เอฟเฟ็กซ์รัฐรีด ‘ภาษีที่ดิน 100%’ ‘ธุรกิจ’ สะอื้น ‘แลนด์ลอร์ด’ ไม่สะท้าน/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เอฟเฟ็กซ์รัฐรีด ‘ภาษีที่ดิน 100%’

‘ธุรกิจ’ สะอื้น

‘แลนด์ลอร์ด’ ไม่สะท้าน

 

“ยังไม่พร้อมจ่าย 100%” เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจทุกสารทิศ หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตรา 100% เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนนี้

แม้เป็นอัตราเดิม โดยที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% เพื่อการอยู่อาศัย 0.02-0.1% เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 0.3-0.7% และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ 0.3-0.7%

แต่ด้วยสถานการณ์ที่ “ยังไม่เอื้อ” ภาคธุรกิจจึงประสานเสียงขอรัฐบาลขยายลด 90% อีก 2 ปี

 

ขณะที่ขุนคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ย้ำชัดการที่รัฐเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะ 2 ปีที่ลด 90% เพื่อช่วยลดภาระผู้เสียภาษี ทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไปปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท รัฐต้องหาเงินชดเชย แต่ด้วยงบประมาณมีจำกัดทำให้ที่ผ่านมาอุดหนุนได้แค่ปีเดียว เพราะงานนี้ขุนคลังมั่นใจ หากท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินเต็มอัตราศึก ทำให้รายได้กลับมาอู่ฟู้ โดยปี 2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งเป้ามีรายได้จากภาษีที่ดิน 42,686 ล้านบาท แต่ยังต้องลุ้นจะเข้าเป้าหรือไม่ ในเมื่อรัฐเองก็มีสารพัดมาตรการออกมาบรรเทา

โดยเฉพาะ “ที่ดินว่างเปล่า” ที่กฎหมายเปิดช่องให้นำที่ดินมาทำเกษตกรรมได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่น ปลูกกล้วย 200 ต้นต่อไร่ มะม่วง 20 ต้นต่อไร่ มะนาว 50 ต้นต่อไร่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดปรากฏการณ์แลนด์ลอร์ด-ตระกูลดังทยอยแปลงสภาพที่ดินในเมืองให้เข้าเกณฑ์ “ที่ดินเกษตรกรรม” เพื่อเสียภาษีในอัตราถูกลง

ที่ฮือฮาที่ดิน 24 ไร่มูลค่าหมื่นล้าน ติดรถไฟฟ้าสถานีศูนย์วัฒนธรรม นำมาปลูกมะนาว

ล่าสุดนำที่ดิน 27 ไร่ ติดถนนเทียมร่วมมิตรปลูกกล้วยและมะม่วง

หรือเนรมิตที่ดินกว่า 300 ไร่ ย่านเกษตร-นวมินทร์ ปลูกมะม่วง

ยิ่งช่วงนี้ใกล้วันจ่ายภาษี เริ่มมีการนำที่ดินออกมาพัฒนา ประกาศขาย ปล่อยเช่ากันคึกคัก เพื่อบรรเทาภาระที่ต้องจ่ายเพิ่ม 10 เท่า

นั่นหมายความว่าสิ่งที่รัฐคาดหวังหากเก็บภาษี 100% ท้องถิ่นจะมีรายได้เข้ามา 100% นั้น คงจะสวนทางความจริง เพราะการที่ท้องถิ่นเก็บภาษีได้น้อยมีหลายสาเหตุ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ความไม่พร้อม ส่วนการลด 90% เป็นแค่ส่วนหนึ่ง

ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจยังซมพิษโควิด ธุรกิจชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็เป็นไปได้สูงที่ท้องถิ่นจะเก็บภาษีที่ดินได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

สอดคล้องกับ “อธิป พีชานนท์” รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน หากเก็บภาษีที่ดิน 100% สุดท้ายท้องถิ่นก็เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เพราะคนไม่มีเงินจ่าย จะลามไปถึงฐานภาษีอื่นด้วย เช่น เงินได้ ธุรกิจเฉพาะ มูลค่าเพิ่ม และจากการสำรวจทุกธุรกิจพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่พร้อมจ่าย ขอรัฐลด 90% อีก 2 ปี รอเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือเก็บแบบขั้นบันไดให้ธุรกิจได้ปรับตัว

“ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ขอให้พิจารณาลด 90% เพราะทุกธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากโควิด รายได้ลด บางรายต้องหยุดกิจการ แต่ทรัพย์สินยังอยู่ ต้องมีภาระภาษีที่ดินเพิ่ม ซึ่งภาษีที่ดินประเมินจากมูลค่าทรัพย์สิน กระทบมากสุดโรงแรม 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพราะไม่มีรายได้เลย 2 ปีนี้ รัฐจะเก็บภาษีเศรษฐี แต่กระทบคนตัวเล็ก เพราะคนตัวใหญ่เขาไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว”

