‘ไฮด์ปาร์ค’ สนามหลวง พื้นที่การเมืองของประชาชน / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘ไฮด์ปาร์ค’ สนามหลวง

พื้นที่การเมืองของประชาชน

 

สนามหลวงเป็นพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนอย่างเป็นทางการ เริ่มมี “ไฮด์ปาร์ค” เลียนแบบอังกฤษครั้งแรกเมื่อ 67 ปีมาแล้ว ตรงกับวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2498

พบคำอธิบายอย่างดีเยี่ยมในหนังสือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534) จะคัดโดยสรุปมาดังนี้


นายพีร์ บุนนาค “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวง เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 (ภาพจากหนังสือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)

“ไฮด์ปาร์ค” ครั้งแรก พ.ศ.2498

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2498 นั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการเมืองครั้งสำคัญ นั่นคือการเปิดให้มีกระบวนการที่เรียกว่า “การฟื้นฟูประชาธิปไตย” ขึ้นอีกครั้ง

กระบวนการนี้เกิดหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางไปเยือนต่างประเทศเป็นเวลา 70 วัน และเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้เริ่มผลักดันให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้น ในเงื่อนไขเช่นนี้จึงทำให้ขบวนการต่อต้านรัฐบาลฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองใน พ.ศ.2500 อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องถูกโค่นลงในที่สุด

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2498 นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ครั้งแรกของผู้นำไทยตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้แสดงท่าทีว่าจะมีการปรับนโยบายใหม่เพื่อที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามแบบที่ได้พบมาในยุโรปและสหรัฐ

ขั้นแรก จอมพล ป. ได้แถลงว่า “จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติต่อหนังสือพิมพ์เสียใหม่ กล่าวคือแทนที่จะหาทางจำกัดขอบเขตของหนังสือพิมพ์ลง ก็น่าที่จะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้าม คือพยายามที่จะให้อิสระเสรีแก่กิจการหนังสือพิมพ์ให้มากขึ้น” ในกระบวนการนี้ส่วนหนึ่งก็คือการเปิดประชุมเพื่อแถลงข่าวต่อหนังสือพิมพ์ หรือที่จอมพล ป. เรียกว่า “เพรสคอนเฟอเรนส์” สัปดาห์ละครั้ง จอมพล ป. ได้แสดงความคาดหวังว่า การแถลงข่าวเช่นนี้จะเป็นเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ “ทั้งรัฐบาลและหนังสือพิมพ์เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายได้ดี หนังสือพิมพ์มีสภาพเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลและประชาชนที่ดีที่สุด”

การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังกล่าวเริ่มครั้งแรกตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2498 และที่น่าสนใจก็คือการแถลงข่าวในระยะนั้น จอมพล ป. ได้นำเอาคณะรัฐมนตรีมาร่วมในการแถลงข่าวและเปิดโอกาสให้ฝ่ายหนังสือพิมพ์ซักถามรัฐมนตรีเหล่านั้นได้เต็มที่ ซึ่งได้สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดีขึ้นไม่น้อย

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2512 [ภาพจากหนังสือ กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ) โพสต์บุ๊กส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 122]
หลังจากนั้นรัฐบาลจอมพล ป. ได้ดำเนินการอีกหลายประการตามนโยบายที่นายวรการบัญชา เรียกว่า “การเปลี่ยนวิธีการบริหารให้เป็นแบบประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น” เช่น

ยอมให้มีการเปิดการชุมนุมสาธารณะที่สนามหลวง เพื่อวิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลได้อย่างเสรีตามแบบที่เรียกว่า “ไฮด์ปาร์ค” ซึ่งจอมพล ป. อ้างว่ารับแบบอย่างมาจากอังกฤษ และจอมพล ป. ก็ได้ออกจดหมายลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2498 สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ใช้นโยบายเดียวกัน คือให้จัดสถานที่สำหรับไฮด์ปาร์คในจังหวัด เช่นเดียวกับสนามหลวงในกรุงเทพฯ ด้วย

ไฮด์ปาร์คสนามหลวงครั้งแรกในสมัยนี้ เริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2498 โดย ทองอยู่ พุฒพัฒน์ และ แคล้ว นรปติ เป็นผู้นำ

ประเด็นในการเคลื่อนไหวก็คือคัดค้านแบบเรียนเบสิกของกระทรวงศึกษาธิการ

แบบเรียนเบสิกก็คือตำราเรียนภาษาไทยเบื้องต้นแบบใหม่ เขียนโดย กี่ กีรติวิทโยสาร อธิบดีกรมวิชาการ ซึ่งเป็นตำราที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ใช้ในปีการศึกษา พ.ศ.2498 และส่งไปพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ตำรานี้ถูกวิจารณ์มากว่าเป็นตำราที่แพงแต่ไร้ประโยชน์ ไม่มีความจำเป็น ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีศึกษาธิการ ได้ยืนยันการใช้ตำรานี้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ พร้อมทั้งกล่าวว่า “ถ้าเบสิกไม่ผ่านสภา ข้าพเจ้าจะลาออก” จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก และกลายเป็นประเด็นสำคัญแรกสุดสำหรับการไฮด์ปาร์ค

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2512 [ภาพจากหนังสือ กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ) โพสต์บุ๊กส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 122]

บ้านนอกเข้ากรุง

พ.ศ.2498 “ไฮด์ปาร์ค” ครั้งแรกที่สนามหลวง ตอนนั้นผมอายุ 10 ขวบ ไม่รู้จักสนามหลวง เพราะเพิ่ง “เกาะชายจีวรพระ” จากดงศรีมหาโพธิ (จ.ปราจีนบุรี) เข้ากรุงเทพฯ เป็น “เด็กวัด” อยู่วัดเทพธิดาราม (ประตูผี) แรกเข้าเรียนชั้นมัธยม 1 (เทียบปัจจุบันคือ ป.5) โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ (ใกล้สะพานมัฆวาน)

ได้ยินข่าวและพูดจาปราศรัยกันในวิทยุว่า “ไฮด์ปาร์ค” แต่ไม่รู้คืออะไร? ต้องเสียเวลาอีกหลายปีถึงพอจะรู้จักเรื่อง “ไฮด์ปาร์ค” สนามหลวง แต่ก็ “ช้าไปเสียแล้ว” เพราะกว่าจะเข้าใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองเขาก็เลิก “ไฮด์ปาร์ค” หมดแล้ว •