‘งานมหกรรมที่มโหฬารที่สุดในประเทศ’ : เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘งานมหกรรมที่มโหฬารที่สุดในประเทศ’

: เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483

 

สําหรับข้อสังเกตของความเปลี่ยนแปลงของค่านิยม วัฒนธรรมการแต่งกาย การเต้นรำภายหลังการปฏิวัติ 2475 นั้น

ตั้ว ลพานุกรม สมาชิกคณะราษฎร บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไว้ (2480) ว่า

“ในวาระเดียวกับที่ไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนี้ ไทยก็ได้เปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงในวิถีทางอื่นๆ ด้วย เป็นต้น ในทางสังคม วัฒนธรรมของชาวผิวขาวได้แผ่ซ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว จนบัดนี้ เราได้เห็นการแต่งกายแบบสากลเป็นของธรรมดาไป ยุวสตรีของเราพากันนุ่งสะเกิ๊ตแทนผ้านุ่ง ผ้าถุง ผ้าซิ่น เราได้เห็นการยกมือขึ้นแล้วร้องฮัลโหล แทนการเปิดหมวกก้มศีรษะไหว้ เราได้เห็นศิลปะของการลีลาศตามแบบสากลนิยมแทนศิลปของการร่ายระบำรำร้องตามแบบประเพณีและอื่นๆ” (ตั้ว ลพานุกรม, 2484,69)

ร้านค้าออกแบบเป็นปราสาทหิน ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483 ยามค่ำคืน และสามเกลอตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ 2483 เครดิตภาพ Sakchai Limonado Phanawat

ดนตรีสมัยใหม่และวัฒนธรรมแจ๊ซ

ปรากฏแจ๊ซในสังคมไทยพบได้ตามงานสังคม งานเต้นรำ เบียร์ฮอลล์ที่ให้อารมณ์ดนตรีครึกครื้น พลิ้วไหวเป็นอิสระตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา

อันเห็นได้จาก ป.อินทรปาลิตบันทึกสีสันของชีวิตกลางคืนของหนุ่มสาวในทศวรรษที่ 2480 เอาไว้ในหัสนิยายพลนิกรกิมหงวนหลายเรื่อง เช่น อายผู้หญิง (2482)

เมื่อกรมโฆษณาการตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการขึ้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2482 วงดังกล่าวเป็นวงแจ๊ซ มีหน้าที่บรรเลงเพลงกระจายเสียงทางสถานี เล่นตามงานรื่นเริง ต่อมาพัฒนาเป็นวงสุนทราภรณ์ (นริส จรัสจรรยาวงศ์, 2563, 51)

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วง 2480 เป็นช่วงที่ดนตรีแจ๊ซและการเต้นลีลาศได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากภายหลังการปฏิวัติ 2475 ได้ทำลายการผูกขาดอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจจากคนกลุ่มน้อยมาสู่คนกลุ่มใหม่ ประชาชนกลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจการเมือง ก่อให้เกิดการเติบโตของคนชั้นใหม่ ที่พวกเขากำลังแสวงหาอัตลักษณ์แห่งตน (อติภพ ภัทรเดชไพศาล, 2556, 77)

สำหรับพลนิกรกิมหงวนตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ 2483 นี้ ป.อินทรปาลิตเขียนเผยแพร่ในปลายเดือนธันวาคม 2483 (พีรพงศ์ ดามาพงศ์, 2547, 34) อันหมายความว่า งานเปิดในวันที่ 8 ธันวาคม เขาได้ไปเที่ยวชมงานด้วยเหตุนี้ ความทรงจำของเขาจึงมีความแม่นยำสูง

เมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าลง เสียงดนตรีแจ๊ซจากเสียงเพลงจากหีบเพลงเป่าผสมกีตาร์และแมนโดลิน บรรเลงเพลงจังหวะรุมบ้าที่สร้างครึกครื้นค่อยๆ ดังคลอขึ้นจากสวนอัมพร หลอดไฟหลากสีสันและลำแสงจากหลอดไฟจำนวนมหาศาลที่ตกแต่งประดับประดาอาคารถูกเปิด บรรยากาศของงานฉลองรัฐธรรมนูญในยามค่ำคืน

เป็นไปดังที่ ป.อินทรปาลิตบันทึกไว้ว่า “19.30 น. ยวดยานพาหนะหลั่งไหลมาสู่จุดหมายแห่งเดียวกันจนเนืองแน่นไปหมด ห้องจำหน่ายบัตรผ่านประตูเบียดเสียดยัดเยียดกัน ทุกคนต้องการผ่านประตูเข้าไปชมเวียงสวรรค์ เสียงสังคีตที่บรรเลงแว่วมาตามสายลมนั้นราวกับเทพดุริยงค์แห่งวิมานอินทร์…”

