สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง การสำรวจเศษเสี้ยวชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ อันกระจัดกระจายทับถมของสงครามเย็น (จบ) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง

การสำรวจเศษเสี้ยวชิ้นส่วนประวัติศาสตร์

อันกระจัดกระจายทับถมของสงครามเย็น (จบ)

 

ทัศนัย เศรษฐเสรี ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวความคิดเบื้องหลังนิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง (Cold War: the mysterious) ของเขาอีกว่า

“แต่สิ่งที่น่าสนใจในช่วงเวลาระหว่างสงครามเย็นในประเทศไทย คือการทำให้วิธีการทางประวัติศาสตร์นิพนธ์มีข้อสรุป มีภาพลักษณ์ของความเป็นไทย ความเป็นสังคมที่ปกติสุข เต็มไปด้วยสันติภาพ, ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับความเป็นพุทธศาสนา ถึงแม้ความเป็นวิภาษวิธีของสมัยใหม่จะเป็นการวิพากษ์วิถีที่อยู่ในเวลา และมีลักษณะที่หมุนไปข้างหน้าตลอดเวลา, แต่ลักษณะความเป็นสมัยใหม่ของไทยกลับถูกทำให้แขวนลอยอยู่เหนือกาลเวลา ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์, อำนาจรัฐ หรือแม้แต่อำนาจนอกระบบ นอกรัฐธรรมนูญจำนวนมาก”

“สิ่งที่น่าสนใจที่เราค้นพบก็คือ การถูกแขวนลอยอยู่เหนือกาลเวลาที่ว่านี้ หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ดึงตัวเองออกจากช่วงรอยต่อของเวลาต่างๆ เหมือนเวลาเราดูหน้าปัดนาฬิกา เราจะเห็นรอยต่อของเวลา ระหว่างวินาที, ชั่วโมง, กลางวัน, กลางคืน แต่ลักษณะความเป็นอุดมคติต่อมโนทัศน์เรื่องเวลาของชนชั้นนำไทยที่ทำงานผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์นั้นกลับดึงเวลาออกจากรอยต่อ แล้วก็แขวนลอยตัวเอง”

Untitled (His Code Name is “Pluto”) (2021)
Untitled (Cold War Toys 01) (2021)

“เราจะเห็นลักษณะสำคัญที่เป็นชั้นต่างๆ ทับซ้อนกันในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของชนชั้นนำสยามที่ถูกแขวนลอย และถูกทำให้เป็นอุดมคติเหนือกาลเวลา สิ่งที่ปรากฏและปะทะเราตลอดเวลา ในผลงานชุดนี้คือความรุนแรง ไม่ใช่แค่เฉพาะความรุนแรงทางกายภาพของงาน แต่รวมถึงความรุนแรงของเนื้อหาต่างๆ ในช่วงสงครามเย็นที่ปะทะกับผู้ชม ด้วยการนำเสนอสิ่งที่เป็นสุญนิยมของประสบการณ์ (Nihilism of Experience) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและโกลาหล ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความนิ่งเงียบบางอย่างอยู่ในนั้น ที่ทำให้ผู้ชมต้องใช้เวลากับมัน”

“ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้เวลาชมงานนานๆ เท่านั้น แต่ตัวงานดึงเราเข้าไปสู่ห้วงเวลาบางอย่าง ล่อหลอกและเย้ายวนใจเราให้เราเดินทางเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งความรุนแรงของความเป็นสุญนิยม (ปรัชญาที่มองว่าคุณค่าทางศีลธรรม, คุณธรรม, ความดี, ความงาม, ความจริง หรือแม้แต่การดำรงอยู่ของมนุษย์นั้นล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาประโยชน์ของคนบางกลุ่ม อย่างกษัตริย์ ศาสนจักร หรือชนชั้นนำเท่านั้น) ที่ผสมผสานระหว่างสิ่งที่โกลาหล และสิ่งที่มีความเป็นอุดมคติแบบนิ่งเงียบ ที่ถูกทับซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เมื่อมองลึกเข้าไปในห้วงเวลาเหล่านี้เพื่อตีความหรือพยายามทำความเข้าใจกับมัน เราก็จะเดินทางผ่านชั้นของเรื่องเล่าต่างๆ บนชิ้นงานแต่ละชิ้น ซึ่งถูกทับซ้อนเป็นชั้นๆ มากน้อยต่างกันไป บนชั้นต่างๆ”

