‘โลกปราศจากนิวเคลียร์’ เสียงเรียบร้องจาก ‘The Vow of Hiroshima’ ในเทศกาลหนัง ReadingFilmFEST/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

‘โลกปราศจากนิวเคลียร์’

เสียงเรียบร้องจาก ‘The Vow of Hiroshima’

ในเทศกาลหนัง

ReadingFilmFEST

 

The Filmmakers’ Film Festival ReadingFilmFEAST ครั้งที่ 7 แม้จะนานมาพอสมควร คือจัดระหว่าง 30 กันยายน-3 ตุลาคม 2564 แต่มีประเด็นที่น่าจะพูดถึงเนื่องจากเกี่ยวพันกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วย จึงอยากนำมาเสนอ

ReadingFilmFEST ครั้งนี้มุ่งเฉลิมฉลองนักสร้างหนังผู้หญิง โดยมีหนังของนักสร้างหญิง 7 เรื่องมาฉายโชว์ ทุกเรื่องเป็นหนังสั้นจาก Sundance ถึง SXSW (นักสร้างหัวก้าวหน้า Interactive) แสดงจากหนังประเภท animation ถึง documentary และ fictional drama ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น สุขภาพของผู้หญิง, การดูแลร่างกาย, ความสัมพันธ์ต่อกัน, ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและ breaking barriers (ทำลายอุปสรรค)

คนข้างกายผู้เขียนไปดูหนังรอบนักสร้างหญิง 7 เรื่อง เธอเล่าว่าทุกเรื่องเป็นหนังสั้น พอหนังจบก็มีการคุยกับนักสร้างหญิง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนดูที่

หน้าจอ

คนที่จะเข้าดูหนัง มีการขายบัตรตลอดงานราคา 100 เหรียญ ดูได้ทุกวัน ทุกรอบ ส่วนคนที่ซื้อบัตรเฉพาะรอบ จ่ายรอบละ 10 เหรียญ สมัยก่อนผมเคยซื้อบัตรตลอดงาน เข้าดูหลายรอบ ด้วยตัวเองเป็นคอหนังระดับหนึ่ง

แต่ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ขณะนั้น การเข้าโรงดูหนังของเทศกาลจึงต้องการความกล้าหาญ เพราะเสี่ยงภัยพอสมควร การดูหลายรอบจึงเป็นไปไม่ได้

ผมเลือกดูหนังเรื่อง The Vow of Hiroshima ฉายที่โรง IMAX 2 ผลงานของผู้กำกับฯ หญิง Susan Strickler เวลาฉาย 82 นาที

 

 

 

หนังเล่าเรื่องถึงประวัติของ Setsuko Thurlow ปัจจุบันอายุ 85 ปี หนังเดินเรื่องตั้งแต่สมัยเธอเป็นเด็กผู้หญิงที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา พอเธอโตเป็นเด็กสาวทำงานอาสาสมัคร ได้เจอกับหนุ่มอาสาสมัครจากแคนาดา มีฉากน่ารักของความรักหนุ่มสาวต่างเชื้อชาติที่อยู่ในกรอบขนบวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

สองคนแต่งงานกัน แล้วย้ายมาอยู่อเมริกา ต่อมาย้ายไปอยู่แคนาดา มีลูกชายหนึ่งคน Setsuko เริ่มอุทิศชีวิตเรียกร้องให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ (a nuclear-free world) หนังเดินเรื่องภายใต้การถ่ายทำของผู้กำกับฯ ญี่ปุ่น Mitchie Takeuchi ทายาทรุ่นสองของผู้รอดชีวิตจากปรมาณู

หนังเล่าถึง Setsuko เดินทางไปร่วมประท้วงและปราศรัยในที่ชุมนุมต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ทั้งอเมริกา, ยุโรปและแอฟริกา นานหลายสิบปีต่อเนื่อง

จนถึงภาพประทับใจ นาทีที่เธอได้รับข่าวว่า ได้รับรางวัล Nobel Prize แล้วฉายให้ดูการกล่าว speech ของ Setsuko บนเวทีรางวัล Nobel Prize 2017

โลกที่ปราศจากอาวุธปรมาณูตามความปรารถนาของ Setsuko ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเป็นไปได้

หนังจบ ผู้กำกับฯ หญิง Susan Strickler มาพูดคุยกับผู้ชมที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านอาวุธปรมาณู มีผู้ช่วยผู้กำกับฯ หญิงชาวญี่ปุ่นร่วมอยู่ด้วย

ผมพูดแสดงความคิดเห็นเป็นคนสุดท้าย บอกว่าขอออกความคิดเห็นในฐานะชาวเอเชียนคนเดียวที่อยู่ในห้องนี้ ผมมาจากกรุงเทพฯ ประเทศไทย เคยไปฮิโรชิมา 2 ครั้ง ทุกครั้งต้องเสียน้ำตาให้กับภาพแห่งการสูญเสีย ความปวดร้าวและความตายในอนุสรณ์สถานปรมาณูที่นั่น

ผมขอภาวนาให้โลกปราศจากอาวุธปรมาณูโดยสิ้นเชิง

ผู้ชมปรบมือแสดงความยินดีให้คำกล่าวของผม

ออกมาถ่ายรูปกับผู้กำกับฯ Susan Strickler และผู้ช่วยผู้กำกับฯ หญิงญี่ปุ่นที่ฉากโปสเตอร์เทศกาลหนังเรดดิ้งไว้เป็นที่ระลึก

