาและบั่นทอนสุขภาพได้เสมอ

ความเหงาจึงกลายมาเป็นประเด็นทางการแพทย์ จนสามารถยกระดับเป็น ‘epidemic’

มีการค้นคว้ายารักษาโรคความเหงาที่จะส่งผลต่อสุขภาพในมิติอื่นๆ อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนากลายเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดทิ้งไป เพราะเป็นสภาวะที่บ่อนทำลายสุขภาพ

แต่ความเหงาก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ทุกๆ ช่วงชีวิตความเหงาเกิดขึ้นได้ตลอด ในเชิงชีววิทยาวิวัฒนาการความเหงากำลังบอกว่าเราอยากจะติดต่อกับคนอื่นๆ เพราะมนุษย์มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ เช่น เพื่อช่วยปกป้องจากภัยอันตราย

เพราะฉะนั้น ความเหงาก็เป็นตัวบ่งชี้ว่ากำลังขาดอะไรบางอย่างไป แต่ถ้าเหงาหนักๆ ก็ทำให้แย่ได้

ด้วยเงื่อนไขทางกายภาพคนแก่ เช่น ไปไหนมาไหนลำบากกินอาหารลำบากสังสรรค์ไม่ได้ก็มักจะเหงามากกว่าคนหนุ่มสาว

ถ้าคนแก่มักจะเหงาก็พอจะบอกได้ว่าสังคมคนแก่ก็จะเป็นสังคมความเหงาได้ง่ายมากขึ้น

มีการเปรียบเทียบว่าเหงาเลวร้ายต่อสุขภาพเหมือนกับสูบบุหรี่วันละสิบห้าตัว พูดง่ายๆ ความเหงาเพิ่มโอกาสให้ตายได้ง่ายมากขึ้น

ความเหงาเกิดขึ้นได้ตลอดในช่วงต่างๆ ของชีวิต เช่น 30 ก็เป็นวัยที่การทำงานและการสร้างเนื้อสร้างตัวกำลังมาแรง ไม่ค่อยไปงานเลี้ยงสังสรรค์แล้ว บางคนก็อาจจะต้องการคู่แต่พอหาไม่ได้ก็เหงาได้ กิจกรรมทางสังคมก็น้อยลง

หรือจะเป็นอายุ 65-70 ช่วงเกษียณเต็มที่แล้วไม่ได้ทำงานกับผู้คน ร่างกายก็เสื่อมถอย

สำหรับคนแก่ความเหงาจึงถูกยกให้กลายเป็นโรค มีผลกระทบมากๆ ต่อสุขภาพ

ความเหงาก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในช่วงอายุ แน่นอนโครงสร้างของแต่ละสังคมก็นำไปสู่ความเหงาที่แตกต่างกันไป

ความเหงาของเด็กๆ ที่ไม่มีเพื่อนก็ไม่เหมือนกับความเหงาของคนอพยพย้ายถิ่น

แต่ในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมาความเหงารุกลามไปถึงคนหนุ่มสาวด้วย การอยู่คนเดียวก็จะสัมพันธ์กับความเหงา แต่การอยู่คนเดียวแบบคนรักสันโดษ ก็ไม่จำเป็นต้องเหงา

ความเหงาและสภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน แต่สัมพันธ์กันได้

สองเรื่องนี้เป็นสภาวะอะไรมาก่อนมาหลังก็เถียงกันได้ตลอดเหมือนกับการเมืองความรักความเหงาตอนนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะสังคมตะวันตก แต่ก็เกิดได้ในทุกสังคม

ประเทศที่มีความเหงามากๆ ที่ผ่านๆ มาก็ได้แก่ สวีเดน อังกฤษ ญี่ปุ่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา แคนนาดา รัสเซีย แอฟริกาใต้ เคนยา บราซิล เป็นต้น

 

การมีใครสักคนแล้วยังเหงาอยู่

การอยู่ท่ามกลางผู้คนก็เหงาได้

คนบางคนอาจจะรำคาญเสียด้วย อยู่ในครอบครัวด้วยกันก็อาจจะไม่ได้ช่วย ความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดกันจริงๆ ในครอบครัวก็ไม่ได้เกิดกับทุกๆ คน สนิทสนมกับใครจริงๆ ในครอบครัวล่ะ สนิทมากจนคุยกันได้ทุกเรื่องหรือเปล่า

บางคนก็คุยกับพี่กับน้อง กับพ่อ ไม่กับแม่ หรือกลับกัน ธรรมดาพ่อแม่พี่น้องเองก็ไม่ได้สนิทใจเหมือนกันหมดทุกคน

