ซะอ์ดี กวีเอกของโลกชาวเปอร์เซีย (2)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ซะอ์ดี กวีเอกของโลกชาวเปอร์เซีย (2)

 

สาเหตุของการเขียนกุลิสตาน

หรือสวนกุหลาบ (ต่อ)

ผู้ที่พูดไม่ได้ ผู้ซึ่งนั่งอยู่ตรงมุมอย่างหูหนวกและเป็นใบ้นั้นเหมาะกับผู้ที่ไม่อาจควบคุมลิ้นของตนได้ ในที่สุดเพื่อนของฉันคนหนึ่งซึ่งเคยใกล้ชิดและเป็นเพื่อนเดินทางที่คุ้นเคยกัน เป็นเพื่อนในห้องเล็กๆ ของฉันได้เข้าประตูมาและได้ทักทายฉันด้วยท่าทางที่เขาเคยใช้เป็นปกติ

แต่แทนที่ฉันจะตอบความร่าเริงสำราญของเขาด้วยการพูดจาอย่างคุ้นเคย ฉันมิได้ตอบหรือผงกศีรษะของฉันจากการคุกเข่าแสดงการสักการะเลย

ดูเขาไม่พอใจ และกล่าวขึ้นว่า “โอ้พี่ชาย ในขณะที่ท่านมีกำลังพอในการกล่าวคำพูดออกมาก็จงพูดเถิดด้วยความพอใจและความเมตตา เพราะในวันพรุ่งนี้เมื่อทูตแห่งชะตากรรมมาถึง ท่านก็จะต้องเงียบไปด้วยความจำเป็นแล้ว”

สหายคนหนึ่งของฉันได้บอกเขาว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร โดยกล่าวว่า ผู้ที่ตกลงใจอย่างเด็ดขาดแล้วว่าจะใช้ชีวิตส่วนหนึ่งที่เหลือของเขาไปในการอุทิศตนและอยู่กับความเงียบจงปฏิบัติตามตัวอย่างของเขาเถิด

ถ้าท่านมีความสามารถก็จงอยู่เป็นเพื่อนเขา เขาตอบว่า “ฉันขอสาบานโดยพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ และด้วยมิตรภาพที่ต่อเนื่องมายาวนานโดยไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางว่าฉันจะไม่หายใจหรือขยับตัวสักนิดเดียว จนกว่าเขาจะตอบด้วยความอิสระอย่างที่เขาเคยเป็นเพราะการทำความทุกข์ให้แก่เพื่อนของเรานั้นก็คือความโง่เขลา”

เมื่อคำสาบานที่ไม่เกรงใจใครสามารถลบล้างได้โดยง่าย การที่ดาบของท่านอะลีควรจะอยู่ในฝักหรือว่าลิ้นของซะอ์ดีควรจะติดแน่นอยู่กับเพดานปากนั้นเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความยุติธรรมและตรงข้ามกับอารมณ์ของคนฉลาด

การที่ลิ้นอยู่ในปากของมนุษย์นั้นจะเปรียบกับอะไรได้เล่า? มันคือลูกกุญแจไขขุมทรัพย์แห่งวิทยปัญญาเมื่อประตูปิดลง ใครจะรู้ได้ว่าเขายุ่งอยู่กับเพชรนิลจินดาหรือกับเครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ? ถึงแม้ว่าในการประเมินคนฉลาดควรใช้ความเงียบเป็นเครื่องวัดก็ตามที แต่กระนั้นในกาละอันเหมาะสมการพูดอย่างเสรีย่อมดีกว่า

สองสิ่งที่แสดงถึงความเข้าใจอันคลุมเครือ ได้แก่ การเงียบเมื่อเราควรจะพูด และการพูดเมื่อเราควรจะเงียบ

กล่าวสั้นๆ ก็คือฉันไม่สามารถยับยั้งลิ้นของฉันมิให้พูดกับเขาได้ ฉันคิดว่าเป็นความไร้มนุษยธรรมที่จะเบือนหน้าไปจากเขาเพราะว่าเขาเป็นเพื่อนที่น่าพอใจและจริงใจ

เมื่อท่านตัดสินใจว่าจะต่อสู้ จงมั่นใจเสียก่อนว่าท่านแข็งแรงกว่าคู่ปรปักษ์ของท่าน หรือมิฉะนั้นท่านก็วิ่งได้เร็วกว่า ดังนั้น ฉันจึงพูดด้วยความจำเป็น แล้วออกไปข้างนอกด้วยอารมณ์ที่เบิกบาน