หันไปดูธุรกิจโรงแรม “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย ฉายภาพเด่นชัดภาษีที่ดิน 100% กระทบต่อธุรกิจโรงแรมถึง 93.6% เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการหมดแรงที่จะไปต่อ เพราะอัตราภาษีที่เก็บสูงกว่ารายได้ปัจจุบัน ยังได้รับผลกระทบโควิด แบกภาระขาดทุน ขอให้รัฐพิจารณาเก็บภาษีธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะอีกครั้ง โดยลด 90% อีก 1-2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจกลับมาฟื้นตัว หรือเก็บแบบขั้นบันได เช่น ปีละ 5-10% เพื่อประคองธุรกิจ

“ธุรกิจโรงแรมและภาคบริการได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น เพราะภาษีประเมินตามมูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ กลายเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ ซึ่งโรงแรมมีมูลค่าสินทรัพย์สูง หากรัฐเก็บภาษี 100% จะกระทบต่อธุรกิจเป็นลูกโซ่ ขาดสภาพคล่อง กระทบการจ้างงาน ต้นทุนการผลิต ปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ชะลอลงทุน อาจจะเลิกกิจการหรือปิดชั่วคราว ขายให้ต่างชาติ”

มาริสาระบาย

 

ขณะที่ผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) มองว่า ภาษีที่ดิน 100% จะเร่งให้ผู้ประกอบการมีที่ดินในมือทยอยนำมาพัฒนาเป็นโครงการขนาดเล็ก และพัฒนาทีละเฟสให้ปิดการขายได้เร็ว

หากปล่อยทิ้งไว้หรือสร้างที่อยู่อาศัยแล้วขายไม่หมดใน 3 ปี ต้องเสียภาษีในอัตรา 0.3-0.7% คาดว่าแต่ละปีมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จขายไม่ได้ใน 3 ปี ประมาณ 15,000 ยูนิต

เริ่มแล้วค่ายเสนาดีเวลลอปเม้นท์ โดย “เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” เอ็มดี กล่าวว่า ระหว่างรอตลาดคอนโดมิเนียมฟื้นตัว จะนำที่ดิน 10 แปลงแนวรถไฟฟ้าพัฒนาเป็นที่จอดรถ อาทิ ตลาดพลู เอกมัย สมเด็จเจ้าพระยา บางนา บางโพ และเร่งระบายสต๊อกคอนโดฯ ยังเหลือ 2,000-3,000 ยูนิต มูลค่า 5,000-6,000 ล้านบาท

ด้านความเคลื่อนไหวธุรกิจภูธร “ธนูศักดิ์ พึ่งเดช” ประธานสภาหอการค้าภูเก็ต บอกว่า ผู้ประกอบการธุรกิจภูเก็ตยังเดือดร้อนทั้งเกาะจากผลกระทบโควิด นักท่องเที่ยวหายไป 80% ทำให้รายได้ลดลงมาก ยังต้องเสียภาษีเพิ่มอีก ขณะนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็ชะลอการลงทุน คนมีที่ดินเปล่านำไปพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อลดภาระภาษี และมีบางรายขายให้นายทุนในราคาพิเศษ ส่วนธุรกิจโรงแรมบนเกาะกว่า 2 พันแห่งก็เปิดบริการแค่ 30% หากรัฐเก็บภาษี 100% จะเพิ่มภาระและคงไม่มีเงินจ่าย ตนเคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ววันที่ลงพื้นที่ จ.กระบี่ ขอให้ลด 90% อีก 2 ปี หรือเก็บเป็นขั้นบันได

อีกธุรกิจที่กระทบไม่แพ้กันนั่นคือธุรกิจเช่า ไม่ว่าบ้านเช่า ร้านอาหาร เพราะต้องเสียภาษีอัตราพาณิชยกรรม

ซึ่ง “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย บอกว่าส่วนใหญ่ร้านอาหารจะเช่าที่ดินหรือพื้นที่เปิดร้าน ขณะนี้เริ่มกังวลหากรัฐเก็บภาษีที่ดิน 100% เจ้าของพื้นที่จะขึ้นค่าเช่า ทำให้มีภาระเพิ่ม ขณะที่ธุรกิจและรายได้ยังไม่ฟื้น

 

ท่ามกลางเสียงค้าน มีเสียงหนุนจาก “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพราะมองว่าภาษีที่ดินเป็นภาษีที่จะลดการเหลื่อมล้ำ เพราะผู้เสียภาษีเป็นผู้มีทรัพย์สินมาก แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แนวทางที่เสนอแนะคือ รัฐเก็บภาษีที่ดิน 100% ให้ท้องถิ่นมีรายได้ แต่หากธุรกิจเดือดร้อน เช่น โรงแรม ให้ชะลอการจ่ายจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งภาษีที่ดินมีช่องโหว่และข้อยกเว้นมากมาย ทำให้เจ้าของที่ดินเสียอัตราถูกลง

ดูแล้วธุรกิจรายใหญ่ไม่น่าห่วง เพราะยังมีช่องให้บรรเทา แต่ธุรกิจรายเล็กและประชาชนที่ยังบอบช้ำจากวิกฤตโควิด

เศรษฐกิจคงหมดแรงไปต่อ จากภาระที่เพิ่มทวีคูณ!!