เสียง ‘นิวโหวตเตอร์’ จุดเปลี่ยนกรุงเทพฯ ชี้ชะตาการเมือง-ความเป็นอยู่คนกรุง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เสียง ‘นิวโหวตเตอร์’

จุดเปลี่ยนกรุงเทพฯ

ชี้ชะตาการเมือง-ความเป็นอยู่คนกรุง

 

หลังประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ พร้อมปักหมุดหมายเอาวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันดีเดย์ที่คนกรุงเทพฯ จะได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเอง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี รวมถึงการเลือก ส.ก.ในรอบ 12 ปี ทันทีที่การดองตำแหน่งไว้ด้วยการแต่งตั้งมานาน ถูกปลดล็อกให้เข้าสู่การเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย

เราต่างได้เห็นพรรคการเมืองพรรคต่างๆ ส่งตัวแทนของพรรคลงชิงตำแหน่งนี้ ในขณะที่ผู้สมัครในนาม “ผู้สมัครอิสระ” ก็มีมากหน้าหลายตา มีทั้ง “บิ๊กเนม” และ “โนเนม” ตบเท้าเข้าสมัครชิงเก้าอี้เพื่อจะเป็นพ่อเมืองของคนกรุงเป็นจำนวนมาก

ความคึกคักของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในคราวนี้ เริ่มตั้งแต่วันเปิดรับผู้สมัครรับเลือกตั้งและจับสลากหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร มีผู้สมัครทั้งสิ้น 31 คน แบ่งเป็นผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน ขณะที่ผู้สมัคร ส.ก.มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 382 คน

ถือได้ว่ามีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มากเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน ที่น่าสนใจไม่น้อยคือจำนวนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกหรือนิวโหวตเตอร์ ช่วงอายุ 18-27 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกพรากสิทธิ์พรากเสียงในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. นับจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 9 ปีก่อน มาถึงวันนี้มีจำนวนประมาณ 7 แสนคน คิดเป็น 16% โดยประมาณ จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด และในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา

คาดหมายว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจและตื่นตัวในการเมืองเป็นอย่างมาก ดังนั้น สนามการเลือกตั้งในครั้งนี้ จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า 7 แสนเสียงของคนรุ่นใหม่ มีผลอย่างยิ่งในการชี้ชะตาอนาคตของคนกรุง ในการเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่ ที่จะมาคอยดูแลและรักษาผลประโยชน์ที่คนกรุงควรจะได้รับ รวมถึงกลุ่มคนอีกหลายล้านคน ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อทำมาหากินและศึกษาเล่าเรียน แต่ไม่ได้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ดังนั้น ภาพลักษณ์ จุดยืนทางการเมือง ตลอดจนนโยบายในการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน จึงต้องตอบโจทย์ทั้งคนรุ่นใหม่นี้ให้ได้

 

ทีมข่าวมติชนทีวี ได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นกลุ่มนิวโหวตเตอร์ ช่วงอายุ 18-27 ปี ย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่จะมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าด้วยเรื่องของ “พลังนิวโหวตเตอร์ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่อยากได้”

พรรณนิศา โฆษิตสุรังคกุล” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะ British & American Studies (BAS TU) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เผยว่ามีโอกาสติดตามข่าวการเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะไม่ถึงกับเกาะติดสถานการณ์รายวัน แต่หากได้เลือก ก็จะเลือกจากนโยบายของผู้สมัคร ที่จะทำเพื่อคนกรุงเทพฯ เป็นอันดับแรก

“มุมมองหนู นโยบายต้องมาก่อนอย่างแรก ดูว่าเขามีนโยบายอะไรบ้างที่จะสามารถพัฒนากรุงเทพฯ ได้ แล้วก็ส่งผลดีต่อตัวเราค่ะ อยากให้ว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่แก้ปัญหาตรงไหนของกรุงเทพฯ หรอคะ หลายๆ เรื่องค่ะ เพราะว่าด้วยสถานการณ์ตอนนี้ทุกอย่างมันก็ย่ำแย่ลง ถ้าเกิดว่ามีนโยบายที่สามารถช่วยเหลือได้จริง ทำได้จริง ที่มันดีมากๆ ก็น่าสนใจ”

สุกฤตา ผัดขัน” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยสหวิทยาการ เล่าให้ทีมข่าวฟังว่าได้ติดตามข่าวสารการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผ่านข่าวสารในโลกโซเชียลเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงจากป้ายโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน ถ้าต้องเลือกใครสักคนมาเป็นผู้ว่าฯ ก็ขอเลือกที่นโยบาย ส่วนตัวมี “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 8 เป็นผู้สมัครที่ชื่นชอบ

“เลือกจากนโยบายค่ะ อย่างเช่น นโยบายของคุณชัชชาติที่เห็นบ่อยๆ ก็คือรถเมล์ ค่อนข้างเก่าแล้ว ควรจะมีใหม่บ้าง แล้วก็ทางเท้า ควรจะมีการพัฒนาและแก้ไข คิดว่าคนรุ่นใหม่ก็น่าจะเลือกคนที่คู่ควรมาพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นค่ะ และส่วนตัวชื่นชอบคุณชัชชาติค่ะ เพราะว่าเขาฟังเสียงเยาวชนคนรุ่นใหม่ และพร้อมจะพัฒนากรุงเทพฯ ด้วย”

