ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 เมษายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
อาชญากรรม
อาชญา ข่าวสด
เปิดอุบายลูกศิษย์แสบ
ตุ๋นลายเซ็นพระวันรัต
เบิกเงินวัดสูญ 200 ล้าน
จนมุม-ตะลึงรถหรูอื้อ
ถือเป็นคดีที่สั่นสะเทือนองค์กรศาสนาอย่างรุนแรง
สำหรับกรณีลูกศิษย์คนสนิทของสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ใช้จังหวะที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ อาพาธ
ปลอมลายเซ็น แอบยักยอกเงินในบัญชีวัด ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะวัดบวรนิเวศฯ และวัดสาขา
เสียหายถึงกว่า 190 ล้านบาท โดยนำเงินไปซื้อทรัพย์สินจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถหรู ทองคำ สินค้าแบรนด์เนมอื่นๆ
และก่อนที่จะอื้อฉาวบานปลายมากไปกว่านี้ ตำรวจกองปราบปรามก็สามารถจับกุมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมขยายผลยึดทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดมาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม แม้จะจับกุมลูกศิษย์แสบได้อย่างรวดเร็ว แต่เจ้าตัวก็ยังให้การปฏิเสธ อ้างว่าสมเด็จพระวันรัตมอบให้ไว้ใช้จ่ายส่วนตัว
จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระจ่าง ไม่ให้อริยสงฆ์ที่มรณภาพแล้วได้รับความมัวหมอง
รวมทั้งต้องทบทวนเรื่องการถือครองและระบบการเบิกจ่ายทรัพย์สินของวัด ไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีก

รวบศิษย์พระวันรัตยักยอกทรัพย์
เหตุการณ์จับกุมลูกศิษย์วัดแสบครั้งนี้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้กองปราบปรามเข้าดูแลในคดีลูกศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จพระวันรัต ยักยอกเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจกองปราบฯ โดย พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. ตรวจสอบพบว่าเป็นเรื่องจริง โดยบุคคลดังกล่าวเป็นลูกศิษย์คนสนิท เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร
เมื่อมีหลักฐานชัดเจนจึงขออนุมัติหมายจับและติดตามจับกุมได้ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งกลางกรุง แล้วจึงนำตัวมาขยายผลตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องหา พบทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อาทิ รถยนต์หรูยี่ห้อเบนท์ลีย์ ยี่ห้อปอร์เช่ ยี่ห้อวอลโว่ ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู ยี่ห้อเล็กซัส, เงินสด, เงินฝากในบัญชี, อสังหาริมทรัพย์, กระเป๋าแบรนด์เนม, พระเครื่องทองคำ รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ซึ่งพนักงานสอบสวนจะได้ประสานงานไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะที่ต่อมามีการระบุว่าผู้ต้องหารายนี้คือนายอภิรัตน์ หรือเนย ชยางกูร ณ อยุธยา อดีตเจ้าหน้าที่กองโครงการธุรกิจ 2 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่เป็นลูกศิษย์คนสนิท และเป็นที่รู้กันว่าเป็นบุคคลที่คนภายในและนอกวัดบวรนิเวศวิหารต่างทราบกันดีว่า หากใครจะติดต่อกับสมเด็จพระวันรัต จะต้องติดต่อผ่านนายอภิรัตน์เท่านั้น
ทั้งนี้ พบว่านายอภิรัตน์เริ่มก่อเหตุเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยใช้อุบายหลอกลวงให้พระวันรัตลงลายมือในใบถอนเงิน จากนั้นนำใบถอนเงินฉบับดังกล่าวมาเขียนจำนวนเงินตามที่ตนเองต้องการ แล้วไปแสดงต่อพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของวัดวชิรธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