ผมยังเข้าดูหนังเรื่อง SOY CUBA หนังที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลในเทศกาลนี้ หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังหลายแห่งทั่วโลกปี 2021

SOY CUBA เป็นเรื่องจริงของคณะนักร้องประสานเสียงบ้านนอกห่างไกลที่ร้องโชว์นักท่องเที่ยวในคิวบา รวมตัวกันในเป็นนักร้องหญิง Cuban quartet ชื่อ Vocal Vidas คณะนักร้องนี้ได้รับเลือกให้มาร้องโชว์ที่ LACMA ใน Los Angeles, อเมริกา เมื่อปี 2017

หนังเล่าถึงชีวิตความเป็นไปของนักร้องแต่ละคนในเมืองชื่อ Santiago de Cuba ที่นักร้องคณะนี้ร้องโชว์ที่ปราสาทเก่าแก่ชื่อ EL Morro Castle บอกเล่าถึงความยุ่งยากในการทำวีซ่าของคน Cuban ที่จะเข้าอเมริกา หรือแม้แต่คนอเมริกันที่มาเที่ยวคิวบา ตอนเดินทางกลับเข้าอเมริกาก็จะมีความยุ่งยากเช่นกัน

หนังเล่าถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจของคิวบาและคนคิวบัน ความตื่นเต้นของคณะนักร้องที่ได้มาสัมผัสชีวิตในลอสแองเจลิส ได้มาพบปะกับชุมชนชาวคิวบันที่ตั้งหลักในลอสแองเจลิส

การโชว์ของคณะนักร้องในลอสแองเจลิสประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แล้วท้ายที่สุดทุกคนก็กลับไปใช้ชีวิตปกติที่บ้านเกิดในคิวบา

หนังจบ มีการคุยทาง Zoom จากทีมผู้กำกับฯ จากลอสแองเจลิส Ivaylo Getov, Jeremy Ungar และผู้ช่วยผู้กำกับเทคนิคที่อยู่ในโรง มีข้อสังเกตว่าหนังได้รับรางวัลเรื่องนี้มีคนเข้าดูไม่กี่คน

ผมกล่าวแสดงความชื่นชมผู้กำกับฯ ที่นำความบันเทิงด้านเสียงเพลงมาปรากฏบนแผ่นฟิลม์ และถ่ายรูปร่วมกับผู้ช่วยผู้กำกับเทคนิคที่หน้าเวที

หนัง SOY CUBA ฉายโชว์ในเทศกาลหนังกว่า 50 เทศกาล ได้รางวัลชนะเลิศอย่างน้อย 10 เทศกาล

หลังจากการฉายหนังรอบสุดท้าย มีพิธีแจกรางวัลหนังชนะประกวดที่ชั้น 5 โรงหนัง Google Works งานนี้เป็นงานภายใน ให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง โดย City of Reading (เทศบาลเมืองเรดดิ้ง) เป็นเจ้าภาพ ชื่องาน the LatinX Community

ผมได้รับเชิญในฐานะนักเขียนอิสระของ น.ส.พ.มติชนสุดสัปดาห์จากกรุงเทพฯ ประเทศไทย ให้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองเทศกาลหนังเรดดิ้งที่จัดต่อในห้องเดียวกันหลังจากการแจกรางวัล

งานเลี้ยงรับรองมีวงดนตรี Latin twist Salsa band ร้องเพลงสแปนิส มีการเต้นโชว์ Latin หลายชุดบนเวที มีอาหารบาร์บีคิวและ local Latin cuisine เสิร์ฟฟรี แต่ไวน์ เหล้า น้ำดื่มไม่ฟรี

ฟังดนตรีชื่นมื่น

งาน ReadingFilmFEST มีการแจกรางวัล Student Films เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน student filmmakers จัดมาแล้ว 3 ปี ปีนี้มีการแข่งขันสร้างหนังสั้น 5 นาทีในระดับไฮสกูลท้องถิ่น เพื่อจุดประกายให้นักเรียนสนใจศิลปะการสร้างหนัง คนที่ได้รางวัลจะเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียน studentFilmFEST ที่คัดสรรแล้ว

นักเรียน studentFilmFEST วันนี้ คือผู้ที่จะได้รางวัล Academy Award winning directors, producers และ videographers ในวันพรุ่งนี้

สิ่งที่ผมพลาดไปจากงาน ReadingFilmFEST คราวนี้คือ การไม่ได้เข้าดูหนังเรื่อง Buddha’s Shame ของผู้กำกับฯ Morteza Atashzamzam ชาวบังกลาเทศชี่ เป็นหนังที่นักข่าวท้องถิ่นบังกลาเทศชี่ชื่อ Tamna เดินทางไปชายแดนพม่า-บังกลาเทศ รายงานเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา (Rohingya genocide)

เป็นมุมมองของมุสลิมบังกลาเทศต่อชาวพุทธพม่า

บทความนี้หวังว่า ปีหนึ่งข้างหน้าจะมีหนังไทยได้รับคัดเลือกเข้าร่วม ReadingFilmFEST ผมจะได้เสวนากับผู้กำกับหนังไทยด้วยความชื่นชม