“เหล่านี้เกิดจากการทำงานโดยไม่มีร่างต้นแบบเลย แต่ผมจะใช้วิธีการโยนแนวความคิดต่างๆ ที่ศึกษามา (หรือศึกษาเพิ่มเติมระหว่างทำงาน) ลงไปบนชั้นต่างๆ ของงาน และก็ปล่อยให้มันทำงานด้วยตัวของมันเอง โดยที่ไม่กังวลเรื่องความสวยงาม หรือกังวลว่ามันจะไปทับสิ่งเดิมที่มันดีอยู่แล้ว, แต่ปล่อยให้ชั้นของงานและกรอบคิดที่เกี่ยวข้องกับธีมหลักของสงครามเย็นทำงาน”

“เพราะฉะนั้น ผลงานชุดนี้ก็จะดึงผู้ชมเข้าไปสู่สิ่งที่ถูกแขวนลอยอยู่ในกาลเวลา ผ่านลักษณะทางกายภาพที่ถูกทับซ้อนกันอยู่นับสิบชั้น”

Untitled (Cold War Toys 03) (2021)
Untitled (Librianna, Bitch of the Black Sea 04) (2021)

แต่ท้ายที่สุด อ.ทัศนัยบอกว่า ก็แล้วแต่จริตของผู้ชมแต่ละคน ว่าจะดูงานอย่างไร

บางคนใช้เวลาดูอย่างละเอียดใกล้ๆ ก็จะเห็นรายละเอียด แต่มองไม่เห็นภาพรวม

บางคนก็ดูผ่านๆ แล้วถอยออกมาดูไกลๆ ก็จะมองเห็นภาพรวม แต่ไม่เห็นรายละเอียด

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ตัวงานมีลักษณะในเชิงโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมโดยไม่ได้ตั้งใจ

ด้วยรายละเอียดทางกายภาพของงานที่มีทั้งภาพ ข้อความ ระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ทับซ้อนกัน หรือลักษณะของสี, โดยเฉพาะงานชิ้นใหญ่ที่สุดในนิทรรศการที่ผู้ชมจะไม่สามารถกำหนดขอบเขตของการชมในใจได้ เพราะว่ามีขนาดใหญ่จนไม่อยู่ในวิสัยที่จะมองเห็นได้ทั้งหมด ต้องกวาดตาดูหรือเดินดูไปเรื่อยๆ

ลักษณะเช่นนี้เอง ที่สะท้อนแรงปรารถนาของมนุษย์ในการพยายามปะติดปะต่อ หรือรวบรวมโลก, จักรวาล และความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน จากส่วนย่อยไปสู่ส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ

นอกจากความรุนแรงในเชิงโครงสร้างทางความคิดแล้ว ผลงานในนิทรรศการนี้ยังเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมือง ความรุนแรงในการใช้อำนาจของรัฐที่กระทำต่อประชาชน

Untitled (Librianna, Bitch of the Black Sea 06) (2021)

ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงความตายและการเสื่อมสลายของสิ่งที่ถูกแขวนลอยไว้เหนือกาลเวลา

อย่างประวัติศาสตร์นิพนธ์ของชนชั้นปกครองไทย และความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะรักษาสถานะคงที่ หรือ Status quo ซึ่งนับวันยิ่งเสื่อมถอยและตายลงไปเรื่อย อย่างที่เราเห็นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เหลือแต่ความรุนแรงในอดีตที่ถูกเปิดเผยให้ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