เขาเล่าไว้อย่างติดตลกว่า

“แสงไฟสว่างไสว พ่อเทพบุตรกับแม่เทพธิดาพากันเดินเที่ยวกันเป็นคู่ๆ งานฉลองรัฐธรรมนูญมันเป็นงานที่ประกวดเครื่องแต่งกายและความมั่งมีอย่างไม่ต้องสงสัย ท่านหญิงและชาย ไม่มีใครเลยที่จะแต่งกายมอซอ หรูแฝ่ทั้งนั้น ต่างพยายามวางท่าให้สง่าผ่าเผย ท่านชายบางคนแต่งราตรีคาบกล้องเดินเอาหัวไปก่อน ทำคอกะดุ๊บๆ เป็นกิริยาของนักเรียนนอกโดยมาก ท่านหญิงบางคนแต่งตัวรุ่มร่ามอีรุงตุงนัง เดินยืดคอ มือซ้ายจับกระโปรงและอมยิ้มเล็กน้อย ที่สวมรองเท้าพอดีๆ ก็ยิ้มสดชื่น ที่รองเท้าคับหรือเพิ่งเคยใส่รองเท้าส้นสูงก็ยิ้มทะแม่งๆ”

วงดนตรีแจ๊ซเล่นที่บาร์ 9 ชั้น เยาวราช 2476

หากท่านมาเที่ยวชมงานในครั้งนั้นย่อมร่วมเป็นประจักษ์พยานร่วมกับ ป.อินทรปาลิตที่บันทึกว่า

“ผู้มาเที่ยวงานตละคนล้วนแล้วแต่พระเอกนางเอกทั้งนั้น หาผู้ร้ายทำยาสักคนเดียวก็ไม่ได้ พวกผู้ชายซ่อนร่างอันสง่าผ่าเผยในชุดราตรี บ้างก็แต่งสากลหรือนุ่งผ้าม่วง เรือนผมหวีเรียบ แมลงวันเกาะหกล้ม ตละคนวางมาตรฐานกิริยาที่ย่างกรายให้สง่างามที่สุด ส่วนแม่เทพธิดาทั้งหลายแห่งประเทศไทยแลนด์ แน่นอนละ ทั้งสาวแก่แม่หม้าย ตละคนพราวพริ้งด้วยเสือผ้าอาภรณ์อันวิจิตรประกอบด้วยเพชรนิลจินดา ไม่รู้ว่าเอาสตางค์ที่ไหนมาแต่ง บ้างก็แต่งเรียบๆ เย็นตา บ้างก็ผาดโผน นุ่งกระโปรงบานยาวลากดิน ใส่เสื้อเว้าหน้าแหว่งหลัง สวมรองเท้าส้นสุงตั้ง 5-6 วา ส่วนมากใส่เสื้อผ้าของไทย ผู้เขียนไม่สามารถจะพรรณนาการแต่งกายของผู้ที่ไปเที่ยวงานได้ถูกต้อง เพราะลานตาไปหมด จึงสรุปว่า ทั้งสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษได้แต่งกายหรูหราสมสมัย มองไปทางไหนล้วนแต่เพลินตาเจริญใจทั้งนั้น”

และเมื่อท่านเดินตามเสียงเพลงแจ๊ซไปจะพบว่า เพลงดังออกมาจากหลายร้าน หลากหลายวงทั้งวงคนไทยและต่างชาติ เช่น “ร้านกองทัพอากาศ ดนตรีหีบปากผสมกับกีตาร์แมนโดลินของคณะดุริยางค์หรืออะไรจำไม่ได้ กำลังบรรเลงเพลงทำนองรุมบ้าอย่างไพเราะ กองทัพอากาศตบแต่งร้านบอกยี่ห้อว่าเป็นร้านของกองทัพอากาศจริงๆ มีเครื่อบินโดยสารจำลองขนาดมหึมาแบบเครื่องบินทะเลจอดอยู่ทางขวา ภายในเครื่องบินมีที่ของสูทกรรมประกอบอาหารและเครื่องดื่ม มีโต๊ะอาหารตั้งเรียงรายอยู่ใต้ปีก”

วงดนตรีของกรมโฆษณาการบรรเลงเพลงแจ๊ซอย่างสนุกสนานครึกครื้นบนเวทีของร้านกรมโฆษาการ นักเรียนโรงเรียนมัธยมหอวัง ไปเที่ยวชมงานในครั้งนั้น เขาได้เห็นวงดนตรีของกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์กับวงแจ๊ซต่างชาติ เขาเปรียบเทียบว่า นักร้องไทยสมัยนั้นจะยืนร้องเพลงเฉยๆ ส่วนนักร้องต่างชาติที่มาเล่นในงานจะใส่อารมณ์สั่นไปทั้งตัว (สม อิศรภักดี, 2555, 34)

กล่าวได้ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญถือเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้หนุ่มสาวในสมัยประชาธิปไตยได้ออกสังคมในงานกลางคืน ถือเป็นสุดยอดของการเข้าสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มหลุดพ้นจากขนบและวัฒนธรรมแบบแผนที่ชนชั้นสูงในการปกครองระบอบเดิมสังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่วัฒนธรรมแบบใหม่นั่นเอง

สตรีไทยในระบอบประชาธิปไตยสมัยรัฐนิยม
อาคารร้านค้าสมัยใหม่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483 ยามค่ำคืน