‘ที่นี่’ ที่วัดบวรนิเวศฯ / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

‘ที่นี่’ ที่วัดบวรนิเวศฯ

 

คณะเหลืองรังษี ในวัดบวรนิเวศฯ นั้นเป็นดังพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร สมัยเมื่อเป็นสมเด็จพระศาสนโสภณ ท่านพำนักอยู่ตึกนี้

ใกล้กันนั้นมีกุฏิเล็กๆ ที่เหล่าลูกศิษย์ เด็กจากเมืองกาญจน์ บ้านเกิดของสมเด็จท่านจะมาอาศัยอยู่ ซึ่งเราเองสมัยเรียนธรรมศาสตร์ปีต้นๆ ก็ได้เคยมาพักพิงกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ที่กุฏิหลังน้อยนี้เป็นประจำ

หลังกุฏินี้เป็นเรือนพักเล็กๆ ของโยมแม่ของสมเด็จท่านชื่อโยมกิมน้อย เพื่อนเล่าว่า สมเด็จท่านจะเสด็จลงเยี่ยมโยมแม่ทุกเช้าหลังฉันภัตตาหารเช้าแล้ว

โยมแม่ท่านอยู่ที่นี่จนสิ้นชีวิต

เรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรกับโยมมารดาท่านหรือโยมแม่นี้เป็นเรื่องอยู่ในความทรงจำที่อยากเล่าซ้ำซากฝากไว้

คือความกตัญญูรู้คุณ และการตอบแทนคุณคือ กตเวทิตาที่ยิ่งใหญ่นัก

 

วัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือของเมืองกาญจน์นั้นอยู่ริมแควใหญ่ ขณะวัดไชยชุมพลชนะสงครามหรือวัดใต้ของเมืองกาญจน์อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำ ส่วนที่สองแควน้อย-ใหญ่มาสบกันนั้นอยู่ตรงกลางเมืองพอดี แควใหญ่กับแม่กลองอยู่ฝั่งเมือง ขณะแควน้อยอยู่ฝั่งตรงข้ามเมือง

สมเด็จท่านเป็นชาวชุมชนหน้าวัดเหนือ เมื่อได้บวชเรียนเพียรศึกษาจนย้ายสำนักมาอยู่วัดบวรนิเวศกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 7 ท่านคิดจะลาสิกขาซึ่งสมัยนั้นต้องมีหนังสือขอลาสิกขาไปที่กระทรวงธรรมการคือกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน

ท่านมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาสิกขาไปแล้ว โยมมารดาท่านทราบข่าวก็รีบรุดจากบ้านเมืองกาญจน์หน้าวัดเหนือมาหาท่านที่วัดบวรฯ ทันที

สมัยนั้นการเดินทางยังใช้รถเมล์มาลงแพข้ามฟากที่ท่าสามพรานนครชัยศรีจังหวัดนครปฐมกว่าจะถึงกรุงเทพฯ ทุลักทุเลมาก

เมื่อได้พบกันคำที่แม่พูดกับลูกคือ

“ถ้าคุณมหาจะสึก ดิฉันจะผูกคอตาย”

ประโยคนี้มีค่ามหาศาล

เพราะทำให้

บังเกิดพระสังฆราชญาณสังวร (สุวัฒโน)

บังเกิดบุตรผู้แทนคุณมารดาด้วยการบวชตลอดชีพ

บังเกิดพระสมณะผู้มีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่ประจักษ์

 

สมณศักดิ์ญาณสังวร นั้นหมายถึง การตระหนักในความรู้ ส่วนสมณะฉายาสุวัฒโน มาจากพระนามเดิมของท่านคือ เจริญ

ทั้งสองนามสองความหมายนี้ เป็นองค์คุณประกอบและประสานกันได้ดีที่สุด การตระหนักในความรู้เป็นบาทฐานสำคัญอันพึงต้องสมบูรณ์พร้อมทั้งธรรมที่ชื่อว่าสติและปัญญา ส่วนคำว่าเจริญนั้นคือการปฏิบัติให้งอกงามขึ้น องค์คุณนี้เองปรากฏในบทสรรเสริญพระพุทธคุณที่ว่า

วิชชาจารณะสัมปันโน

แปลว่า ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติ

 

ในธรรมข้อกตัญญูกตเวทีระหว่างโยมมารดากับท่านนั้น มีเรื่องประทับใจคือ

โยมกิมน้อย เป็นผู้มีฝีมือเย็บปักถักร้อย ระหว่างอยู่เรือนน้อยท้ายกุฏิก็เก็บเอาผ้าจีวรเก่าๆ ใช้ไม่ได้ของพระสมเด็จลูกชาย นำมาตัดเย็บเป็นอาสนะหนาเพื่อรองนั่ง ถวายสมเด็จท่าน อาสนะส่วนพระองค์ผืนนี้ท่านใช้เป็นส่วนพระองค์อยู่ในกุฏิมาตลอด แม้กระทั่งสิ้นโยมแม่ท่านก็ยังใช้อยู่

ท่านอนิลมานพระผู้รับใช้ใกล้ชิดท่านเล่าว่า

“มีวันหนึ่งอาสนะผืนนี้ของท่านหายไปต้องค้นหากระทั่งในถังขยะก็ไม่เจอ สมเด็จท่านใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ที่นี่” ท่านว่า

“รู้ไหมที่นี่ใช้อาสนะนี้ประจำ เป็นตัวแทนของโยมแม่ คิดถึงแม่กราบไหว้แม่ก็ด้วยอาสนะนี้”

ที่สุดก็พบอาสนะผืนนี้ตกอยู่ซอกฐานที่นั่งแถวนั้นเอง

เวลานี้อาสนะผืนสำคัญของแท้ยังคงอยู่เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานสำคัญของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร

เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความกตัญญูกตเวทีระหว่างแม่ลูกคู่หนึ่งในโลกอันยาวจะหาใดเปรียบประมาณ

ชาวจังหวัดกาญจนบุรีเคยจัดงานแห่ผ้าอาสนะจากประตูเมืองผ่านตลาดกลางเมืองมาวัดเหนือ

อนุโมทนาสาธุ

 

สรรพนามแทนตัวเองของท่านว่า “ที่นี่” นี้สำคัญนัก ด้วยเป็นดั่งการเตือนตัวเองสมความหมายของคำ “สังวร” ในศัพท์ “ญาณสังวร” คือนอกจาก “ตระหนักรู้” แล้วยังต้อง “สำรวมระวัง” อยู่เสมอด้วย นี้เป็น “สติ” อันยิ่ง เป็นสติใหญ่มีในสติปัฏฐานสี่ที่ให้สำรวมระวังในกาย-เวทนา-จิต-ธรรม และสัมมาสติในมรรคมีองค์แปดเองก็มีอธิบายความด้วยคำว่า

จิตเต จิตตา นุปัสสี วิหะระติ

ย่อมเป็นผู้พิจารณา เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ

คำ “ที่นี่” ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จท่านคำเดียวนี่แหละได้สะท้อนถึงกระบวนธรรมทั้งหมดคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอันมีอยู่ในองค์ท่านพร้อมมูลสมบูรณ์สุด จนมิอาจมิกล่าวถึงได้เลย

ทุกครั้งที่คิดถึงพระองค์ท่าน •