เมืองไหนๆ ก็อยาก ‘เขียว’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Kampung Admiralty, designed by Ramboll Studio Dreiseitl and WOHA. Image Courtesy of WOHA

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

เมืองไหนๆ ก็อยาก ‘เขียว’

 

การอยู่กับธรรมชาตินั้นทำให้ผู้คนมีสุขภาพจิต สุขภาพกายดีกว่าการอยู่ในเมืองที่แออัดเต็มไปด้วยมลพิษ ไร้พื้นที่สีเขียว นี่เป็นข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่รับรู้กันมานานแล้ว

และตั้งแต่มีวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ประเทศต่างๆ ได้ตระหนักว่า การเปิดให้ผู้คนใช้พื้นที่สาธารณะที่มีแสงแดดสดใส อยู่กับป่าร่มรื่นและมีสิ่งแวดล้อมสะอาดจะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล เพิ่มภูมิต้านทานสู้โรค

เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกจึงพากันร่างแผนยกระดับความเป็นเมืองน่าอยู่ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีเป้าหมายให้ชาวเมืองมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน นักธุรกิจจากทั่วโลกที่ต้องการใช้ชีวิตและทำงานในสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่

 

กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็น 1 ในเมืองหลวงของโลกที่ได้วางแผนปรับปรุงพื้นที่สีเขียวให้เป็นเมืองที่เขียวที่สุด และเป็นเขตปลอดคาร์บอนไดออกไซด์มาหลายปีแล้ว ตั้งเป้าว่าฝันจะเป็นจริงภายในปี 2573

ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวในกรุงลอนดอนมีทั้งหมด 88,550ไร่ เป็นสวนสาธารณะ 3,000 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ลอนดอนทั้งหมด

จำนวนต้นไม้ในลอนดอนมีทั้งหมด 8,300,000 ต้น สัตว์ป่า 14,000 ชนิด คำนวณมูลค่าเป็นตัวเงินตกราวๆ 91,000 ล้านปอนด์ (เป็นเงินบาทเป็นเท่าไหร่ ลองเอา 44.57 คูณเข้าไป)

การตีมูลค่าสวนสาธารณะเป็นสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อจะบอกชาวโลกว่า กรุงลอนดอนเป็นเมืองสีเขียว เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมระดับเวิร์ลด์คลาสตอบสนองกับสุขภาพจิต สุขภาพกายในทางที่ดี

ผู้บริหารกรุงลอนดอน ดึงพื้นที่รอบๆ ปริมณฑลอีก 25,300 ไร่ เช่น แฮมสเต็ด ฮีธ และแอปปิ้ง ฟอเรสต์ มาจัดการบริหารเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นสวรรค์ของชาวเมืองและสัตว์ป่า

นอกจากนี้แล้วสถาปนิกผู้วางผังเมือง นักจัดสวน ได้ร่วมกันคิดทำอย่างไรจึงให้ชาวลอนดอนเข้ามาพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือทำงานในสวนสาธารณะของกรุงลอนดอนได้อย่างมีความสุขท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่น มีร้านกาแฟ ซุ้มอาหารให้อิ่มท้อง

ผู้บริหารกรุงลอนดอนปรับพื้นที่เล็กๆ กว่า 200 แห่งเป็นสวนหย่อมเชื่อมระหว่างที่พักอาศัย ร้านค้า ให้ชาวเมืองเดินเท้าหรือขี่จักรยานเข้าถึงสวนหย่อมนี้ในเวลาไม่เกิน 15 นาที

ตามสถิติพบว่าชาวลอนดอนต้องใช้เวลาเฉลี่ย 23.5 นาทีเพื่อเข้าถึงสวนสาธารณะ ใช้เวลามากกว่าชาวเบอร์ลิน มิลาน แมดริด หรือปารีส

ทางเท้าและทางจักรยานในกรุงลอนดอนกำลังได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีความกว้าง มีต้นไม้ร่มรื่น ผู้คนเดินสวนกันได้สบายๆ ไม่ต้องให้อีกคนต้องเลี่ยงเดินบนถนนเหมือนกรุงเทพฯ

ส่วนวัสดุที่นำมาก่อสร้าง เช่น คอนกรีตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อชักชวนให้ชาวลอนดอนไปไหนมาไหนด้วยการเดินเท้าและยานพาหนะที่ปลอดมลพิษให้มากที่สุด

 

ไปที่กรุงโคเปนเฮเกนกันบ้าง ผู้บริหารเมืองหลวงแห่งเดนมาร์ก จัดวางเป้าให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของโลกที่ปลอดจากคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2568

เวลานี้โคเปนเฮเกนเดินตามเป้าหมายในหลายๆ เรื่องแล้ว เช่น การนำขยะของเสียมาแปรรูปเป็นพลังงานความร้อนและรีไซเคิลกลับมาใช้ได้อีก เรื่องของการขนส่งมวลชน รถบัสหรือเรือโดยสารในกรุงโคเปนเฮเกนใช้พลังงานไฟฟ้า

ส่วนทางเท้าหรือทางจักรยานในเมืองหลวงแห่งนี้ต้องบอกว่าสุดยอดมาก ไม่ต้องกลัวว่ารถจะพุ่งชนเหมือนกรุงเทพฯ เพราะได้รับการออกแบบให้แยกเลนเป็นสัดส่วน บางแห่งเป็นทางจักรยานลอยฟ้า หรืออุโมงค์ข้ามแยก

ชาวโคเปนเฮเกนปกป้องและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก ผู้คนส่วนใหญ่ปั่นจักรยานไปทำงาน ไปพักผ่อนในสวนสาธารณะ

ชาวโคเปนเฮเกนที่มีรถยนต์ส่วนตัวจะขับรถไปทำงานเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือใช้จักรยาน

อาหารการกินในกรุงโคเปนเฮเกนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอาหารที่ใช้ส่วนประกอบทำจากอินทรีย์วัตถุปลอดสารเคมี

ย้อนลงมาที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ที่นี่ชาวเมืองกว่า 75% อยู่ในรัศมี 300 เมตรของพื้นที่สีเขียว และราว 90% สามารถเดินเท้าไปใช้บริการขนส่งสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 300 เมตร

ชาวลิสบอนจึงแทบไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว และอยู่ในสิ่งแวดล้อมเขียวร่มรื่น

กรุงลิสบอนเพิ่งได้รับรางวัล “เมืองหลวงสีเขียวแห่งยุโรป” ในปีนี้ ด้วยความสำเร็จในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลักดันให้ชาวเมืองใช้จักรยาน เดินเท้าและรถขนส่งสาธารณะ ติดตั้งจุดชาร์ตแบตเตอรี่รถพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

ข้ามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมืองนี้รักสิ่งแวดล้อมมากไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มงวดที่สุดจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสุดของทวีปอเมริกาเหนือ

ผู้บริหารเมืองแวนคูเวอร์เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ระดมจ้างคนให้ปลูกต้นไม้ 150,000 ต้น รณรงค์ใช้ส่วนประกอบการทำอาหารที่ปลอดสารเคมีและเป็นวัสดุในท้องถิ่น

อาคารที่ทำการของรัฐ ปรับปรุงให้ใช้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ เช่น หลังคาห้องสมุดของเมืองก็เป็นพื้นที่สีเขียว นำน้ำเสียที่บำบัดแล้วดึงขึ้นไปรดต้นไม้ ลดความร้อนของอาคาร ประหยัดพลังงาน

นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองแรกของสหรัฐที่ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติก หลอดดูดมาตั้งแต่ปี 2562

วัสดุพลาสติกที่ใช้แล้วในซานฟรานซิสโกกว่า 80% ถูกนำกลับมารีไซเคิลและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง

สนามบินซานฟรานซิสโกประกาศห้ามขายขวดน้ำพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวเป็นแห่งแรกในสหรัฐ

สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อปี 2557 ประกาศให้นครซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแชมเปี้ยนในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและมีแผนปฏิบัติการที่เด่นชัด

ชาวซานฟรานซิสโกใช้เวลาเพียง 10 นาทีเดินออกจากบ้านไปถึงสวนสาธารณะ

คนเมืองนี้นิยมเดินเท้ามากกว่านั่งรถ จึงนับได้ว่า นครซานฟรานซิสโกคือเมืองของคนรักสิ่งแวดล้อม

กรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นดินแดนใกล้ขั้วโลกเหนือมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี ผู้คนที่นี่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีแผนกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชัดเจน เช่น สนับสนุนให้คนใช้จักรยานหรือเดินเท้าแทนการขับรถยนต์ ชักชวนคนที่ใช้รถพลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซ

อาคารร้านค้าในกรุงเรคยาวิก ส่วนใหญ่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแนวภูเขาไฟ ชาวเมืองจะดึงน้ำร้อนมาใช้ในระบบทำความร้อนและนำมาใช้รดพื้นถนนที่มีน้ำแข็งเกาะ

 

กลับมาที่ฝั่งเอเซีย ประเทศสิงคโปร์ใกล้บ้านเรา คนทั่วโลกรู้จักในฉายา “เมืองในสวน” เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญการปลูกและดูแลต้นไม้นานาพันธุ์ เน้นความเป็นเมืองสะอาดน่าอยู่

ใจกลางเมืองสิงคโปร์ได้กำหนดเป็นเขตปลอดรถยนต์เพื่อลดมลพิษทางอากาศ

อาคารแทบทุกหลังได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ กำหนดพื้นที่สีเชียวชัดเจน มีการวางระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่หรือปล่อยสู่ทะเลโดยไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์

ในแผน “สีเขียว 2030” ที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเมื่อปีที่แล้ว วางเป้าเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เมืองที่ยั่งยืนของโลก

อีก 8 ปีข้างหน้าสิงคโปร์จะมีพื้นที่สีเขียวครึ่งหนึ่งของเกาะ ชาวเมืองสามารถเดินเข้าถึงสวนสาธารณะ สวนหย่อมภายใน 10 นาที ขณะนี้กำลังระดมปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นเพื่อให้เขียวที่สุด มีอากาศสะอาดที่สุดและร่มรื่นที่สุด

 

หันมาดูกรุงเทพมหานครกันมั่ง ถ้าเทียบพื้นที่สีเขียวกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ ลอนดอน หรือลิสบอน จะพบว่า กทม.มีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด

ค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว กทม. มีอยู่ราว 22,000 ไร่ต่อจำนวนประชากร 5.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 7.08 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตร/คน ถ้ารวมประชากรแฝงน่าจะเป็น 10 ล้านคน สัดส่วนจะต่ำกว่าอีกเกือบเท่าตัว

เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 66 ตารางเมตร/คน สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร กทม.ต่างกับสิงคโปร์เกือบ 10 เท่าตัว

นี่เป็นโจทย์ “สีเขียว” ที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ควรเอามาคิดเป็นการบ้านว่าจะทำอย่างไรจึงปรับลุคให้ “กทม.” เขียวอย่างยั่งยืน ระดับเวิร์ลด์คลาส •