บางทีไม่สนิทก็ไม่รู้จักปรึกษากับใครในครอบครัว

คุณไว้ใจใครล่ะ

ถ้าไม่มีใครไว้ใจก็เหงาได้

อารมณ์เหงาที่เกิดขึ้นจากไม่มีใครไว้ใจได้จึงไม่ได้เป็นความเหงาเพราะต้องการปฏิสัมพันธ์กับใคร

อารมณ์ความรู้สึกของคนบางคนพอรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือครอบครัวก็เหงา

ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นจากความเจ็บแค้น ความโกรธ น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีใครที่เราไว้ใจ

การรับรู้และความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองและความเข้าใจว่าไม่มีใครในชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นี่เป็นความจริงของผู้รับรู้และรู้สึกว่าเป็นแบบนั้น

แน่นอนนี่เป็นเรื่องอัตวิสัยของคนแต่ละคน

 

ทำไมความเหงาถูกมองในความหมายลบ?

ความเหงาบ่งบอกถึงความเปราะบางของชีวิต บางคนมองว่าเป็นความอ่อนแอที่ไม่สามารถจัดการชีวิตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ ชีวิตถูกหล่อหลอมให้ต้องกล้าหาญเข้มแข็ง บางทีก็ถึงขั้นพร้อมจะตายเพื่ออุดมการณ์ความเชื่อแบบเหล่าชนชั้นนักรบในอดีต

ความกล้าหาญเมื่อผนวกเข้ากับอุดมการณ์ปัจเจกชนนิยมพร้อมเสมอที่จะสร้างความเป็นวีรบุรุษวีรสตรีให้กับตัวเอง สร้างตำนานให้กับตัวเอง เช่น ต้องอิสสระ ไม่พึ่งพาใคร สู้ด้วยลำแข็งตัว ไม่ต้องการพึ่งพาใครแม้กระทั่งพ่อแม่พี่น้องเพื่อนๆ ทุกๆ อย่างเป็นความสำเร็จของตัวเองโดดๆ น้ำมือตัวเอง ทุกอย่างเป็นของตัวเองเพื่อตัวเองโดยตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

อุดมการณ์ความเชื่อและวิถีปฏิบัติพวกนี้ก็ทำให้ความเปราะบางของชีวิตเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ความเหงาก็หล่อเลี้ยงสำนึกของการใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วก็ในทางกลับกันการยกให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างก็นำไปสู่ความเหงา คนคนนั้นก็ห่างเหินจากสังคมมากยิ่งขึ้น

การห่างเหินจากสังคมอาจจะเป็นกลไกในการดูแลปกป้องตัวเองจากอันตรายจากคนอื่นๆ หรือสังคมในระยะสั้น

แต่ในระยะยาวก็อาจจะเป็นปัญหากับการเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์

 

ความเหงาทำไมไปสัมพันธ์กับเรื่องทุนนิยม?

ความเหงาสัมพันธ์ได้กับเรื่องสารพัด อายุ ครอบครัว ชนชั้น เพศ เมือง ชนบท ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ ก็สุดแท้แต่หยิบยกกันขึ้นมา

ในทางกายภาพที่เหงาเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาความสัมพันธ์ของมนุษย์กับต่างๆ

ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังต้องเชื่อมตัวเองเข้าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพียงแต่การอยู่คนเดียวท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่า เจ้าเขา ก็ไม่ได้มีนัยของการมีอารมณ์เหงาที่ขาดการติดต่อกับอะไรบางอย่าง

การอยู่คนเดียวทางกายภาพที่มีความเชื่ออะไรบางอย่างไม่ได้หมายถึงการตัดขาดทางจิตวิญญาณ การอยู่คนเดียวกลับไม่ได้อยู่คนเดียว อย่างน้อยๆ ในเชิงจิตวิญญาณก็มีอะไรบางอย่างอยู่ด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีความหมายทางลบ แต่กลับเป็นสิ่งดีงาม

บางคนก็อาจจะโทษตัวเองว่าไร้ความสามารถในการเชื่อมต่อตัวเองกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ได้ไม่จำเป็นต้องยกไปให้กับสิ่งอื่นๆ หรือบางทีก็โยนไปที่ social media ว่าสร้างสายสัมพันธ์ปลอมๆ ขึ้นมา บางคนก็บอกว่าเป็นความเสื่อมของศาสนาไปจนถึงความเสื่อมของจิตวิญญาณ

 

ประเทศเราพร้อมหรือส่งเสริม

ให้อยู่คนเดียวโดดๆ ได้หรือไม่?