ต่อมาต้นเดือนมกราคม 2565 นายอภิรัตน์ยังคงใช้อุบายหลอกลวงให้สมเด็จพระวันรัตลงลายมือชื่อในใบถอนเงินแล้วนำมาเขียนจำนวนเงินตามที่ตนเองต้องการ แล้วมอบหมายให้ผู้ใกล้ชิดของสมเด็จพระวันรัตอีกคนหนึ่งเป็นผู้นำใบถอนเงินฉบับดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานธนาคาร เพื่อถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของวัดวชิรธรรมาราม แล้วให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายทำธุรกรรมซื้อแคชเชียร์เช็ค สั่งจ่ายให้แก่นายอภิรัตน์ ก่อนที่จะฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง
จนกระทั่งวัดวชิรธรรมารามตรวจพบพิรุธ จึงแจ้งความกองปราบปราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม

เรื่องจึงนำมาสู่การจับกุมในที่สุด
ฟัน 4 ข้อหา-ยึดทรัพย์ 100 ล้าน
ขณะที่พระธรรมวชิรญาณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุติ) มีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารอีกทางหนึ่ง กระทั่งพบว่าสมเด็จพระวันรัตเปิดบัญชีเงินฝากส่วนตัว และบัญชีที่เกี่ยวข้องกับวัดบวรนิเวศวิหาร ไว้กับธนาคารจำนวนหลายบัญชี โดยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 นายอภิรัตน์นำสมุดบัญชีเงินฝากจำนวนหลายเล่ม และบัตรประจำตัวประชาชนของสมเด็จพระวันรัต พร้อมโทรศัพท์มือถือของนายอภิรัตน์ มามอบให้บุคคลใกล้ชิดของสมเด็จพระวันรัตอีกคนหนึ่ง
แล้วสั่งการให้นำไปติดต่อกับพนักงานธนาคาร เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นนายอภิรัตน์ก็ใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองในการทำธุรกรรม เพื่อโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของสมเด็จพระวันรัต และบัญชีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดบวรนิเวศวิหาร มายังบัญชีเงินฝากของตนเอง
เป็นเหตุให้วัดวชิรธรรมารามได้รับความเสียหายเป็นเงินถึง 80 ล้านบาท และวัดบวรนิเวศวิหารได้รับความเสียหายเป็นเงิน 110 ล้านบาท รวมความเสียหายของทั้งสองวัด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 190 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ การดำเนินคดีนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหานายอภิรัตน์แล้ว 4 ข้อหา ประกอบด้วย ฉ้อโกง ลักทรัพย์ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม และฟอกเงิน ฝ่ายสืบสวนกองปราบฯ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังสอบขยายผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายอภิรัตน์ เพื่อนำทรัพย์สินทั้งหมดมาคืนวัดต่อไป
ไม่เพียงแค่นั้น จากการขยายผลพบว่ามีวัดสาขาเสียหายอีก 3 แห่ง อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก มูลค่าหลักร้อยล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินวัดที่จะนำไปใช้บูรณะซ่อมแซม ซึ่งพบวัดสาขาในพื้นที่ จ.ตราด อีก 2 วัด อาทิ วัดรัตนวราราม และวัดคีรีวิหาร เบื้องต้นพบเป็นเงินงบประมาณจัดสร้างวัดรัตนวราราม 80 กว่าล้านบาท และงบฯ จัดสร้างโรงเรียนวัดคีรีวิหารอีกกว่า 10 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายอภิรัตน์ยังให้การปฏิเสธ ระบุว่าเป็นเงินที่สมเด็จพระวันรัตให้โดยเสน่หา ให้ไว้เพื่อใช้จ่าย แต่ตำรวจก็ไม่ได้ปักใจเชื่อ