ยามนั้นเป็นฤดูระบัดใบ อากาศแสนสบาย ดอกกุหลาบก็บานสะพรั่ง ภูษาอาภรณ์ของเหล่าพฤกษาเป็นเสมือนเครื่องแต่งกายอันดูร่าเริงของผู้มีโชคดี

ตอนนั้นเป็นกลางฤดูใบไม้ผลิ เมื่อหมู่นกไนติงเกลกำลังส่งเสียงร้องมาจากธรรมาสน์แห่งกิ่งก้านของต้นไม้ ดอกกุหลาบประดับประดาด้วยหยาดน้ำค้างที่เปรียบประดุจไข่มุกเหมือนกับแก้มแดงระเรื่อของแม่สาวที่ถูกดุว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อฉันค้างคืนอยู่ในสวนร่วมกับเพื่อนของฉันคนหนึ่ง สถานที่นั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่น่ายินดีปรีดา หมู่ไม้เกี่ยวพันกัน ท่านอาจพูดได้ว่าโลกถูกประดับประดาด้วยแก้วที่ส่องแสงเป็นประกายและกลุ่มดาวลูกไก่ห้อยย้อยลงมาจากกิ่งก้านของเถาองุ่น

สวนซึ่งมีลำธารไหลผ่านและหมู่ไม้ซึ่งครั้งหนึ่งฝูงนกส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้ว สวนที่เต็มไปด้วยดอกทิวลิป หลากสีและผลไม้นานาชนิดภายใต้ร่มเงาแห่งต้นไม้ สายลมอ่อนได้คลี่พรมหลากสีออกมาในยามเช้า เมื่อความปรารถนาที่จะกลับบ้านเอาชนะความโน้มเอียงที่จะอยู่ต่อไป

ฉันได้เห็นเขาเก็บรวบรวมดอกกุหลาบ รากไม้หอม และดอกไฮยาซินไว้บนตัก ตั้งใจที่จะนำมันกลับไปในเมือง ฉันจึงเอ่ยขึ้นว่า “เธอคงรู้แล้วว่าดอกไม้ในสวนย่อมจะร่วงโรยไปในไม่ช้า และความยินดีของพุ่มดอกกุหลาบนั้นเป็นแต่เพียงการได้อยู่ต่อไปชั่วประเดี๋ยวเท่านั้น”

นักปรัชญาได้ประกาศว่า “หัวใจนั้นไม่ควรยึดติดอยู่กับสิ่งใดๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเร็ว” เขาถามขึ้นว่า “แล้วเราควรจะเดินไปตามเส้นทางใดเล่า?”

ฉันตอบว่า “ฉันสามารถสร้างหนังสือของดอกกุหลาบขึ้นได้ซึ่งมันจะให้ความปีติยินดีแก่ผู้ได้แลเห็น และให้ความพอใจแก่ผู้ที่อยู่ที่นั่น ผู้ซึ่งละทิ้งจากแขนอันกดขี่ของลมพายุอันแห้งผากแห่งฤดูใบไม้ร่วงย่อมไม่อาจทำอะไรหรือทำความเสียหายให้แก่ดอกไม้บานในฤดูใบไม้ผลิได้เลย”

ท่านจะได้ประโยชน์อะไรเล่าจากตะกร้าดอกไม้? “จงนำเอาใบไม้จากสวนของฉันไปเถิด ดอกกุหลาบอาจบานอยู่ต่อไปเป็นเวลาห้าหกวัน แต่สวนกุหลาบที่ฉันกล่าวถึงนั้นจักสดชื่นชั่วนิรันดร”

ในทันทีที่ฉันกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ออกมาเขาก็โยนดอกไม้ออกไปจากตักของเขา จับชายขอบเสื้อผ้าของฉันแล้วร้องขึ้น “เมื่อผู้มีความกรุณาให้สัญญา พวกเขาก็จะรักษาข้อสัญญานั้นไว้ด้วยความศรัทธา”

ในระยะสองสามวันนี้สองบท บทหนึ่งเป็นเรื่องความสะดวกสบายของสังคม และอีกบทหนึ่งเป็นเรื่องกฎเกณฑ์แห่งการสนทนาได้ถูกเขียนลงในสมุดบันทึกของฉันในแบบที่อาจจะมีประโยชน์ต่อนักพูดและช่วยพัฒนาทักษะของการเขียนตัวอักษร

