5 ปีรัฐธรรมนูญไทย ทิ้งอะไรให้สังคม/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

5 ปีรัฐธรรมนูญไทย

ทิ้งอะไรให้สังคม

 

6เมษายน พ.ศ.2565 เป็นการครบรอบการใช้รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันเดียว เดือนเดียวกัน เมื่อ 5 ปีก่อน

รัฐธรรมนูญที่ตราระบุเหตุผลสำคัญว่า “การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อย เหตุส่วนหนึ่งจากการที่มีผู้นำไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอํานาจ หรือขาดความตระหนักสํานึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทําให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล” รัฐธรรมนูญใหม่จึงเป็นการร่างมาเป็นทางออกของสถานการณ์ดังกล่าว

ครบ 5 ปีแห่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว มาดูกันว่า รัฐธรรมนูญนี้ทิ้งอะไรให้สังคมไทยบ้าง

 

ภาพฝันการปฏิรูปประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นหัวใจสำคัญ แยกเป็นหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่มาตราที่ 257 ถึง 261 กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปประเทศต่างๆ แบบจริงจังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ

มาตรา 259 ยังกล่าวถึงการให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีแผนขั้นตอน การวัดผลดำเนินการ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี

6 เมษายน 2565 คือครบห้าปี คงไม่ต้องถามว่าอะไรบรรลุแล้วบ้าง เพราะถ้าประสบความสำเร็จ รัฐบาลคงแถลงข่าวกันเป็นที่เอิกเกริก

แต่นี่ปล่อยผ่านเงียบฉี่ราวกับไม่ต้องการให้คนจดจำคำสัญญาต่างๆ ที่เคยกล่าวไว้

เช่นเดียวกับแผนปฏิรูปประเทศต่างๆ ที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่รายงานกระดาษที่เอางานประจำของราชการมานำเสนอต่อรัฐสภาทุกสามเดือน แต่แทบไม่มีอะไรที่เป็นสาระหรือเกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

ความขัดแย้งในบ้านเมืองยังคงดำรงอยู่

พรรคการเมืองยังเป็นแหล่งรวมนักเลือกตั้งไม่มีการพัฒนาเป็นสถาบัน

การทุจริตในแวดวงการเมืองและในระบบราชการยังมีทั่วไป

กฎหมายล้าสมัยยังไม่มีการแก้ไข กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้ผู้คน

การศึกษายังไม่มีการปฏิรูป ความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่ว

ไม่ต้องกล่าวถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งถึงทุกวันนี้ กฎหมายปฏิรูปโครงสร้างตำรวจยังเงียบหายในกอไผ่

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นเพียงการสร้างภาพฝันของการปฏิรูปประเทศเท่านั้น แต่ความเป็นจริงอย่างไร ไม่มีใครกล่าวถึงแล้ว

 

การสร้างการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ

การออกแบบกลไกนานัปการในรัฐธรรมนูญ นับแต่การออกแบบกติกาการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยมี ส.ส.หนึ่งเสียงในสภามากมาย นำไปสู่การเสนอประโยชน์ดึงเข้าร่วมรัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดถึง 18 พรรค การลงมติสำคัญในสภาแต่ละครั้งมีปรากฏการณ์ของการเรียกรับประโยชน์

มาตรา 101(9) ที่ให้ ส.ส.ที่ถูกมติพรรคขับออก สามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน ทำให้ระบบพรรคการเมืองขาดความเข็มแข็ง เกิดปรากฏการณ์งูเห่ามากมาย

การให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ด้วยเหตุที่ กกต.เชื่อว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติพรรคการเมืองในสารพัดข้อหา ตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 และยังสามารถสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ทำให้พรรคและบุคลากรทางเมืองที่น่าจะทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ต้องหมดบทบาททางการเมืองไป

เสถียรภาพทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้น จึงเป็นเสถียรภาพของฝ่ายปกครองที่มุ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วิธีการทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่หมู่พวกของฝ่ายตนเองเท่านั้น และไม่ใช่ภาวะที่อยู่ได้นาน

 

องค์กรอิสระ ที่ทำงานแบบราชการประจำ

การกำหนดที่มาขององค์กรอิสระ กำหนดคุณสมบัติที่สูงลิ่วและลักษณะต้องห้ามมากมาย ทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถได้คนรุ่นใหม่มาปฏิบัติหน้าที่

กลายเป็นที่อยู่ของข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุจากงานประจำ มีทัศนคติและพฤติกรรมทำงานเชิงรับ รอคอยการนำเสนอเรื่องจากเจ้าหน้าที่

ไม่เห็นผลในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อไม่มีการกำหนดกรอบเวลาในการให้ใบเหลืองใบแดงหลังเลือกตั้ง ด้วยเจตนาดีที่ต้องการให้การทุจริตไม่มีอายุความ แต่ผลกลับกลายเป็นความยืดยาดที่ไม่สามารถปิดคดีภายในหนึ่งปี ลากยาวเป็นปีกว่าสองปี จึงจะส่งศาลให้วินิจฉัย

ซึ่งกว่าศาลจะตัดสิน ผู้ถูกกล่าวหาอาจอยู่จนเกือบครบวาระสี่ปีไปแล้ว แล้วจะเป็นประโยชน์อะไรต่อการดำเนินการ

การดำเนินการต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนว่า ตัดสินด้วยความเป็นอิสระ หรือด้วยความเกรงใจผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งพวกเขาเข้ามา เช่น การวินิจฉัยของ ป.ป.ช. กรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนของหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง การรวบรัดตัดความในการวินิจฉัยของ กกต. ในกรณีให้พ้นตำแหน่ง ส.ส. และการยุบพรรคการเมือง การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการเร่งรีบยุบพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถึงสองพรรค เป็นต้น

ผลพวงของการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระต่างๆ จึงยากที่จะสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

 

รัฐธรรมนูญเพื่อการครองอำนาจ

ของผู้ปกครองเดิม

การมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 269 ที่ให้มี ส.ว. 250 มาจากแต่งตั้ง โดยตำแหน่ง และสรรหาแบบแปลกประหลาด และยังมีหน้าที่ตามมาตรา 272 ให้ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คือกลไกเพื่อค้ำจุนอำนาจของคณะผู้ปกครองชุดปัจจุบันที่แปลงกายมาจากทหารโดยแท้

การกำหนดให้การแก้ไขกติการัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 ให้ยากเย็นเข็ญใจ จะร่างใหม่ก็ไม่ได้ต้องไปทำประชามติ คือ หลักค้ำประกันว่า กติกาที่ถูกเขียนเพื่ออำนาจของตนจะไม่ถูกเปลี่ยนได้โดยง่าย

หากจะเปลี่ยน ก็เปลี่ยนได้เป็นบางมาตราหากสิ่งนั้นเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน เช่น เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบ ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายลง เพื่อเชื่อว่าฝ่ายตนจะสามารถได้ชัยชนะในระดับเขต

ไม่ได้มองที่ประโยชน์ของประเทศหรือประชาชนแต่อย่างใด

 

ห้าปี ให้อะไรกับสังคมไทย

ห้าปีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นห้าปีที่ประชาชนคนไทย ได้ผู้ปกครองประเทศหลังเลือกตั้งที่ขาดความสามารถ แต่ได้รับเลือกจากการออกแบบกลไกการมี ส.ว. มาร่วมเลือกและค้ำจุนอำนาจ

ได้วุฒิสภาที่ลงมติทุกครั้งแทบจะเหมือนกันโดยปราศจากความแตกต่างในมุมมองความคิด

ได้สภาผู้แทนราษฎรที่มีแต่ข่าวคราวการเรียกรับประโยชน์ทุกครั้งที่มีการลงมติสำคัญ

ได้องค์กรอิสระที่ทำงานได้ต่ำกว่าความคาดหวังของประชาชน

และได้รัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดและแก้ยากที่สุดมาเป็นกติกาสำคัญของบ้านเมืองให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันต่อไป

สิ่งปรารภไว้ในส่วนต้นของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ว่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ดูเหมือนจะห่างไกลจากความสำเร็จที่ปรารถนา

โดยเฉพาะประเด็น “เหตุส่วนหนึ่งจากการที่มีผู้นำไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอํานาจ”

ห้าปีของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ให้บทเรียนอะไรมากมายแก่สังคมไทยจริงๆ