เขย่าขวัญวันสงกรานต์ คนไทยหนี้ท่วม 14.6 ล้านล้าน ‘ของแพง- ค่าแรงถูก’ ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เขย่าขวัญวันสงกรานต์

คนไทยหนี้ท่วม 14.6 ล้านล้าน

‘ของแพง- ค่าแรงถูก’

ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

 

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยคงค้าง ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% (YOY) และเนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ยังอ่อนแอ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% จากปี 2563 อยู่ที่ระดับ 89.7%

โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2565 เหลือ 3.2% จากประมาณการเดิม 3.9%

ขณะที่ล่าสุด “เวิล์ดแบงก์” ประกาศปรับลดประมาณการจีดีพีไทย ปีนี้ลงเหลือ 2.9% จากคาดการณ์เดิม 3.9% เรียกว่าเป็นการปรับลดลงอย่างรุนแรง และในกรณีเลวร้ายก็มีโอกาสลดลงไปอยู่ที่ 2.6% โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากสถานการณ์ยูเครนที่กระทบต่อราคาพลังงานสูงขึ้น ที่ส่งผลถึงต้นทุนสินค้าวัตถุดิบต่างๆ เป็นลูกโซ่

เรียกว่าเป็นวิกฤตที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้ว ถือเป็นข่าวร้ายเขย่าขวัญหลังวันสงกรานต์ที่กำลังผ่านไป

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ข้อมูลสถิติในระดับครัวเรือนพบว่าการระบาดโควิด-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง และคาดว่าในปี 2566 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะขยับขึ้นต่อเนื่อง

ไส้ใน “หนี้ครัวเรือน” 14.58 ล้านล้านบาท พบว่า 3 อันดับแรกคือ

1) เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 34.5%

2) เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ ทำมาค้าขาย 18.1%

และ 3) เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ 12.4%

แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินที่เกิดจากการซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าประชาชนมีการพึ่งพา “เงินกู้ที่ไม่มีหลักประกัน” เพิ่มมากขึ้น หมายถึงกู้เงินเพื่อมาแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

จากที่พบว่า “หนี้บัตรเครดิต” และ “สินเชื่อส่วนบุคคล” มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 8.0% ของหนี้ครัวเรือน จากช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ประมาณ 7.0%

ขณะที่เร่งกดดันจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเดือนมีนาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี และกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 4-5%

เรียกว่า “เงินเฟ้อ” พุ่งแซงหน้าการเติบโตของเศรษฐกิจไปแล้ว ยิ่งเป็นตัวกดดันให้ทิศทาง “หนี้ครัวเรือน” สูงขึ้น

ถือเป็นภาพสะท้อนภาวะวิกฤตค่าครองชีพคนไทยในยุค “ของแพง-ค่าแรงถูก”

ที่สำคัญคือมีการส่งสัญญาณจากหลายฝ่ายว่า “หนี้นอกระบบ” กำลังเติบโตอย่างมาก เพราะภาวะเศรษฐกิจ คนตกงาน ขาดรายได้ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ

 

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าในปี 2565 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัว 3-5% เพราะรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่รายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดภาพที่ภาคครัวเรือนต้องมีการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น ยืนยันด้วยข้อมูล Google Trends ที่พบว่าปริมาณการค้นหาคำว่า “เงินกู้-เงินด่วน” ในไตรมาส 1/65 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ราว 30%

จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ สถานการณ์ “หนี้เสีย” หรือ NPL ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนต้องหันไปพึ่งพา “เงินนอกระบบ” มากขึ้น

ดร.ยรรยงระบุว่า จากการคำนวณข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่าตัวเลขหนี้นอกระบบอยู่ที่ราว 8.5 หมื่นล้านบาท หรือ 1.8% ของหนี้ครัวเรือน เป็นการเพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีปริมาณหนี้นอกระบบอยู่ที่ 4.78 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

“เป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งของหนี้นอกระบบหลังจากที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2562 และมองว่าหนี้นอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เมื่อรายได้ปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้น สะท้อนถึงความเดือดร้อนมากขึ้นของครัวเรือน และภาระค่าครองชีพที่แพงขึ้น”

 

สอดคล้องกับนายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อย “พิโกไฟแนนซ์” รายใหญ่ในภาคตะวันออก ระบุว่า สถานการณ์พิโกไฟแนนซ์ภาพรวมทรงตัว ไม่ค่อยมีการปล่อยกู้ลูกค้ารายใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่มารีไฟแนนซ์ ขณะที่ภาพหนี้เสีย หรือ NPL โตต่อเนื่อง

“กลุ่มอาชีพที่มีปัญหาไม่มีความสามารถการชำระหนี้ จนกลายเป็น NPL มากที่สุด คือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งกู้เงินไปลงทุนขายของ แต่สถานการณ์ไม่ดี สินค้าขายไม่ได้ ก็ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่เงินกู้เฉลี่ยประมาณ 10,000-30,000 บาทต่อราย ดังนั้น เมื่อครบกำหนดจ่ายหนี้ ก็หันไปกู้จากผู้ประกอบการรายอื่นมาโปะหนี้เก่า กู้ไปเรื่อยๆ วนมาวนไปตามสถานการณ์”

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า ลูกค้ามีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม ทำงานหนักกว่าเดิม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า 20% ทำให้หลายคนต้องหันไปกู้เงินนอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายหรือใช้หนี้ ซึ่งกำลังเป็นระเบิดอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะกู้ง่าย ได้เงินเร็ว ดอกเบี้ยสูง ทวงโหด ผลประโยชน์มหาศาล แต่การกู้เงินในระบบทำได้ยาก

นอกจากนี้จากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแม้ว่าครัวเรือนไทยในปี 2564 จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับ 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 แต่ภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนก็ขยับสูงขึ้นตามมาอยู่ที่ 21,616 บาทต่อเดือนด้วยเช่นกัน (จาก 20,742 บาทต่อเดือนในปี 2562) ซึ่งค่าใช้จ่ายของครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็น 79% ต่อรายได้ต่อเดือน

ดังนั้น หากมีภาระอื่นๆ เช่น ภาระผ่อนหนี้ ก็จะทำให้ไม่มีเงินเหลือสำหรับการออม หรือแม้แต่ไม่พอที่จะใช้จ่าย

 

โจทย์สำคัญคือระดับหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ โดยพบว่าในปี 2564 หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 205,679 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 เท่า เมื่อเทียบหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 บาท ในปี 2562 ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 1.05 เท่า

ภาพดังกล่าวตอกย้ำว่า ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนยังคงมีความเปราะบางต่อสภาวะผันผวนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ เงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่คนไทยจำนวนมากมีรายได้ไม่พอรายจ่ายในยุค “ของแพง-ค่าแรงถูก”

และอาจกลายเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทยที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อนับจากเทศกาลสงกรานต์ผ่านไป!