เมื่อนักการทูตอาวุโสตั้งวง จิบกาแฟเสวนาเรื่องสงคราม!/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เมื่อนักการทูตอาวุโสตั้งวง

จิบกาแฟเสวนาเรื่องสงคราม!

 

วงสนทนาเมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดขึ้นท่ามกลางความร้อนแรงของสงครามยูเครน

จึงหนีไม่พ้นว่าหัวข้อสำคัญคือเรื่องวิกฤตโลกที่เรากำลังเผชิญ

เป็นการตั้งวงคุยกันแบบ off-the-record ซึ่งแปลว่าแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเปิดกว้าง…แต่เฉพาะในวงเล็กๆ นี้เท่านั้น

ไม่มีการเผยแพร่บอกกล่าวกันต่อว่าใครได้แสดงความเห็นแบบสนุกสนาน, ร้อนแรงหรือถกแถลงกันอย่างเผ็ดร้อนอย่างไร

หรือแซวกันแบบกันเองในฐานะผู้ติดตามข่าวสารระหว่างประเทศกันมายาวนาน

แขกผู้มาเยือนคือ Kishore Mahbubani นักการทูต, นักเขียน, นักอภิปรายคนดังของสิงคโปร์

หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ Has China Won?

วิเคราะห์ผลทางตรงและข้างเคียงเมื่อจีนกำลังท้าทายความเป็นเบอร์หนึ่งของสหรัฐ

เป็นหนังสือที่ผู้นำจีนได้อ่านกันถ้วนหน้า และดูเหมือนจะชื่นชอบข้อสรุปของนักเขียนคนนี้

วันนั้นเป็นวงสนทนาของผู้อาวุโสในแวดวงการทูตระหว่างประเทศ

ผมแทรกตัวเข้าไปในฐานะผู้พยายามจะเรียนรู้จากท่านผู้รู้ในวงการนี้

“อาวุโส” ทั้งในแง่ประสบการณ์และอายุอานาม

คุณคิชอร์ถามผมว่าปีนี้เท่าไหร่ ผมบอกด้วยความภาคภูมิว่า 76

แกบอกว่าแก 74

ผมบอกว่าแกยังเด็กกว่าผู้ใหญ่สองคนที่มาร่วมวงคุยด้วย

เพราะคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีอายุ 90 ปีนี้

คุณอาสา สารสิน อดีตราชเลขาฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ปีนี้ 84

ที่เกิน 60 ไม่มากนักคือคุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคุณณรงค์ ศศิธร อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซีย

หัวข้อพูดคุยมากมายหลายประเด็น

หนึ่งในคำถามที่พยายามหาคำตอบในวงเสวนาคือสงครามยูเครนใครได้ประโยชน์

สหรัฐไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด

เพราะทำให้สหรัฐกับยุโรปมีความเหนียวแน่นกันมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายจากรัสเซีย

ที่สหรัฐกับสหภาพยุโรปมีความห่างเหินกันไปพักใหญ่ในยุคสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นทิ้งร่องรอยของปัญหาเอาไว้ไม่น้อย

แต่พอรัสเซียบุกยูเครนก็ทำให้ NATO ต้องเล่นบทบาทในฐานะผู้ปกป้องอย่างเด่นชัด

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ฉวยจังหวะนี้เล่นบทพระเอก ปลุกระดมให้ยุโรปตะวันตกและสมาชิกนาโตต้องรวมพลังกันอีกครั้ง

และยังขายอาวุธให้กับประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามได้อีกด้วย

มีคำถามบนโต๊ะว่าถ้าอย่างนั้นจีนได้หรือเสียกับสงครามครั้งนี้

มีความเห็นที่น่าสนใจว่าจีนน่าจะไม่สบายใจกับสงครามยูเครนไม่น้อย

ประการแรก เมื่อรัสเซียเจอกับการคว่ำบาตรจากทางตะวันตกหนักหน่วงขนาดนี้ มอสโกก็ย่อมอ่อนแรงลง

สำหรับจีนแล้วการที่สหายใกล้ชิดอย่างรัสเซียต้องเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อปักกิ่ง

เพราะรัสเซียคือ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ที่สำคัญอันดับต้นๆ

หาก “หุ้นส่วน” ถูกกระหน่ำหนัก จีนย่อมจะต้องกังวลเป็นธรรมดา

ข้อด้อยข้อสองสำหรับจีนเมื่อเกิดสงครามนี้ก็คือเศรษฐกิจโลกถดถอย

นั่นย่อมแปลว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งถูกโควิด-19 กระแทกหนักแล้วก็จะต้องเจอกับผลกระทบหนักอีกระลอกหนึ่งด้วย

ประเด็นที่สามที่จีนต้องพิจารณาใคร่ครวญก็คือเมื่อเกิดวิกฤตยูเครนครั้งนี้ ทำให้โลกตะวันตกหันมาจับมือกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

และมีผลทำให้วอชิงตันภายใต้การนำของโจ ไบเดนเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตนในโลกตะวันตก

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แบบแผนใหม่หลังรัสเซียบุกยูเครนนั้น สหรัฐได้ประโยชน์เพราะทำให้สถานภาพของตนแข็งแกร่งขึ้นมาโดยพลัน

 

