ยูเครน- สุสานทหารรัสเซีย และทุ่งสังหารนายพล!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ยูเครน- สุสานทหารรัสเซีย

และทุ่งสังหารนายพล!

 

“ความเป็นเลิศทางทหารสามารถพิสูจน์ได้ด้วยสมรรถภาพในสงครามเท่านั้น”

โคลิน เกรย์ (นักยุทธศาสตร์ร่วมสมัย)

 

กองทัพของทุกสังคมถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลของสงคราม กล่าวคือ กองทัพจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการรบ หรือมีภารกิจในการเป็นเครื่องมือทางทหารของรัฐ อันมีนัยในทางยุทธศาสตร์ว่า กองทัพจะถูกใช้ทำหน้าที่เพื่อให้รัฐบรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามที่รัฐต้องการ ซึ่งการใช้เครื่องมือนี้ในระดับสูงสุดคือ การใช้ในยามสงคราม

ดังเป็นที่ทราบกันดีกว่าโอกาสที่รัฐจะเข้าสู่สงครามในโลกปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสงครามสมัยใหม่มีราคาที่รัฐต้องจ่ายสูงมาก คือมีราคาแพงทั้งในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของผู้คน

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายทหารในกองทัพของหลายประเทศแทบจะไม่มีโอกาสยิงปืนสักนัดเดียวในสนามรบ หากนายทหารเหล่านี้อาจทำได้แค่ยิงปืนในสนามฝึกตลอดอายุประจำการของพวกเขาในกองทัพ เพราะรัฐนั้นไม่ได้เข้าสู่สงคราม

ขณะเดียวกันสงครามใหญ่ในเวทีโลกก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นในอดีต สมรรถนะของกองทัพในยามสันติจึงอาจจะเข้มแข็งใน “วันสวนสนาม” ในงานพิธีการของรัฐ

แต่ภาพที่ดูสวยหรูของทหารในวันจัดพิธีสวนสนามไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในยามสงคราม เพราะการพิสูจน์สมรรถนะของกองทัพจะเกิดขึ้นต่อเมื่อกองทัพต้องเข้าสู่การรบอย่างแท้จริง

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สนามรบคือบททดสอบขีดความสามารถอย่างแท้จริงของทหาร

พิธีสวนสนามเพื่อแสดงอำนาจทางทหารของรัฐ (ดังเช่นที่เราเห็นในหลายประเทศ) จึงเป็นเพียงการโฆษณาทางการเมือง ที่อาจไม่มีนัยสำคัญในสงครามเลย หากกำลังของรัฐประสบความล้มเหลวในยามสงคราม

ดังนั้น สิ่งที่นักยุทธศาสตร์ทุกคนจะต้องตระหนักเสมอคือ “กองทัพที่ดูเข้มแข็งในยามสันติ ไม่ได้เป็นหลักประกันของความสำเร็จทางทหารในยามสงครามแต่อย่างใด”

คำสอนในวิชายุทธศาสตร์ทหารเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอีกครั้งในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข่าวที่ถูกปกปิด!

สงครามรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนให้เห็นประเด็นสำคัญทางทหารคือ ปัญหาความสูญเสียของนายทหารระดับสูงของกองทัพรัสเซียในสนามรบที่ยูเครน

จนมีข้อสังเกตว่านายทหารระดับสูงจากยศระดับพันเอก/นาวาเอกจนถึงระดับนายพลนั้น มีอัตราการเสียชีวิตจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น อย่างที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน

หรืออาจกล่าวในมุมของกองทัพรัสเซียได้ว่า เป็นอัตราการสูญเสียนายทหารระดับสูงมากที่สุดนับจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ทางฝ่ายยูเครนถึงกับยืนยันถึงความสำเร็จนี้ในสื่อเปิดว่า ทหารยูเครนสามารถสังหารนายพลรัสเซียได้ถึง 7 นายในสนามรบ ไม่ว่าจะด้วยการใช้พลซุ่มยิง การรบในระยะประชิด และการใช้ระเบิด

หากนำอัตราการสูญเสียของระดับนายพล รวมกับระดับผู้บังคับบัญชาที่เป็นพันเอกและนาวาเอกที่มีจำนวนถึง 15 นายด้วยแล้ว ยิ่งต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะอัตราการสูญเสียของนายทหารระดับดังกล่าวในช่วงหนึ่งเดือนแรกของสงครามนั้น ต้องถือว่ามากกว่าสงครามที่รัสเซียเข้าไปรบในสงครามกลางเมืองในซีเรีย

หรือมากกว่าในช่วง 9 ปีของสงครามเชชเนีย และมากกว่าปฏิบัติการทางทหารในจอร์เจียในช่วงต้นของยุคหลังสงครามเย็น หรือมากกว่าสงครามที่กองทัพรัสเซียเข้าไปรบในอัฟกานิสถานในช่วงสงครามเย็น