อ.ทัศนัยกล่าวอีกว่าสิ่งที่เป็นปริศนาลวงพรางของสงครามเย็นในประเทศไทยที่เหมือนและแตกต่างกับอเมริกันก็คือ ในขณะที่อเมริกันใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือสั่งสอนประชาชน ว่าสื่อลามกและยาเสพติดเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นกิจกรรมของปีศาจ และคอมมิวนิสต์ เยาวชนอเมริกันต้องหลีกหนีให้ห่างจากสิ่งเหล่านี้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างที่ปรากฏในสารคดีชวนเชื่อ Perversion for Profit (1965) เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในช่วงสงครามเย็น สังคมอเมริกันมีความเป็นอนุรักษนิยมอย่างมาก

ในขณะที่ประเทศในโลกคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซีย ถึงแม้จะอยู่ในยุคที่ผู้นำเผด็จการอย่างโจเซฟ สตาลิน พยายามควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เราก็จะเห็นว่าประชาชนรัสเซียเองก็พยายามปลดปล่อยตัวเองด้วยภาพลามกและหนังโป๊ อย่างเช่น Librianna, Bitch of the Black Sea (1979) หนังโป๊เรื่องแรกของรัสเซียที่เป็นแรงบันดาลใจให้งานชุดหนึ่งของผม

ในขณะที่ชนชั้นนำของไทยหยิบเอาแนวคิดแบบอนุรักษนิยมของอเมริกันมาใช้ แต่เปลี่ยนจากศาสนาคริสต์มาเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทแทน

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมความดีแบบพุทธเถรวาทที่ควบคุมสังคมไทยนั้นเกิดขึ้นมาในช่วงสงครามเย็น ผมจึงใช้ผ้าจีวรเป็นผืนผ้าใบชั้นแรกในการทำงาน เพื่อแสดงถึงนัยยะเหล่านี้

Untitled (Marble) (2021)

“หลังจากทำงานในนิทรรศการนี้ ผมพบว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้เราจะมีความพยายามปะปิดปะต่อเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ท้ายที่สุด ความล้มเหลวก็อาจจะเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสัจธรรมที่สุดก็เป็นได้, ผมมองว่าความพยายามในการปะติปะต่อสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันของมนุษย์เป็นสิ่งที่เพ้อเจ้อ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเรื่องเล่าหรือเส้นเรื่องใหม่ที่ไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้ผมเลยเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาปะทะกัน และรื้อโครงสร้างของมันออกทั้งหมด โดยใช้เทคนิคของการ Montage (ตัดต่อ) และ Collage (ปะติด) วัสดุและความคิดทับซ้อนกันหลายสิบชั้น เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความล้มเหลวของการปะติดปะต่อเรื่องเล่าของสงครามเย็นจากประสบการณ์ของตัวเอง” อ.ทัศนัยกล่าว

และว่า สิ่งละอันพันละเยอะที่ถูกนำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นหลักฐานทางศิลปะอันทรงพลัง ที่แสดงให้เห็นถึงผลพวงของสงครามและความขัดแย้ง ที่สร้างบาดแผลและความบอบช้ำให้มนุษยชาติอย่างฝังลึกจนยากยิ่งที่จะลบเลือนได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม

Untitled (Propaganda Through Media 02) (2021)

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2565-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท, ผู้สูงอายุ/นักศึกษา 100 บาท

สถาบันการศึกษาสามารถขอเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในวันจันทร์ (ติดต่อล่วงหน้า), เวลาทำการ 10:00-18:00 น. เปิดทุกวันศุกร์-จันทร์

นิทรรศการยังกิจกรรมสาธารณะ ทั้งการจัดฉายภาพยนตร์คัดสรร การเสวนาวิชาการ การเปิดตัวหนังสือนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปตลอดทั้งช่วงเวลาจัดแสดง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร: 0-5278-1737, อีเมล : [email protected] เว็บไซต์ : www.MAIIAM.com FB : MAIIAM Contemporary Art Museum

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม •