จาก VUCA Leadership ถึง ‘ภาวะผู้นำ 4 แบบ

VUCA ย่อมาจาก Volatile (ความผันผวน) Uncertain (ความไม่แน่นอน) Complex (ความซับซ้อน) และ Ambiguous (ความคลุมเครือ)

เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายห้วงเวลาปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “โลกยุค VUCA” (VUCA World)

ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ

จึงเป็นที่มาของทฤษฎีภาวะผู้นำตัวใหม่ หรือที่เรียกว่า VUCA Leadership ในการนำพาองค์กร หรือประเทศ ให้อยู่ร่วมกับ “โลกยุค VUCA” อย่างยั่งยืน

คุณสมบัติของผู้ที่มีภาวะผู้นำ VUCA ประกอบด้วย

Vision (วิสัยทัศน์) Understanding (ความเข้าอกเข้าใจ) Clarity (ความชัดเจน) และ Agility (ความสามารถในการปรับตัว)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณลักษณะ 5 ประการของ VUCA Leadership อันได้แก่

1. มุ่งเน้นความยั่งยืน (Sustainability Management) องค์กรสำคัญกว่าตัวผู้นำ

2. ใช้อำนาจอย่างสมดุล (Balance of Power) รู้ว่าจังหวะไหนควรใช้อำนาจ

3. สร้างการมีส่วนร่วม (High-Involvement) เปิดรับความคิดเห็นทุกรูปแบบ

4. ให้คุณค่าความสัมพันธ์ (Relationship Value) คบทุกคนโดยเฉพาะคู่แข่ง

5. คิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking) ช่วยให้ตัดสินใจได้ชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย” “ยูเครน” และ “สหรัฐอเมริกา” ในปัจจุบัน

อาจทำให้เรามองเห็น “ภาวะผู้นำ” ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทักษะทางกลยุทธ์” ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับ VUCA Leadership ได้เป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาแห่ง University of Nebraska ได้พูดถึง “ภาวะผู้นำ” ที่แตกต่างกัน ระหว่างประธานาธิบดีรัสเซีย ประธานาธิบดียูเครน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

“แน่นอนว่า โดยทั่วไป ความขัดแย้งต่างๆ มักจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้นำประเทศมีสไตล์การบริหารที่แตกต่างกัน” ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter กระชุ่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เราได้เห็นลักษณะของภาวะผู้นำที่ไม่เหมือนกันของประธานาธิบดีทั้ง 3 ชาติอย่างชัดเจน ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter กล่าว และว่า

“ทำให้เราได้เห็นกระบวนการทางยุทธศาสตร์อันเฉียบแหลมของผู้นำแต่ละคนในสภาวะวิกฤตนี้” ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter ทิ้งท้าย

สอดคล้องกับรองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva จิตแพทย์ และนักวิเคราะห์อาวุโส แห่งมูลนิธิ George H. W. Bush Foundation

ผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ “หน่วยสืบราชการลับ” ของ “สหภาพโซเวียต” หรือ KGB (Komitet Gosudarstvennoy Bezopasnosti)

รองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva ชี้ว่า Vladimir Putin เป็นคนที่มี “ภาวะผู้นำเชิงอุดมการณ์”

“Putin เป็นผู้นำที่โหดเหี้ยม และแน่นอน Putin เป็นเผด็จการอำนาจนิยม ที่ใช้ความรุนแรงมานานกว่า 20 ปีแล้ว”

ซึ่งก่อนจะเกิดเหตุการณ์บุกยูเครน หลายคนอาจมองว่าเขาเป็นคนฉลาด และเป็นนักยุทธศาสตร์ชั้นยอด รองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva กล่าว และว่า

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Putin ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ ว่าเขามีร่างกายที่แข็งแรง มีความเป็นชายสูง”

โดย Putin มักเผยแพร่ภาพกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ โดยไม่สวมเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นขี่ม้า ตกปลา สะพายไรเฟิล

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุ่มร่างของศัตรูอย่างรุนแรงบนเวทีการต่อสู้ศิลปะป้องกันตัว” รองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva สรุป

 

ศาสตราจารย์ ดร. Michael Blake อาจารย์ด้านจิตวิทยาและนโยบายภาครัฐแห่ง University of Washington เสริมว่า รูปแบบ “ภาวะผู้นำ” ของ Vladimir Putin สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของนักปกครองยุคโบราณ

“Putin ชอบอวดกล้ามเนื้อบึกบึน และร่างกายที่กำยำ เหมือนเขาจะบอกว่า ตนนั้นได้รับเลือกมาจากเบื้องบนเพื่อปกครองคนเดินดิน”

เรามักพบเห็นการกระทำเช่นนี้หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ศาสตราจารย์ ดร. Michael Blake กล่าว และว่า

“รูปแบบของนักปกครองยุคโบราณเช่นนี้ มีแนวโน้มเกี่ยวโยงกับลักษณะเฉพาะตัวของผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ฝักใฝ่ฟาสซิสต์จะเป็นเหมือน Putin ทุกคน จุดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Putin ศาสตราจารย์ ดร. Michael Blake สรุป