กล่าวสั้นๆ ก็คือในขณะที่ดอกกุหลาบยังคงผลิบานอยู่นั้นหนังสือที่ชื่อกุลิสตาน “สวนกุหลาบ” ก็เขียนจบลง

ในที่นี้ขอนำเรื่องเล่าจากกุลิสตาน (สวนกุหลาบ) ซึ่งมีเนื้อเรื่องดังต่อไปนี้มานำเสนอ

กุลิสตาน เรื่องที่ 1

ฉันได้ยินมาว่าพระราชาองค์หนึ่งมีคำสั่งให้ประหารเชลยคนหนึ่ง ชายผู้ทนทุกข์น่าสงสารผู้นั้นจึงเริ่มบริภาษด่าว่าพระราชาด้วยความหมดหวังด้วยภาษาของเขา ตามคำกล่าวที่ว่า “ผู้ใดก็ตามที่ล้างมือจากชีวิตแล้วย่อมพูดสิ่งใดๆ ที่มีอยู่ในหัวใจของเขาออกมา”

“คนที่ปราศจากความหวังย่อมพูดจาอย่างบ้าบิ่น เหมือนกับแมวจนตรอกที่จำใจต้องหันหน้ามาสู้กับหมา” “ในเวลาที่จำเป็นเมื่อการหนีเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้วมือก็จะคว้าดาบที่คมกริบขึ้นมา”

เมื่อพระราชาถามว่า “เขาพูดอะไรหรือ?” เสนาบดีผู้มีอารมณ์ดีคนหนึ่งทูลตอบว่า “ข้าแด่พระองค์ เขาพูดว่าพระผู้ทรงอานุภาพผู้ซึ่งระงับความโกรธและให้อภัยแก่มนุษย์ย่อมเป็นมิตรต่อเขา” พระราชานึกสงสารขึ้นมาจึงจะไม่เอาชีวิตเขา แต่เสนาบดีอีกคนหนึ่งซึ่งอารมณ์ตรงกันข้ามกับเสนาบดีคนแรกได้กล่าวว่า “คนที่มีตำแหน่งอย่างเรานั้นไม่ควรพูดสิ่งใดนอกจากความจริงต่อหน้าพระราชา ชายผู้นั้นได้ด่าว่าพระราชาและพูดในสิ่งที่ไม่เหมาะสม”

ด้วยความไม่พอพระทัยในคำพูดเหล่านี้พระราชาได้ตรัสขึ้นว่า “ข้าฯ พอใจในคำโกหก (คือคำโกหกที่เรียกว่า White lie หรือโกหกด้วยเจตนาดีนั่นเอง) นั้นมากกว่าความจริงที่ท่านได้กล่าวมาเสียอีก เพราะอย่างแรกนั้นมาจากเจตนาดี แต่ถ้อยคำของท่านคือความประสงค์ร้าย และนักปราชญ์ได้กล่าวไว้ว่าคำเท็จที่ผสมด้วยคำตักเตือนที่ดีย่อมดีกว่าความจริงที่ก่อให้เกิดการต่อสู้”

เมื่อพระราชาปฏิบัติตามคำแนะนำของใครอีกคนหนึ่งความพินาศย่อมเป็นของเขาถ้าหากเขาจะพูดอะไรออกมานอกจากสิ่งที่ดี สิ่งนี้ได้ถูกจารึกไว้ที่หน้ามุขห้องโถงของฟาริดูน

“โอ้พี่น้องทั้งหลาย โลกนี้มิได้เป็นของผู้ใดต่อไปนานนัก จงผูกพันหัวใจไว้กับพระผู้สร้างจักรวาลเท่านั้นก็เพียงพอ จงอย่านอนใจหรือยึดมั่นในอาณาจักรของโลกนี้ จงดูเถิดว่าโลกได้ทะนุบำรุงและพิฆาตฆ่าคนเช่นตัวท่านมามากมายเพียงไรแล้ว”

เมื่อดวงวิญญาณที่บริสุทธิ์กำลังจะจากไปนั้น จะมีอะไรแตกต่างกันหรือในระหว่างการที่เราจะตายไปบนบัลลังก์หรือบนพื้นดินอันว่างเปล่า?