ข้อน่ากังวลประการที่สี่สำหรับจีนในกรณีนี้ก็คือการที่จีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่เก็บเป็นดอลลาร์สหรัฐและฝากไว้กับประเทศตะวันตกเหมือนรัสเซีย

หากสหรัฐกับอียูสามารถประกาศ “อายัด” เงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางของรัสเซียได้ จีนย่อมจะต้องหวั่นไหวเช่นกัน

เพราะอะไรที่เกิดกับรัสเซียได้ก็ย่อมเกิดกับจีนได้เช่นกัน

ผู้นำของสหภาพยุโรปได้แจ้งกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกฯหลี่ เค่อเฉียง ในการประชุมออนไลน์ว่าหากปักกิ่งสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามยูเครน อียูก็อาจจะต้องพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่อจีนเช่นกัน

ไม่ว่าจะถือว่าเป็นคำเตือนหรือคำขู่ นั่นย่อมทำให้ผู้นำจีนก็นำมาประกอบการวิเคราะห์สถานภาพและอำนาจการต่อรองของตนต่อโลกตะวันตก

ความจริง ก่อนหน้านี้จีนพยายามจะแยกสหรัฐออกจากยุโรปตะวันตกในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมือง

โดยจีนหวังว่าหากยุโรปตะวันตกมีนโยบายที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามสหรัฐในทุกเรื่อง ปักกิ่งก็มีโอกาสที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับอียูให้มีผลดีต่อตน

ไม่ว่าสหรัฐจะมีแนวทางเป็นศัตรูกับจีนเพียงใด จีนก็ยังหวังว่ายุโรปตะวันตกจะไม่ใช้แนวทางเดียวกัน

แต่พอเกิดสงครามยูเครน จีนก็เห็นชัดว่าวอชิงตันกับยุโรปตะวันตกกลับมาจับมือกันเหนียวแน่นกว่าเดิมอีกครั้ง

 

อีกความกังวลหนึ่งของจีนคือเรื่องการเป็น “เจ้าหนี้” ของอเมริกา

ต้องไม่ลืมว่าจีนถือพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐเป็นจำนวนไม่น้อย

หากวอชิงตันต้องการจะ “เบี้ยว” ขึ้นมาหรือทำอะไรมิดีมิร้ายกับจีนด้วยการ “ด้อยค่า” พันธบัตรหรือ treasury bills ที่จีนถืออยู่ ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนได้ทันที

วงสนทนาเห็นพ้องต้องกันว่าสหรัฐจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดไม่ให้จีนสบายปีกจนถึงขั้นที่สามารถแซงหน้าสหรัฐได้ในแก่ขนาดของเศรษฐกิจ

ยิ่งมีการพยากรณ์ว่าหากอัตราโตทางเศรษฐกิจของจีนประจำปียังรักษาระดับนี้อยู่ได้ ไม่เกิน 10 ปีจีนก็จะกลายเป็นประเทศที่มีผลผลิตมวลรวมอันดับหนึ่งของโลก

สงครามยูเครนอาจจะเป็นโอกาสที่สหรัฐจะกดดันให้จีนต้องติดกับดักด้วยการยืนข้างรัสเซียจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตนด้วย

 

มีคำถามที่ถูกโยนกลางวงสนทนาว่าสงครามยูเครนจะมีผลต่ออาเซียนอย่างไร?

เกือบจะเห็นพ้องต้องกันว่าอาเซียน “เห็นต่าง” กับเรื่องนี้อย่างชัดเจน

เห็นได้จากการลงมติในสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติว่าด้วยการประณามรัสเซียบุกยูเครน

สมาชิกอาเซียน 8 ประเทศลงมติเห็นพ้อง เป็นส่วนหนึ่งของ 141 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ

โดยสิงคโปร์ฉีกแนวไปร่วมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเหมือนโลกตะวันตกด้วย

มีแต่เวียดนามกับ สปป.ลาวเท่านั้นที่ “งดออกเสียง”

ทำให้ต้องวิเคราะห์ต่อว่าท่าทีของสมาชิกอาเซียนต่อจีนและสหรัฐนั้นแบ่งแยกกันอย่างไร

เพราะถ้าใกล้ชิดกับจีนก็อาจจะเห็นใจรัสเซียในกรณีนี้

มีประเด็นว่านายกฯ สิงคโปร์หลี่ เสียนหลง แยกวงอาเซียนบินเดี่ยวไปหาประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 4 ชาติ (ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเมียนมา) ยกพวกไปเยือนรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนในจังหวะใกล้ๆ กัน

อย่างนี้ถือว่าอาเซียน “แตก” ไหม

มองอย่างนั้นก็ได้…

หรือจะมองว่าแนวทางอาเซียนนี้ช่างชาญฉลาด…อาจจะเป็นการ “แบ่งหน้าที่กันทำ”

กลุ่มหนึ่งไปแสดงความเข้าใจวอชิงตัน

อีกกลุ่มหนึ่งทำให้จีนเห็นว่ามีความเห็นพ้องกันในหลักใหญ่ๆ ว่าด้วยการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้

วงเสวนาของ “ผู้อาวุโส” แยกย้ายกันด้วยข้อสรุปว่า

อะไรๆ มันบ่แน่หรอกนาย!

ทุกชาติทุกภาษามีคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ทั้งสิ้น!