ด้าน “กชพรรณ วิเศษสัตย์” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยสหวิทยาการ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีโอกาสได้เข้าไปร่วมฟังเสวนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น รวมไปถึงการติดตามข่าวสารในโลกโซเชียล และส่วนตัวจะเลือกจากนโยบายของผู้สมัครที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ

“สำหรับตัวเราก็คงจะเลือกเป็นนโยบายค่ะ อย่างนโยบาย เวลาที่เขาจะทำออกมา เขาจะต้องนึกถึงสภาพสังคมหรือว่าประชาชนเป็นส่วนใหญ่ก่อนใช่ไหมคะ ก่อนจะออกนโยบายอะไรออกมา ซึ่งเราเป็นคนเลือกเขาเข้ามา เราก็คงจะมองที่นโยบายของเขามากกว่าจุดยืนทางการเมืองก่อนเป็นอันดับแรก”

“พลังคนรุ่นใหม่จะเป็นเสียงที่กำหนดผู้ว่าฯ กทม.อยู่แล้วค่ะ เรามองว่าสมัยนี้คนออกมาสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น เราก็มองว่าตัวคนรุ่นใหม่ น่าจะเป็นตัวกำหนดได้อยู่แล้วค่ะ”

เมื่อถามว่าอยากให้ว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ แก้ไขปัญหาตรงไหนให้คนกรุงบ้าง กชพรรณยกตัวอย่างปัญหาคนไร้บ้านในเมืองกรุงขึ้นมาอธิบาย

“สำหรับเรา ก้าวออกจากบ้านก็จะเห็นคนไร้บ้านเยอะมาก อย่างช่วงโควิดแบบนี้ เขาก็ไม่มีที่ไปเลย เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเขาเข้ามาแก้ปัญหาตรงเรื่องคนไร้บ้านได้ก็คงจะดีมากๆ ค่ะ”

นอกจากนี้ เมื่อถามมุมมองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีความสอดคล้องกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้าหรือไม่ นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 2 ตอบเสียงชัดว่าสอดคล้อง พร้อมยืนยันว่าจะเลือกคนที่มีจุดยืนทางประชาธิปไตยเหมือนกันให้เข้ามาดูแลคนกรุงเทพฯ

“คิดว่าสอดคล้องค่ะ เพราะว่าการเลือกเข้ามาของผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ถ้าดีก็คงจะสอดคล้องกับในอนาคตว่าเราควรจะเลือกใคร หรือว่าเลือกคนที่มีแนวคิดหรือแง่คิดแบบไหนเข้ามาบริหารประเทศ เรารู้สึกว่าเราสนับสนุนประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วเราคงจะเลือกคนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกันให้เข้ามา ชอบคุณชัชชาติค่ะ เพราะว่าเรามองวิสัยทัศน์หรือแนวคิด แล้วอีกอย่างการเข้าถึงคนในสังคม เราดูจากข่าวที่เห็นเขาก็คือเขาไปลงพื้นที่ ไปดูอะไรที่มันอยู่กับประชาชนจริงๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเราคงจะเลือกคนนี้ถ้าจะมาเป็นคนที่ดูแลตัวเรา หรือคนในสังคมเราค่ะ”

 

“ภานุพันธ์ ลินพล” พนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นนิวโหวตเตอร์วัยทำงาน เผยว่าตนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ และจะเลือกคนที่ทำงานจริงให้เข้ามาดูแลคนกรุงเทพฯ

“รอบนี้สนใจมากครับ หลักๆ ที่ผมสนใจคือ หนึ่งดูว่าใครเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ รวมถึงนโยบายของผู้สมัครแต่ละท่าน ผมมองเรื่องนโยบายแล้วก็ผลงานครับ หนึ่งเลย ผมมองว่าหลักๆ เรื่องขยะ น้ำท่วม รถติด คนรุ่นใหม่น่าจะมีจุดเปลี่ยนของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้แน่นอนครับผม”

“มินธดา หวังไพฑูรย์” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยว่าได้ติดตามข่าวสารการเลือกตั้งผ่านช่องทางสื่อโซเชียล แม้ตนจะไม่มีสิทธิ์เลือก แต่มองว่านโยบายของผู้สมัครคือสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนตัวอยากเห็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่แก้ไขปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำกับเรื่องการศึกษาให้กับคนกรุง

“คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของความเลื่อมล้ำกับเรื่องของการศึกษาค่ะ เพราะว่าหนูเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อจะได้รับสังคมที่ดี การศึกษาที่ดี อยากให้กรุงเทพฯ มีมาตรฐานมากขึ้น เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะได้รับโอกาสเท่ากัน”

นี่เป็นเพียงเสียงตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่เสนอมุมมองต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเป็นเสียงสำคัญที่จะกำหนดชะตาการเมือง ความเป็นอยู่ของคนกรุง ผ่านปลายปากกาในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และที่สำคัญเสียงของคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวชี้นำอนาคตของประเทศในวันข้างหน้า ในฐานะกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน