ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หน้า8 |
เผยแพร่ |
การวิวาทะระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ “เสธ.ไก่อู” เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
เพราะขณะที่รัฐบาลกำลังตีข่าวเรื่องตัวเลข GDP ไตรมาสแรกปีนี้เติบโตร้อยละ 3.2
และพยายามย้ำว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
การออกมาให้สัมภาษณ์ของ “พิชัย นริพทะพันธุ์” มือเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ว่า GDP ที่ว่าโตนั้น ต่ำที่สุดในอาเซียน
นี่คือ การตีขนดหางทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้
เพราะตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้น เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องการบอกภาคเอกชนว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว
และกำลังเงยหัวขึ้น
ต้องรีบลงทุนนะเดี๋ยวตกขบวนรถไฟเศรษฐกิจ
เพราะเขารู้ว่านักธุรกิจทุกคนต้องการลงทุนในจังหวะนี้
คำถามจึงอยู่ที่ว่าสัญญาณที่ส่งมานั้น
นักธุรกิจเชื่อหรือไม่?
GDP ของประเทศไทยวันนี้พึ่งพาเครื่องยนต์ 2 ตัว คือ การลงทุนภาครัฐ กับการท่องเที่ยว
ส่วนการส่งออกนั้นมีแต่ทรุดกับทรุด
รัฐบาลจึงต้องหวังพึ่งเครื่องยนต์อีก 2 ตัว คือ เรื่องการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาคเอกชน
นักธุรกิจหรือชาวบ้านเหมือนกันตรงที่จะตัดสินใจควักกระเป๋าลงทุนหรือจับจ่ายใช้สอย
ถ้าเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อ เขาก็ควัก
แต่ถ้าจะต้องลงทุนเพื่ออนาคต
“ความเชื่อ” เป็นเรื่องสำคัญ
ถ้าไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดี
เขาก็ไม่ควักกระเป๋า
นั่นคือ เหตุผลที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงออกมาตีปี๊บเรื่อง GDP
และ “เสธ.ไก่อู” ต้องออกมาชนพรรคเพื่อไทย
แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ คสช. รู้ดีว่าปัญหาเศรษฐกิจส่งผลอย่างมากต่อการลงประชามติรัฐธรรมนูญ
เพราะประชาชนจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ”
บางทีไม่ใช่เรื่องเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ
แต่เป็นเรื่องความพอใจ หรือไม่พอใจ คสช.
การกระตุ้นทางจิตวิทยาให้คนเชื่อว่าเศรษฐกิจดีจะช่วยเรื่องประชามติ
แต่ที่ คสช. ลืมไปก็คือ นักธุรกิจใหญ่เขาสนใจตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจ
ในขณะที่ประชาชนทั่วไป ดัชนีเศรษฐกิจของเขาอยู่ในกระเป๋าตังค์
ถ้าเงินในกระเป๋าเยอะขึ้นกว่าอดีต แสดงว่าเศรษฐกิจดี
แต่ถ้าควักแล้วเจอความว่างเปล่า
ตัวเลข GDP จะกระฉูดถึง 10
เขาก็ไม่สนใจ
และที่สำคัญที่สุด ไม่ว่า “มหาเศรษฐี” หรือ “คนเก็บขยะ”
เวลาลงประชามติ
ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน