ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หน้า8 |
เผยแพร่ |
และแล้ว “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ก็เปลี่ยนไป
ใครจะไปนึกว่า “สมชัย” จะวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญรุนแรงขนาดนี้
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข
เราต้องยกเลิกการให้คณะบุคคลมาทำหน้าที่แก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมือง ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ที่ให้อำนาจ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับให้อำนาจบุคคลเพียง 11 คน ที่จะมีอำนาจพิจารณาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
การให้วุฒิสภามาจากการสรรหาก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้ ส.ว. ดีขึ้น และยังให้อำนาจกับคนเพียงไม่กี่คนตัดสินใจแทนประชาชน ดังนั้น จึงควรกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้ง แล้วปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
กลไกการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้น้ำหนักกับฝ่ายตุลาการ หรือศาลมากเกินไป ควรมีการทบทวน
การที่จะมาบอกว่าให้รับไปก่อนแล้วมาแก้ไขภายหลัง เราคงยอมเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหากรับไปแล้ว การเมืองจะไปสู่รูปแบบใหม่ เป็นการให้ความเข้มแข็งแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และยังมีสาระขัดกับความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการให้อำนาจตัดสินใจกับคนบางกลุ่ม
มันเหมือนกับการทอผ้า ผมไม่อยากให้กรรมาธิการยกร่างฯ ภาคภูมิใจกับผ้าทอที่เห็นว่างามวิจิตร แต่ยังมีช่องโหว่ และรอยขาด ซึ่งคงจะซื้อไม่ได้ และหากยังจะเสนอผ้าขาดผืนนี้ให้กับประชาชน
อาจจะต้องถามว่าจะต้องทวงต้นทุนค่าจ้างทอผ้าคืนด้วยหรือไม่”
คมคายและดุดันจริงๆ
แต่น่าเสียดายที่คำสัมภาษณ์ของ “สมชัย” ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550
ในวันที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิองค์กรกลางฯ และผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต
ไม่ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ในวันนี้
วันนั้นเขาตั้งคำถามกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีหลักการบางอย่างคล้ายกับรัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงประชามติในวันนี้
“สมชัย” คึกคักเหี้ยมหาญถึงขั้นประกาศกร้าวว่าจะรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ
“หากสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรับเนื้อหา เราคงร่วมรณรงค์กับองค์กรอื่น ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ”
“สมชัย” ในปี 2550 ประกาศเป็นหัวหอกรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
และในเวลาต่อมา เขาคือคนที่จัดการดีเบตระหว่างฝ่ายกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2550
และเป็นที่มาของวาทะเด็ดของ “จรัญ ภักดีธนากุล”
“รับไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลัง”
ซึ่งกลายเป็น “ใบเสร็จ” ของการ “ถ่มน้ำลายรดฟ้า”
เพราะการกระทำในเวลาต่อมาไม่ตรงกับ “คำสัญญา” ในวันนั้น
รับไปแล้ว แต่แก้ไขไม่ได้
เวลาผ่านไป 9 ปี “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ยังเป็น “คนเดิม”
แต่ “หลักคิด” ไม่เหมือนเดิม