 

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter ได้พูดถึง Volodymyr Zelenskyy ประธานาธิบดียูเครน ว่าเป็นคนที่มี “บุคลิกผู้นำน่าดึงดูดใจ”

“การที่ Zelenskyy กลายเป็นขวัญใจผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันได้นั้น มาจากการที่เขาเป็นคนมีมาดผู้นำสูง และมีบุคลิกที่ดึงดูดความสนใจ”

ทุกคนทราบดีว่า Zelenskyy เคยเป็นนักแสดงตลกมาก่อน ทว่า เขากลับสร้างความประหลาดใจต่อคนทั้งโลก หลังจากที่ได้แสดงความกล้าหาญ และมุ่งมั่นที่จะปกป้องยูเครน เมื่อถูกรัสเซียบุกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter กล่าว และว่า

“Zelenskyy เป็นคนที่มีภาวะผู้นำแบบนักสร้างความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกของผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และอยากมีอนาคตที่สดใส”

คนเช่นนี้มักจะกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เป้าหมายเหล่านั้นลุล่วง Zelenskyy สามารถสะกดผู้คนด้วยสารที่เขาต้องการสื่ออย่างเฉียบแหลม

“ท่าทีแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่า เคยประเมิน Zelenskyy ต่ำเกินไป เพราะคิดว่า เขาอาจไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอ” ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter สรุป

 

ศาสตราจารย์ ดร. Michael Blake กล่าวเสริมว่า Volodymyr Zelenskyy ได้แสดงให้เราเห็น “ภาวะผู้นำ” รูปแบบใหม่

“Zelenskyy แสดงให้เราเห็นถึงบุคลิกของคนธรรมดา ที่มีความประหวั่นพรั่นพรึง ยามเมื่อประสบกับภัยคุกคามร้ายแรง เช่น ตอนที่สหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาช่วย และอาสาจะอพยพตัวเขาออกจากยูเครน” ศาสตราจารย์ ดร. Michael Blake กล่าว และว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Zelenskyy ได้แสดงจุดยืนที่ทำให้หลายคนจดจำเขาได้ โดย Zelenskyy กล่าวว่า “ผมจะปักหลักต่อสู้อยู่ที่ยูเครน สนับสนุนอาวุธให้ผม ไม่ต้องช่วยผมออกไป” ศาสตราจารย์ ดร. Michael Blake ทิ้งท้าย

 

ปิดท้ายกันที่ Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter ระบุว่า Joe Biden นั้น เป็นผู้ที่มี “ภาวะผู้นำ” แบบ “นักปฏิบัตินิยม”

“แน่นอนว่า Biden เป็นผู้นำสายปฏิบัตินิยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหลายต่อหลายครั้ง เขามักแสดงจุดยืนเรื่องการเน้นผลลัพธ์ที่จับต้องได้”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่เราจะเห็นได้ว่า Biden แก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และมีการใช้ข้อมูลตัวเลขประกอบการตัดสินใจเสมอ ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter กล่าว และว่า

“Biden ให้ความสำคัญกับการมีส่วนได้ส่วนเสียของสหรัฐในสงครามครั้งนี้เป็นอย่างมาก และพยายามไม่ให้อเมริกาได้รับความเสียหายใดๆ จากความขัดแย้งดังกล่าว”

เราจึงได้เห็น Biden เน้นการเจรจา และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ แทนการใช้กำลังทหารอย่างชัดเจน ศาสตราจารย์ ดร. Samuel Hunter สรุป

รองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva กล่าวเสริมว่า เป็นเพราะ Joe Biden ช่ำชองในสนามการเมืองนานพอๆ กับ Vladimir Putin

“Biden เป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ปี 1972 เขาจึงเข้าใจรูปแบบภาวะผู้นำทางการเมืองเป็นอย่างดี แม้ Joe Biden จะมีคุณสมบัติหลายอย่างคล้าย Volodymyr Zelenskyy แต่เขาแทบไม่มีโอกาสได้แสดงบุคลิกดังกล่าวออกมามากนัก”

แม้โดยส่วนใหญ่แล้ว ทางออกของสงคราม มักขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้นำแต่ละคนก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva กล่าว และว่า

“ในกรณีของ Vladimir Putin ที่ดูเหมือนว่ากำลังถูกต้อนให้จนมุมนั้น Putin ควรหาทางลดความขัดแย้งของสงคราม ด้วยการแสดงความเห็นใจแบบหวังผลเชิงยุทธวิธี หรือ Tactical Empathy ให้มากกว่านี้”

วิธีดังกล่าว อาจทำให้ Putin รู้สึกว่าเขาประสบความสำเร็จในการทำสงครามไม่ทางใดทางหนึ่ง และ “ไม่เสียหน้า” จากการยอมถอยทัพกลับรัสเซียก็เป็นได้ รองศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Dekleva ทิ้งท้าย