พร้อมกันนั้นยังเร่งติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิด อาทิ รถยนต์หรูยี่ห้อเบนท์ลีย์ ปอร์เช่ วอลโว่ บีเอ็มดับเบิลยู เล็กซัส เงินสด เงินฝากในบัญชี อสังหาริมทรัพย์ กระเป๋าแบรนด์เนม พระเครื่องทองคำ รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าทรัพย์สินหลายอย่างเปลี่ยนไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลใกล้ชิดนายอภิรัตน์ ทั้งเพื่อนชายคนสนิท พ่อ แม่ และน้อง ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นการถ่ายโอนโดยมิชอบหรือไม่ และอาจต้องนำกฎหมายฟอกเงินมาดำเนินการ
ไม่จบลงง่ายๆ แน่นอน
แนะปรับปรุงระบบเบิกเงินวัด
สําหรับเรื่องเงินบัญชีพระสงฆ์นั้น มีความเห็นกันหลากหลาย โดยนายจตุรงค์ จงอาษา ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ขยายความถึงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า
1. สมเด็จพระวันรัตไม่ได้มีเงินส่วนตัว แต่บัญชีที่มีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีวัดที่ท่านปกครองหรือเคยปกครอง ทั้งในนามเจ้าอาวาสวัดบวรฯ และในนามรักษาการเจ้าอาวาส (วัดมกุฏฯ/วัดตรีฯ) ในนามวัดที่ท่านสร้างเองกับมือ (ตราด/บางปะหัน) และในนามมูลนิธิต่างๆ
2. บัญชีส่วนตัวเดียวที่มีคือบัญชีปี 2543 ในนามพระพรหมมุนี (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบัญชีตาย ไม่เคยถอนทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีใครทราบยอด
3. บัญชีเพื่อสาธารณกุศล เช่น สมเด็จพระวันรัตเพื่อกองทุนโรคหัวใจ หรือสมเด็จพระวันรัตเพื่อพระบาลี เป็นต้น
4. สมเด็จฯ ถือเรื่องการจับเงิน ไม่รับเงินมากๆ และการที่สมเด็จเป็นธรรมยุติไม่จับ/รับเงินนี้เอง โจรเลยอาศัยโอกาสนี้ในการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินของสมเด็จฯ ที่มีในวัดต่างๆ/องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ในช่วงที่สมเด็จฯ รักษาตัวในโรงพยาบาล
ดังนั้น การที่คนขับรถธรรมดาจะไปถอนเงินออกจากบัญชีต่างๆ เหล่านี้ได้ เราควรโทษพระที่มรณภาพไปหรือครับ ทำไมไม่ด่าโจร ด่าระบบคณะสงฆ์ และด่าระบบสถาบันการเงิน ที่ปล่อยให้โจรเอาเงินออกไปจากระบบ แต่กลายเป็นสังคมทำไมต้องมาก่นด่าพระที่เป็นมะเร็งมรณภาพ ทำไมพระที่มรณภาพถึงต้องถูกด่าโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย
ขณะที่นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการปรัชญา โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามว่าเหตุใดแค่ลายเซ็นของเจ้าอาวาสคนเดียวสามารถเบิกเงินได้เป็นล้าน หรือร้อยล้านเลยหรือ เหตุใดไม่ต้องใช้มติคณะกรรมการใดๆ เพียงใช้แค่คนใกล้ชิดก็ทำได้ นอกจากนี้มีระบบแยกเงินส่วนตัวและเงินส่วนรวมที่เป็นเงินวัดชัดเจนหรือไม่
หากเป็นเช่นนี้ทำไมระบบการบริหารการเงินของวัดอันดับหนึ่งของประเทศถึงหละหลวมเช่นนี้ หากสมเด็จฯ ไม่มรณภาพและเรื่องแดงขึ้น สังคมจะรู้หรือไม่ และจะตรวจสอบความโปร่งใส่กันอย่างไร รวมทั้งวัดใหญ่ๆ อีกหลายวัดที่มีเงินจำนวนมาก
ถือเป็นการตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการเงินวัดที่เป็นระบบโปร่งใส และหากกรณีนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้มีการปฏิรูปเรื่องเหล่านี้ ไม่ให้เหลือบไรของพุทธศาสนาแอบแฝงใช้ช่องทางหาประโยชน์
ก็คงจะเป็นคุณไม่น้อยเลยทีเดียว