ตามหา ‘ก.ไก่’ ไปจนถึง ‘ฮ.นกฮูก’ ที่ระเบียงคด วัดพระแก้ว/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ตามหา ‘ก.ไก่’ ไปจนถึง ‘ฮ.นกฮูก’

ที่ระเบียงคด วัดพระแก้ว

 

เพราะความสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยแท้ๆ ที่ทำให้คน 7 คน คือไพโรจน์ ธีระประภา ศิลปินศิลปาธร 2557 สาขาเรขศิลป์, รศ.อาวิน อินทรังษี รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร, กฤษดา วงศ์อารยะ อาจารย์พิเศษ ม.กรุงเทพ, ผศ.ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ, ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ปณต ทองประเสริฐ อาจารย์พิเศษ ม.ศรีปทุม และ ผศ.ดร.ขาม จาตุรงคกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ตกลงรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ใช้ชื่อว่า ‘๑๐๐ แรงบันดาลไทย’ เพื่อศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปวัฒธรรมไทย ด้วยความตั้งใจอยากให้ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย ก้าวเข้าไปสู่ชีวิตคนในปัจจุบันให้มากขึ้น

“คนจะรู้สึกว่าศิลปะไทยมันเชย” รศ.อาวิน ซึ่งรับหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มเล่า ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงอยากนำเสนอให้ศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวถูกนำไปประยุกต์ใช้ในงานร่วมสมัย โดยหลังจากทำเรื่องนั้น โน้น นี้ ล่าสุดที่มีก็คือ โปรเจ็กต์ ก-ฮ จิตรกรรมฝาผนังระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรื่องรามเกียรติ์

“มีวันหนึ่งนัดกันไปวัดพระแก้ว” รศ.อาวิน เปิดที่มาของโปรเจ็กต์ดังกล่าว

“ตอนที่นัด เขาบอกว่าไม่ได้มีจุดประสงค์อะไรพิเศษมากไปกว่าการไปเที่ยวชม ไปเก็บภาพ เหมือนกับที่เคยๆ ไปตามวัด ตามโบราณสถาน และสถานที่น่าสนใจอื่นๆ เพียงแต่อยู่ๆ ตอนที่เดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียงคด ชื่นชมกับภาพที่ศิลปินวาดเพื่อเล่าเรื่องรามเกียรติ์ รวมถึงชื่นชอบ ‘ภาพกาก’ หรือภาพของตัวประกอบที่ไม่สำคัญ ไม่ได้มีผลต่อเนื้อเรื่อง เป็นภาพที่ศิลปินวาดสอดแทรกไว้ ก็ความน่าสนใจในแง่มุมของอารมณ์ขัน และยังช่วยให้เห็นเรื่องราวของยุคสมัย วิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน แล้วพวกเขาซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำฟอนต์ภาษาไทยด้วย ก็คิดขึ้นมาได้ว่า ในบรรดารูปต่างๆ ที่ถูกวาดไว้นี้ จะมีภาพที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรไทย มีครบตั้งแต่ตัว ก.ไก่ ไปจนถึง ฮ.นกฮูก หรือไม่”

“จากนั้นก็ไล่หา”

ไปๆ มาๆ อยู่หลายครั้ง และก็พบเจอมาเกือบครบ 44 ตัว จะมีที่ยกเว้นอยู่บ้าง ก็เช่นตัว ‘ณ เณร’

“เพราะในเรื่องรามเกียรติ์ ไม่มีเรื่องพุทธศาสนามาเกี่ยว ก็จะไม่มีวัด ไม่มีพระ ไม่มีเณร”

พวกเขาจึงตัดสินใจเลือกใช้อะไรที่เกี่ยวข้อง คือเลือกภาพของ ‘ทศกัณฐ์’ ที่มีตัวอักษร ณ เณร ในชื่อ

ขณะที่ ‘ฬ จุฬา’, ‘ภ สำเภา’ ที่ไม่มี ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ส่วน ‘ฏ ปฏัก’ นั้นทีมเขาหาไม่เจอ แต่มีคนแจ้งมาว่าน่าจะมีอยู่

“ส่วนตัว ฮ.นกฮูก คือไม่คิดว่าจะมี เข้าไปวัดพระแก้วหลายรอบมากเพื่อเก็บรูปพวกนี้ แต่หาไม่เจอ จนรอบสุดท้าย ถอดใจแล้ว จะกลับแล้ว ก็ไปเจอจนได้ ได้มาโดยไม่คาดฝัน”

เขาเล่าพลางหัวเราะ

การทำโปรเจ็กต์นี้ รศ.อาวินบอกว่า ใจของพวกเขาไม่หวังอะไรมากไปกว่า “น่าจะดึงดูดให้คนไปดูวัดพระแก้วมากขึ้น”

เพราะระยะหลังสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีคนไปที่วัดน้อยมาก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเทียวต่างชาติเดินทางมาน้อย

“จึงเป็นโอกาสที่คนไทยจะไปเดินดูได้สบายๆ คนไม่แออัด”

“นี่ก็ดีใจ ที่มีลูกเพจบอกมา ว่าดูภาพที่เราถ่ายมาแล้ว อยากกลับไปดูของจริง อยากไปตามหาว่า ก.ไก่อยู่ตรงไหน ข.ไข่อยู่ตรงไหน ซึ่งในรูปเราก็พยายามอ้างอิงนะ ว่าอยู่ในผนังที่เท่าไหร่ ลองไปหาดูได้”

“ผมอยากชี้ชวนคนไปดู ให้ดูลึกขึ้น บางทีมันมีอะไรที่ศิลปินเขาซ่อนไว้ เวลาไปดู บางคนเดินดูผ่าน ดูรูปใหญ่ๆ แต่ถ้าค่อยๆ ดู ดูช้าๆ ก็ได้เห็นอะไรมากขึ้น”

“และถ้าใครไปแล้ว อาจจะเจอ ฏ ปฏัก ซึ่งถ้าเจอแล้วก็มาบอกด้วยนะครับ” เขาฝากทิ้งท้าย