นอกจากนี้ มีรายงานของทางฝ่ายตะวันตกอีกส่วนว่า กองทัพรัสเซียสูญเสียกำลังพลอยู่ระหว่าง 7,000 ถึง 15,000 นายในสงครามยูเครน

ในขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียยืนยันตัวเลขว่ามีความสูญเสียเพียง 1,351 นาย

และแน่นอนว่ารัฐบาลรัสเซียยอมรับถึงการสูญเสียของนายทหารระดับนายพลเพียง 1 นายเท่านั้น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ไม่เป็นความจริง

แต่ดังที่เราทราบกันดีว่ารัสเซียเป็นสังคมปิด และการไหลของข่าวสารจึงถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โอกาสที่สังคมจะได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสงครามที่เป็นจริง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยเฉพาะในสงครามครั้งนี้ รัสเซียเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการใช้กำลังรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน แม้ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีปูตินพยายามสร้างภาพให้รัฐบาลมอสโกเป็น “วีรบุรุษต่อต้านนาซี” เช่น ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจูงใจให้คนในสังคมรัสเซียตอบรับกับการเปิดสงครามของเขา

ซึ่งรวมถึงการไม่อนุญาตให้มีการใช้คำว่า “สงคราม” (war) และคำว่า “การบุก” (invasion) ในสื่อรัสเซีย

หากต้องใช้ตามคำกล่าวของผู้นำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับยูเครนเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (special military operations)

และยังรวมถึงการจับกุมกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากในสังคมรัสเซียเอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข่าวสารของความสูญเสียในเรื่องดังกล่าวจะไม่ปรากฏในสังคม

นายพลผู้โชคร้าย?

แต่หากมองผ่านมิติทางทหารแล้ว ความสูญเสียของนายทหารระดับสูงเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกองทัพรัสเซีย… นายทหารระดับนี้ที่เสียชีวิตไม่ใช่เป็นเพราะพวกเขาเป็น “นายพลผู้โชคร้าย” ที่ไปอยู่ในพื้นที่การสังหาร

อย่างไรก็ตาม การสังหารนายทหารระดับสูงหรือการเอาชีวิตของผู้บังคับบัญชาของฝ่ายตรงข้ามเป็นเป้าหมายหลักของการสังหารไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในการสงคราม

ซึ่งในทางยุทธวิธีแล้ว นายทหารระดับนี้เป็นเป้าหมายโดยตรงเสมอ เพราะหากย้อนกลับไปสู่สงครามในยุคเก่าแล้ว การสังหารผู้บังคับบัญชาของฝ่ายข้าศึกอาจมีผลต่อชัยชนะในสนามรบได้ทันที

และการเสียชีวิตของนายทหารระดับนี้ยังมีผลทางด้านจิตวิทยาโดยตรงต่อ “ขวัญกำลังใจ” ของกำลังพลในสนามอีกด้วย

ผลกระทบอย่างสำคัญของการสูญเสียนายทหารระดับนี้ยังส่งผลให้เกิดความ “รวนเร” ในกระบวนทัพ อันส่งผลอย่างสำคัญต่อการเคลื่อนทัพ หรือในการสงครามสมัยใหม่คือ มีผลอย่างมากต่อ “การควบคุมและการบังคับบัญชา” (command and control) ของทหารหน่วยนั้น

หนึ่งในตัวอย่างของการซุ่มยิงนายทหารฝ่ายตรงข้าม ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อง “Enemy at the Gates: The Battle for Stalingrad” (อยากจะขอแปลตามชื่อว่า “ข้าศึกที่หน้าประตูบ้าน : การรบที่สตาลินกราด”)

อันเป็นประวัติของวาซิลี ไซเซฟ (Vasili Zaitsev) พลแม่นปืนในกองทัพสหภาพโซเวียต ที่สามารถสังหารนายทหารเยอรมันได้มากถึง 225 นายในสงครามที่สตาลินกราด ซึ่งเป็นสงครามที่กองทัพนาซีบุกเข้าไปในโซเวียตในช่วงกันยายน 1942 ถึงกุมภาพันธ์ 1943 (เขาใช้ชีวิตหลังสงครามที่เคียฟ)

การรบที่สตาลินกราดมีลักษณะเป็น “สงครามเมือง” และเป็นการรบในระยะประชิดที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากกับกำลังพลของคู่ขัดแย้งสองฝ่าย และเป็นสนามรบที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของพลซุ่มยิงทั้งสองฝ่ายในการล่าสังหารนายทหารฝ่ายตรงข้าม

และภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นหนึ่งในคำอธิบายถึงการสูญเสียบรรดานายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของกองทัพรัสเซียในสงครามยูเครนปัจจุบันได้ด้วย

