‘ความสำเร็จ’ ต่างมุมมอง/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘ความสำเร็จ’ ต่างมุมมอง

 

เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมานี่เอง พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งผ่านวันครบรอบการสถาปนา 76 ปี เคลื่อนเข้าสู่ปีที่ 77 ไม่เพียงเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด แต่หากไล่เรียงสถาบันทางการเมืองที่ดำเนินงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ยังถือว่าเก่าแก่กว่าสถาบันใด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล่าวภายหลังเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาในวันนั้น ตอนหนึ่งว่า “จะยังอยู่ต่อไป ผมมั่นใจว่าตราบฟ้าดินสลาย”

เป็นความเชื่อมั่นของผู้นำพรรคในสถานการณ์ที่มีคำถามมากมายต่ออนาคตของประชาธิปัตย์ ทั้งจากคนนอกและคนใน

ซึ่งปฏิเสธได้ยากในมุมความตกต่ำของพรรค

การร่วมรัฐบาลเพื่อสนับสนับสนุการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ในที่สุดแล้ว ไม่เพียงเกิดความแตกแยกกันเละในพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” แต่ “ประชาธิปัตย์” ก็ตกในสภาพเดียวกัน

อาการเลือดไหลออกอย่างต่อเนื่องกระทั่งป่านนี้การวิพากษ์วิจารณ์พรรคอย่างรุนแรงด้วยความห่วงใยจากสมาชิกพรรคยังมีให้ได้ยินได้ฟังอยู่เป็นระยะ

ไปไกลถึงขนาดมีการเดิมพันว่าเลือกตั้งเที่ยวหน้า “ประชาธิปัตย์จะเหลือ ส.ส.กี่คน”

ในวันนั้นผู้สื่อข่าวถามนายจุรินทร์ว่า “ตั้งความหวังจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไว้อย่างไร” ซึ่งคำตอบที่ได้คือ “เรื่องจำนวนไม่ได้ตั้งเป้า แต่เรามีความมั่นใจว่า 2-3 ปีที่กรรมการบริหารชุดนี้เข้ามา เราพาพรรคเดินหน้าไปสู่การยอมรับของพี่น้องประชาชนยิ่งขึ้น ผมมีความมั่นใจอย่างนั้น”

ความเชื่อดังกล่าวก่อเสียงวิจารณ์ไม่น้อยในทาง “นายจุรินทร์ไม่ยอมรับความจริง คิดเอาเอง พูดเพื่อปกป้องความตกต่ำที่เห็นตำตา”

แต่นั่นดูเหมือนเป็นการวิจารณ์ที่คิดเอาเองอยู่เช่นกัน

เพราะเมื่อดูผลจากโพลเรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส” ของ “นิด้าโพล” ล่าสุดแล้ว ในผลสำรวจส่วนที่เกี่ยวกับประชาธิปัตย์ ล้วนความนิยมดีขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ

 

ในคำถาม “พรรคการเมืองที่ประชาชนให้การสนับสนุนวันนี้” ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะตกจากที่เคยได้ร้อยละ 9.54 เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.78 ในเดือนกันยายน 2564 และลงไปเหลือร้อยละ 7.15 ในธันวาคม 2564 แต่เมื่อถึงมีนาคม 2565 สามารถพลิกเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 7.97 ได้

ยิ่งในคำถาม “บุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ความนิยมของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 1.47 ในมิถุนายน 2564 มาเป็นร้อยละ 1.54 ในกันยายน 2564 เป็นร้อยละ 1.84 ในธันวาคม 2564 มาถึงมีนาคม 2565 เพิ่มพรวดขึ้นเป็นร้อยละ 2.58 แล้ว

ด้วยสถิติความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนี้ ย่อมไม่แปลกที่นายจุรินทร์จะเกิดความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายที่วางไว้ตรงความนิยมของประชาชนจะดีขึ้น โดยไม่เอาจำนวน ส.ส.ที่ได้มาเกี่ยวข้องประสบผลสำรวจ ลุล่วงไปด้วยดี

เป็นวิธีการสื่อสารความเชื่อมั่นที่น่าทึ่ง

ด้วยรายละเอียดของผลสำรวจชิ้นนี้ก็คือ ในความนิยมของพรรคนั้น “ประชาธิปัตย์” ได้อันดับ 4 ต่ำกว่า “เพื่อไทย-ก้าวไกล” หลุดลุ่ย แทบไม่เหลือลายแคนดิเดตพรรคอันดับหนึ่งของประเทศที่เคยครองมาตลอด

ขณะนี้คะแนนนิยมหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” อยู่อันดับที่ 10 ต่อท้ายแถว “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ประยุทธ์ จันทร์โอชา-แพทองธาร ชินวัตร-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” แบบที่เรียกว่ามองไม่เห็นฝุ่น

ยังมีผู้นำอยู่ข้างหน้าอย่าง “เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส-ชลน่าน ศรีแก้ว” หรือกระทั่ง “กรณ์ จาติกวณิช”

หากจะตีความว่าสภาพเช่นนี้เป็นความตกต่ำของประชาธิปัตย์คงเป็นข้อสรุปที่มีเหตุผลพอที่จะรองรับได้

เพียงแต่ว่า นั่นเป็นความตกต่ำในมุมมองของคนทั่วไป

สำหรับผู้บริหารประชาธิปัตย์ เลือกที่จะมองตรงคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากกว่า โดยไม่ต้องถามว่าเริ่มนับแต่เมื่อไร