คําถามนี่สะท้อนสำนึกที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมเพราะแสดงนัยของการเปลี่ยนการรับรู้เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก

คำถามพร้อมไม่พร้อมน่าจะช่วยอะไรไม่ได้มากกับสิ่งหรือโครงสร้างที่ดำรงอยู่และจะดำเนินต่อไป ส่งเสริมไม่ส่งเสริมจึงใช่เรื่องสำคัญมากนัก

แน่นอนในฐานะของรัฐก็จำเป็นที่จะต้องเป็นห่วงเป็นใยทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิต เมื่อผลิตได้ก็เก็บภาษีได้

การส่งเสริมและป้องกันดูแลเอาใจใส่เป็นเรื่องปกติแต่ภายใต้อุดมการณ์ปัจเจกชนนิยมไปจนเป็นวิถีปัจเจกชนนิยมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะให้รัฐเข้ามากำกับดูแลสั่งสอน คนจำนวนหนึ่งต่อต้าน Paternalistic State รัฐที่เป็นพ่อที่รู้ดีถูกโจมตีอยู่เสมอๆ ว่าแทรกแซงชีวิตส่วนตัว ความพยายามที่จะเข้ามีอิทธิพลต่อผู้คนในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอๆ ตั้งแต่กรมโฆษณาการมาถึงบริษัทโฆษณาไปจนถึง Nudge ที่เรียกว่า ‘Libertarian paternalism’ ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล Richard Thaler กับนักกฎหมาย Cass Sunstein

เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นเรื่องในระยะยาวที่กินเวลายาวนาน เรื่องการเมืองแบบเลือกตั้ง 4 ปี 8 ปี นี่เป็นเรื่องสั้นๆ แค่ 4-8 ปี ให้นานๆ อย่าง Angela Merkel 16 ปีจนมีคนมาล้อกันว่า ‘There is no alternative’ ก็ยังไม่นาน เพราะยาวนานกว่าก็ยุคเศรษฐกิจ เช่น Keynesian ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 จนถึงประมาณ 1980 การเปลี่ยนแปลงทางระบบความเชื่อก็ใช้เวลายาวนานกว่านั้น

การเปลี่ยนแปลงของสังคมยุโรปตะวันตกเรื่องอุดมการณ์ปัจเจกชนนิยม (individualism) ถ้าหยาบๆ เริ่มจาก Protestant Reformation มาจนถึงการยอมเป็นการดำรงชีวิตที่ได้รับการรองรับ เช่น สิทธิมนุษยชน ก็กินเวลาหลายร้อยปี จากคำประกาศสิทธิมนุษยชน 1948

ถ้าจะเอาแค่หลักสหประชาชาติมาจนถึงการเริ่มเอามาแพร่ขยายตัวก็ประมาณครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1970 ผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษความชัดเจนก็เริ่มพบเห็นได้มากยิ่งขึ้น โดยยังต้องคำนึงว่าโครงสร้างอะไรที่ทำให้ขยายตัวและเป็นที่ยอมรับ เช่น เสรีนิยมใหม่

 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความพร้อมๆ ของคนแต่ละคน คำถามแบบพร้อมไม่พร้อมส่งเสริมไม่ส่งเสริม แสดงนัยว่าเรากำลังมีจิตสำนึกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่เสมอ พร้อมที่จะทำสิ่งนี้ไหม เอาล่ะนะจะเริ่มแล้วนะ คุณพร้อมนะ พร้อมแล้วหนึ่งสองสามลงมือทำได้

โครงสร้างการดำรงอยู่ของชีวิตเป็นเรื่องของกระบวนการที่ใช้เวลาในการสั่งสม ผ่านไปหลายสิบปี หลายร้อยปีก็กลายเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าความพร้อม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น รูปแบบครอบครัวไม่ได้เป็นเรื่องพร้อมไม่พร้อม สังคมที่เดินบนเส้นอุตสาหกรรมก็มักจะมีรูปแบบครอบครัวที่เรียกว่าครอบครัวเดี่ยว

แต่ครอบครัวเดี่ยวหรือ ‘Nuclear Family’ ถูกโจมตีว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างปัญหาสังคมจำนวนมาก

บทความของ David Brooks นักวิจารณ์การเมืองสังคมอเมริกันสายอนุรักษนิยม “Nuclear Family was a mistake” ที่ออกมาในปี ค.ศ.2020 สั่นสะเทือนมากจนนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย ครอบครัวเดี่ยวของคนผิวขาวอเมริกันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมอเมริกัน ทั้งหมดที่ผ่านมาผิดพลาดหรือ?

จากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวเดี่ยวไปจนถึงอยู่คนเดียวและความเหงาไม่ใช่เรื่องของความพร้อมไม่พร้อม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวใช้เวลายาวนาน โครงสร้างครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง

ในประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตกก็เถียงกันได้ว่าเริ่มต้นเมื่อใด ความเข้าใจทั่วๆ ไปตามแบบตะวันตกครอบครัวเดี่ยวก็เป็นคุณลักษณะสังคมอุตสาหกรรม คำคำนี้ก็ชัดเจนแปลมาจากภาษาอังกฤษ

แต่ครอบครัวเดี่ยวไม่ได้เกิดกับทุกกลุ่มชาพันธุ์และชนชั้น ชนชั้นล่างก็อาจจะไม่ใช่ครอบครัวเดี่ยวแม้กระทั่งในโลกตะวันตก

 

หลังจากครอบครัวเดี่ยวครอบครัวแบบที่มีคนเพียงคนเดียวมีปริมาณมากขึ้น ผู้หญิงแก่อยู่คนเดียวแต่ในอดีตผู้หญิงแก่อยู่คนเดียวก็มี คนหนุ่มสาวอยู่คนเดียว ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีและการแพทย์ไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องมีลูกมากๆ เพื่อลูกตาย คนสมัยก่อนการเห็นลูกตายก็เป็นเรื่องธรรมดา เมียตายเพราะออกลูกตายทั้งแม่ทั้งลูกแบบเดิมอีกต่อไปแล้วในโลกสมัยใหม่คนแต่งงานช้าลง อายุเฉลี่ยของการแต่งงานสูงขึ้น

ด้วยสำนึกของมนุษย์ที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่แสดงความเป็น Homo Economicus มากขึ้น พร้อมกันกับความกดดันทางเศรษฐกิจโครงสร้างสังคมเมืองการย้ายถิ่นสารพัดปัจจัยก็ทำให้การมีครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่วิถีชีวิตของผู้คนอีกต่อไป สำนึกของ Homo Economicus ก็ต้องคาดคำนวณทุกๆ อย่างว่าคุ้มหรือไม่ Financial literacy ก็ช่วยได้ใช่ไหม

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่แบ่งขั้วมากขึ้นเรื่อยๆ ช่องว่างทางชนชั้น ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้เป้าหมายชีวิตที่เชื่อว่าเลือกได้ด้วยตัวเองไปถึงเป้าหมายได้ยาก คนในสังคมที่อุดมการณ์ปัจเจกชนนิยมเข้มข้นแบบในประเทศพูดภาษาอังกฤษประสบปัญหา เช่น ออกมาอยู่เองคนเดียวไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจรัดตัว

ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านที่มาคนจำนวนหนึ่งถึงเรียกร้อง Welfare 3.0 ไปจนถึง Universal Basic Income

 

ในสังคมแอตแลนติกเหนือเหล่าชนชั้นกลางผิวขาวประสบปัญหากับ Boomerang Kid คือคนที่เรียนจบแล้วยังต้องกลับไปอยู่กับพ่อแม่ นี่เป็นประเด็นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 แต่ก็ไม่เป็นแบบ Hikikomori ของญี่ปุ่น ส่วนพวกพอมีฐานะทางการเงินออกมาอยู่คนเดียวได้ก็ยังไม่อยากแต่งงาน ถ้าแต่งงานก็ไม่อยากมีลูก DINK หรือ Double Income No Kid เป็นประเด็นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 พวกที่เรียกกันว่า ‘yuppie’ ตอนนั้น ตอนนี้กลายเป็น Boomer ที่กำลังจะตายหรือไม่ก็สร้างปัญหาให้กับโลกไปแล้ว ไม่มีลูกด้วยกันก็หันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทน ถ้าเป็นหมาก็เรียกว่า DINKWAD-with a dog ถ้าเชื่อในปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกมันแย่แล้วไม่น่าอยู่ แล้วเลือกที่จะไม่มีลูกก็เป็น GINK หรือ Green Inclination, no kid ทั้งหมดเป็นเรื่องระยะยาว

ตามอุดมการณ์ปัจเจกชนนิยมชีวิตไม่พร้อมก็เป็นปัญหาของคนแต่ละคนเพียงแต่ถ้าพร้อมก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่พูดถึงกันๆ จะทำอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจสังคมการเมืองและอะไรอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปโครงสร้างต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความพร้อมไม่พร้อมอาจจะเป็นปัญหาของคนรุ่นเก่าๆ ที่ยังไม่เคยชิน สิ่งมีชีวิตก็วิวัฒนาการกันไป อยู่ให้ได้กับโลกแห่งความเร็ว ความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีโดยเฉพาะเทคโนโลยี แค่ตาม Moore’s Lawในยุคทรานซิสเตอร์ก็เหนื่อยแล้ว

ความเร็วแบบหนึ่งกลายเป็นความคุ้นเคยของคนรุ่นหนึ่ง เช่น DigitalNative เพียงแต่ความคุ้นเคยนั้นก็อาจจะไม่ใช่รุ่นที่มีชีวิตอยู่นี้หรือแม้กระทั่งรุ่นที่กำลังจะมา