คำถามที่สำคัญในทางทหารคือ ทำไมนายทหารระดับนี้ต้องเข้าไปอยู่ในแนวหน้าของสนามรบ

หรือจะถือเอาตัวแบบของนายพลวาซีลี ชุยคอฟ (Vasily Chuikov) ในการรบที่สตาลินกราดเป็นแนวทาง ในครั้งนั้น กองบัญชาการของเขาตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากแนวหน้าของกองทัพนาซีไม่ถึง 200 เมตร ซึ่งต้องถือว่าผิดหลักการทางทหารเป็นอย่างยิ่ง และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับการสงครามในโลกสมัยใหม่ แม้จะจะผิดหลักยุทธวิธีทางทหาร แต่ทำให้เขา “ได้ใจ” ทหารโซเวียตอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหมดนี้อาจเกิดจากปัญหาของระบบการควบคุม การบังคับบัญชา และการสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชากับหน่วยในสนาม อันทำให้นายทหารระดับนี้จึงต้องลงมาเป็น “ผู้ควบคุม” เอง

ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นระบบของกองทัพแดงที่ต้องการการควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งทางการเมืองและการทหาร

หากเปรียบเทียบกับกองทัพของฝ่ายตะวันตกแล้ว นายทหารระดับนี้จะไม่เข้ามาใกล้แนวรบมากเกินไป เพราะจะตกเป็นเป้าหมายของการสังหารได้ง่าย แต่แนวคิดของกองทัพรัสเซียอาจแตกต่างออกไป

ในอีกด้านหนึ่ง การที่นายทหารระดับดังกล่าวต้องเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่ใกล้แนวรบนั้น อาจเป็นเพราะการรบของกองทัพรัสเซียในหลายพื้นที่ของยูเครนประสบกับปัญหาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขวัญทหาร ระบบส่งกำลังบำรุง ตลอดรวมถึงเรื่องงานข่าวกรอง โดยเฉพาะ “ข่าวกรองทางยุทธศาสตร์” ที่รัฐบาลรัสเซียอาจประเมินเข้าข้างตัวเองตั้งแต่ต้นว่า การนำเสนอวาทกรรมเคลื่อนทัพเพื่อ “ล้มรัฐบาลนาซีที่เคียฟ” จะทำให้ชาวยูเครนออกมาต้อนรับกองทัพรัสเซียที่เข้ามาปลดปล่อยในแบบยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นายทหารระดับสูงจึงต้องมาแสดงตัวในสนามรบเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพล

แต่ในอีกด้านก็มีการตีความว่า ที่ต้องแสดงตัวเพื่อเป็นการ “สร้างความยำเกรง” แก่กำลังพลที่เกิดความกลัว ไม่ให้หลบหนีออกไปจากพื้นที่การรบ (คล้ายกับการรบที่สตาลินกราด) โดยเฉพาะทหารเกณฑ์ เนื่องจากพวกเขาถูกเกณฑ์เข้ารับการฝึกและไม่เคยมีประสบการณ์การรบ

 

ความสำเร็จของยูเครน

ความสำเร็จของการสังหารนายทหารในระดับนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของงานข่าวกรองของฝ่ายยูเครนที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของฝ่ายรัสเซียได้อย่างมาก อีกทั้งการเสียชีวิตของนายทหารดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหน่วงเหนี่ยวเวลาของการรุกทางทหารของรัสเซียได้อีกด้วย ซึ่งประมาณการว่าอาจสามารถดึงเวลาของหน่วยทหารรัสเซียได้ 3-4-5 วัน ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาคนใหม่จะเข้ามารับหน้าที่แทน

ผลสืบเนื่องอย่างสำคัญจากกรณีนี้คือ การทำลายขวัญของทหารรัสเซีย เพราะข่าวการสูญเสียของนายทหารระดับนี้มักจะปิดบังไม่ได้ และเป็นที่รับรู้กันในหน่วยทหาร แตกต่างจากการเสียชีวิตของทหารระดับล่างที่อาจจะไม่มีผลต่อการสงครามโดยตรง แม้จะมีผลอย่างน่าเสียใจกับครอบครัวของทหารเหล่านั้น

นอกจากนี้ ข่าวการสูญเสียของผู้บังคับบัญชาทหารมักเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็น “ความลับ” ในสังคมรัสเซีย ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ในพื้นที่ข่าวเปิดได้ แต่ข่าวนี้กลับถูกนำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับกองทัพยูเครน

ฉะนั้น ถ้าเป็นภาพยนตร์วันนี้ “ข้าศึกที่หน้าประตูบ้าน” ของยูเครนไม่ใช่กองทัพนาซี แต่เป็นกองทัพรัสเซีย… วันนี้ พลแม่นปืนยังคงทำหน้าที่ล่าสังหารเหมือนการรบที่สตาลินกราดในอดีต แต่ครั้งนี้เป้าหมายคือนายพลรัสเซีย…

วันนี้ ยูเครนเป็นทั้ง “ทุ่งสังหารนายพล” และ “สุสานทหารรัสเซีย” อย่างน่าตกใจ

พร้อมกับพาชีวิตของชาวยูเครนจำนวนมากต้องสูญเสียไปกับ “สงครามของปูติน” ดังเช่นการสังหารหมู่ที่บุชชา

หรือว่าการสังหารประชาชนคือ การแก้แค้นต่อความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซียในยูเครน!